ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ นักกฎหมายเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน อูเบอร์ (Uber) เป็นรูปแบบธุรกิจการให้บริการที่เป็นทางเลือกใหม่ของประชาชนในการใช้บริการรถยนต์ขนส่งสาธารณะ เน้นความปลอดภัย สะอาด สะดวกสบาย รวดเร็วและเป็นธรรม เสมือนกำลังนั่งอยู่บนรถของตัวเอง หากเรียกใช้บริการ Uber มักจะรวดเร็วทันใจเป็นพิเศษ การสื่อความของ Uber ทำให้สังคมเห็นความแตกต่างระหว่างการใช้แท็กซี่แบบเดิมๆ ต้องทนยืนโบกรถข้างถนนซึ่งยังไม่รู้ว่าจะถูกปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารสักกี่คัน ซึ่งผู้ใช้บริการทราบดีเพราะประสบมาแล้วทุกคน การที่ Uber เปลี่ยนการโบกรถตามถนนมาเป็นการเรียก Uber ด้วย Smartphone ผ่านแอปพลิเคชัน (Application) ให้มารับได้ทุกสถานที่จึงเป็นความต่างที่น่าพึงพอใจ ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการเพียงแต่สมัครเข้าระบบการเรียกใช้บริการ หลังจากนั้นจะต้องเปิดพิกัด GPS เพื่อให้ผู้ให้บริการขับรถทราบว่าเราอยู่ที่ไหน ระบบของ Uber จะค้นหา “ผู้ให้บริการที่อยู่ใกล้ที่สุด” และจัดคิวมารับ ซึ่งผู้ใช้บริการก็จะทราบว่าผู้ให้บริการ (คนขับ Uber) คันนั้นคือใคร รถกำลังอยู่ที่ไหน และสามารถตรวจสอบดูราคาล่วงหน้าผ่าน Application ได้ว่าจากต้นทางไปยังปลายทางต้องจ่ายเงินเท่าไรโดยหักจากบัตรเครดิตไม่ต้องใช้เงินสด นับเป็นนวัตกรรมที่ทันสมัยในการให้บริการที่ก้าวหน้าของ Uber จึงไม่น่าประหลาดใจหลังจากเปิดให้บริการเพียงไม่นานนักได้รับกระแสความนิยมอย่างท่วมท้นจากคนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก จนขยายตัวไปเกือบทุกภูมิภาคของไทย ก่อนหน้านี้คนทั่วไปไม่รู้จัก Uber มากนักแต่กลุ่มผู้ใช้บริการที่เป็นลูกค้าประจำจะรู้ถึงความปลอดภัย สะอาด สะดวกสบาย รวดเร็ว และเป็นธรรม มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการใช้บริการขนส่งสาธารณะแท็กซี่แบบเดิม ที่มักจะละเลยความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ทั้งการไม่รู้จักตัวตนผู้ขับขี่ได้นำมาซึ่งปัญหาอาชญากรรมได้ตลอดเวลา ผู้ขับขี่ที่ขาดความพร้อมของสภาพร่างกายได้นำไปสู่อุบัติเหตุ และยิ่งกว่านั้นกายภาพของรถที่ไม่มั่นคงแข็งแรงพร้อมที่จะเกิดอุบัติเหตุได้เสมอ ความบกพร่องทางกายภาพของรถ ความไร้สมรรถนะของคนขับ และพฤติกรรมปฏิเสธผู้โดยสารที่เกิดขึ้นทุกวี่วัน ซึ่งภาครัฐในฐานะผู้ควบคุมกฎกติกาก็มักละเลยและมองข้ามความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ไม่มีการเข้มงวดในการใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อกลุ่มแท็กซี่ที่ละเมิดต่อพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.๒๕๒๒ ยังปล่อยให้แท็กซี่ที่มีอายุการใช้งานเกินกำหนด และกายภาพของรถที่บกพร่องวิ่งเกลื่อนถนน ขณะเดียวกันกลับมาเข้มงวดจับกุม Uber ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่ามีความปลอดภัย สะอาด สะดวกสบาย รวดเร็ว และเป็นธรรม ยิ่งหลายวันมานี้กลับได้ยินข่าวเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกทำการล่อซื้อ จับกุม Uber อย่างต่อเนื่อง เพราะเหตุเป็นการให้บริการที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.๒๕๒๒ ด้วยแล้ว สะท้อนให้เห็นว่ากลไกของรัฐพัฒนาไม่ทันต่อความเป็นไปของสังคม กฎหมายกลายเป็นสิ่งล้าหลังที่พร้อมจะผุพังไปกับกาลเวลา การกวาดล้างจับกุม Uber ในห้วงเวลานี้ ไม่เพียงแต่บ่งบอกให้สังคมรับรู้ว่ารัฐขาดการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายอย่างล้าหลังเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อบ่งชี้อย่างชัดแจ้งถึงพฤติกรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพราะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี มีผลใช้บังคับต่อประเทศไทยตั้งแต่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ นั้น ไทยจึงมีข้อผูกพันจะต้องปฏิบัติตาม ทั้งเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การร่วมมือกับสหประชาชาติ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ในกฎบัตร ดังนั้นไทยในฐานะรัฐภาคีจึงต้องส่งเสริมให้สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของพลเมืองให้เกิดผลและจะต้องเคารพสิทธินั้นอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นไปตามกฎบัตรสหประชาชาติ ที่มุ่งหมาย “เพื่อบรรลุความร่วมมือระหว่างชาติในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคน” อย่างไรก็ตามแม้ว่าเดิมที่กฎบัตรสหประชาชาติมิได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและกลไกที่จะช่วยให้บรรดาประเทศสมาชิกปกป้องสิทธิมนุษยชนได้โดยตรง แต่เมื่อได้ตราปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ขึ้นมา ถือเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อกันของมวลมนุษย์และของบรรดานานาชาติ หลักการของปฏิญญาสากลถูกนำไปยกร่างเป็นกติการะหว่างประเทศสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนคือ ๑) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ที่เกิดจากการผลักดันของกลุ่มประเทศโลกเสรีที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิทธิที่รัฐจะต้องให้การรับรองด้วยการไม่เข้ามาแทรกแซงต่อตัวพลเมือง เนื่องจากเป็นสิทธิอันติดตัวมนุษย์โดยธรรมชาติมีมาตั้งแต่เกิด รัฐมีหน้าที่เพียงรับรองสิทธิดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งไทยได้ภาคยานุวัติ (Accession) เป็นภาคีเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ และมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๐ และ ๒) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic Social and Cultural Rights – ICESCR) เกิดจากการผลักดันของกลุ่มประเทศโลกสังคมนิยม ที่มีมุมมองทางด้านสิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญกับสิทธิเชิงสังคม ซึ่งถือเป็นสิทธิต้องรับรองและคุ้มครองด้วยการเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการโดยรัฐ เนื่องจากสิทธิดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะที่รัฐจะต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความเป็นอยู่ที่ดีและได้รับบริการจากรัฐอย่างเสมอภาค โดยได้บรรจุหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการรับรองและคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของพลเมือง คือสิทธิในการทำงานหาเลี้ยงชีพโดยเสรี รัฐต้องสร้างโอกาสในการทำงานให้กับพลเมืองโดยไม่เลือกปฏิบัติ จัดการอบรมสร้างศักยภาพในการจ้างงาน ดำเนินการเพื่อให้เกิดสภาวะการจ้างงานที่เป็นธรรม มีรายได้ที่เหมาะสมกับงาน มีสภาวะความปลอดภัยในการทำงาน การสนับสนุนความก้าวหน้าในการทำงาน และการพักผ่อนที่เหมาะสมเพียงพอ ซึ่งไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อ ๕ กันยายน ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ส่งผลให้มีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเหมาะสมตามลำดับขั้น นับตั้งแต่การเคารพ คุ้มครอง ส่งเสริม และทำให้เป็นจริงอย่างเต็มที่ตามที่ทรัพยากรมีอยู่เพื่อให้มีความคืบหน้า รวมทั้งการห้ามตีความใดๆ ในกติกาที่จะทำลายสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รับรองไว้ การที่ไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทำให้มีพันธะผูกพันต้องปรับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนในรัฐให้สอดคล้องตามที่กำหนดไว้ในกติกาเหล่านั้น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าทฤษฎีกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน จากเดิมที่มุ่งเน้นสิทธิของปัจเจกในแง่สิทธิของพลเมืองและสิทธิการเมืองเป็นสำคัญ ได้มีการพัฒนาไปสู่สิทธิทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมซึ่งเป็นสิทธิที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งนี้เพราะตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อุดมการณ์ที่จะทำให้เสรีชนจะต้องปลอดจากความกลัวและความขาดแคลนทั้งปวงได้นั้น สิ่งดังกล่าวจะสามารถสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อรัฐได้สร้างให้เกิดสภาวะที่ทุกคนได้รับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองแล้วเท่านั้น แม้ว่าในการอุปโภคสิทธิเหล่านั้นรัฐอาจจำกัดสิทธิเช่นว่าได้แต่การจำกัดทำได้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการคุ้มครองประโยชน์ของส่วนรวม สำหรับปัญหาการกวาดล้างจับกุม Uber ในครั้งนี้รัฐเองก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ากระทำไปเพื่อปกป้องประโยชน์ของประชาชนได้อย่างไร และคุ้มครองประโยชน์ของรัฐซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างไรเช่นกัน แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการกวาดล้างจับกุมได้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลเมืองในสองลักษณะ กล่าวคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการประกอบอาชีพของพลเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงบริการสาธารณะของพลเมือง ทั้งนี้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในการประกอบอาชีพของพลเมือง นั้น ความในข้อ๑ ข้อ ๒ ข้อ๓ ข้อ ๔ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนั้นเป็นสิทธิในการทำงานหาเลี้ยงชีพโดยเสรีของพลเมืองโดยจะไม่ถูกลิดรอนวิถีทางยังชีพของตนไม่ว่าในกรณีใด รัฐมีหน้าที่สร้างโอกาสในการทำงานให้กับพลเมืองโดยไม่เลือกปฏิบัติ และต้องดำเนินการทางเศรษฐกิจโดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลในการทำให้สิทธิซึ่งรับรองไว้ในกติกาให้เกิดเป็นความจริงอย่างบริบูรณ์โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการทางกฎหมายให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพลวัตของสังคม นอกจากนั้นความในข้อ ๖ การที่รัฐได้รับรองสิทธิในการทำงาน รวมทั้งสิทธิของทุกคนในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพในงานที่ตนเลือกหรือรับที่จะทำอย่างเสรี ทำให้รัฐต้องมีหน้าที่ดำเนินขั้นตอนที่เหมาะสมในการปกป้องสิทธินี้ของพลเมืองเพื่อให้บรรลุผลในการทำให้สิทธินี้เป็นจริงอย่างบริบูรณ์เป็นประโยชน์ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานทางทางเศรษฐกิจของปัจเจก ด้วยเหตุนี้การเกิดขึ้นของ Uber ในการให้บริการสาธารณะในระบบขนส่งได้สร้างหลักในการประกอบอาชีพให้กับพลเมืองที่นำรถยนต์เข้าร่วมบริการจำนวนมาก ผู้ใช้บริการก็ได้รับประโยชน์จำนวนมาก แม้จะไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.๒๕๒๒ แต่โดยสภาพของการให้บริการเป็นการประกอบอาชีพของพลเมืองที่สอดคล้องเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในการกำหนดเจตจำนงของตนเองในการประกอบอาชีพ ซึ่งมีผลให้รัฐต้องทำให้สิทธินี้ของพลเมืองเป็นจริงอย่างบริบูรณ์ นั่นหมายความว่ารัฐต้องหาทางทำให้การประกอบอาชีพการให้บริการขนส่งสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน (Application) แบบ Uber ต้องไม่ถูกลิดรอน ทั้งนี้เพราะบริการดังกล่าวไม่ได้เป็นความผิดโดยสภาพ เพียงแต่กฎหมายที่ล้าหลังกำหนดให้เป็นความผิดเท่านั้น ส่วนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงบริการสาธารณะของพลเมืองในฐานะผู้ใช้บริการนั้น ความในข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ของกติกาฯ พลเมืองมีสิทธิกำหนดเจตจำนงของตนโดยเสรี นอกจากนั้นยังมีสิทธิในการจัดการโภคทรัพย์และทรัพยากรธรรมชาติของตนได้อย่างเสรี ซึ่งรัฐจะต้องส่งเสริมให้สิทธิในการกำหนดเจตจำนงเหล่านั้นมีผลจริงจัง และจะต้องเคารพสิทธินั้นตามบทบัญญัติแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งนี้รัฐต้องดำเนินการให้มีการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลในการทำให้สิทธิที่รับรองไว้ในกติกานี้กลายเป็นความจริง ประกอบกับในข้อ ๑๕ กำหนดให้รัฐต้องรับรองสิทธิของพลเมืองที่จะอุปโภคสิทธิประโยชน์แห่งความก้าวหน้าในนวัตกรรมต่างๆ โดยมีขั้นตอนที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อทำให้สิทธินี้เป็นจริงเช่นกัน ดังนั้น สิทธิของพลเมืองในการที่จะใช้บริการสาธารณะในระบบขนส่ง ที่สัมผัสได้ถึงความปลอดภัย สะอาด สะดวกสบาย รวดเร็วและเป็นธรรม จากการให้บริการของ Uber ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของพลเมืองที่รัฐต้องทำให้สิทธินี้ของพลเมืองเกิดเป็นจริงขึ้นมาอย่างบริบูรณ์เช่นกัน การออกมาเรียกร้องเรื่องความยุติธรรมของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ Uber จึงเป็นการยืนยันหลักคิดสำคัญที่ว่า “ความยุติธรรม” ย่อมอยู่เหนือกฎหมายที่ล้าหลังของรัฐ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของพลเมืองที่รัฐจะต้องเคารพสิทธินั้นและรัฐต้องสร้างกลไกให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมที่จำต้องมีอยู่ในสังคมมนุษย์ให้มีผลจริงจัง ทั้งนี้ กฎหมายที่มีคุณประโยชน์ ต้องถูกตราขึ้นและดำรงอยู่โดยสอดคล้องกลมกลืนกับพลวัตของสังคมและธรรมชาติ ขณะที่กฎหมายที่ไร้คุณประโยชน์ จะถูกตราขึ้นและดำรงอยู่ท่ามกลางขัดแย้งกับพลวัตของสังคมและธรรมชาติ และกฎหมายนั้นจะถ่วงรั้งสังคมกระทั่งเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคมตามมา กฎหมายที่ไร้ประโยชน์ต้องนำไปสู่การรื้อถอนและปรับแก้โดยนำค่านิยมทางสังคมมาเป็นแนวทางเพื่อสร้างความยืดหยุ่นอย่างเพียงพอต่อการบังคับใช้กฎหมาย โดยตระหนักเสมอว่าการใช้เหตุผลทางกฎหมายนั้น ควรมีลักษณะเป็นการสร้างสรรค์ไม่ยึดติดกับถ้อยคำของกฎหมายเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจความเป็นไปของสังคม ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความไม่ลงรอยทางความคิดของคนสามกลุ่มระหว่างผู้ให้บริการแท็กซี่ในระบบเดิม กับผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการในระบบ Uber และผู้ปฏิบัติงานการบังคับใช้กฎหมายได้กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งสาธารณะ ภาครัฐต้องปรับแก้กฎหมายที่ล้าหลังให้ทันสมัยเพื่อเป็นการคุ้มครองอาชีพของผู้ให้บริการ และให้ผู้ใช้บริการได้เข้าถึงบริการสาธารณะอย่างมีทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อความปลอดภัย สะอาด สะดวกสบาย รวดเร็วและเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคมโดยเร็วเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม........