...มิง-กะ- ลา-ปา (สวัสดี/เมื่อพบกัน) ...เจ-ซู-ติ่น-บ่า-แด่ (ขอบคุณ) ...สะ-หย่า (ครูผู้ชาย) ...สะหย่ามะ (ครูผู้หญิง) ...เสียงทักทายภาษาพม่าดังกึกก้องห้องประชุม เป็นบรรยากาศในการอบรมครูผู้สอนภาษาพม่า กว่า 135 คน ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) พิษณุโลก เขต 2 จัดขึ้นที่โรงแรมไพลิน จ.พิษณุโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้แนวในนโยบายการบริหารจัดการการศึกษาของ ดร.สุรินทร์ แก้วมณี ผู้อำนวยการ สพป.พิษณุโลก เขต 2 ที่ว่า "จุดประกายความรู้ยุค 4.0 เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้อย่างกว้างขวาง..ไร้พรมแดน" ดร.สุรินทร์ กล่าวในการอบรมตอนหนึ่งว่า เมียนมากับไทย เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกัน มีพรมแดนติดกันราว 2,000 กิโลเมตร มีสภาพพื้นที่สะดวกในการเดินทางไปมาระหว่างกัน และพบว่ามีแรงงานชาวเมียนมาจำนวนมาก เข้ามาทำงานในประเทศไทย อาทิ ภาคโรงงานอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจการค้า ภาคการเกษตร จึงมีความจำเป็นให้ครู นักเรียน รวมถึงผู้ปกครอง ควรมีความรู้ในการสื่อสารภาษาพม่าเบื้องต้นได้บ้าง ประกอบกับนโยบายอาเซียนศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) ที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพ และเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน ด้าน ผศ.วิรัช นิยมธรรม ผู้อำนวยการสถานพัฒนาการเรียนรู้ภาษาเมียนมา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.) วิทยากรในการอบรม กล่าวว่า การศึกษาภาษาพม่าเบื้องต้น จะเป็นโอกาสของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ ได้มีอาชีพ เข้าสู่ชีวิตได้ทำมาหากินในประชาคมอาเซียนได้กว้างออกไป ซึ่งภาษาพม่าถือเป็นภาษาทางเศรษฐกิจภาษาหนึ่งของคนไทย "การอบรมครูผู้สอนภาษาพม่า หลักสูตรประกอบด้วย ความสำคัญและลักษณะของภาษาพม่าเพื่อการสื่อสาร อักษร คำ ประโยค ภาษาเมียนมาเบื้องต้น ไวยากรณ์ดอกไม้ การจัดการเรียนการสอนภาษาพม่า และเทคโนโลยีการพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้ครูที่เข้ารับการอบรม นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียน ขยายผลถึงครูในโรงเรียนให้บรรลุตามเป้าหมาย กระชับ ง่ายต่อความเข้าใจ ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข" ด้านคุณครูที่เข้าอบรม "ครูอานนท์ แสนประสิทธิ์" จากโรงเรียนบ้านวังพรม กล่าวว่าการอบรมครั้งนี้ทำให้รู้ภาษาพม่าเบื้องต้น รู้หลักไวยากรณ์ การประกอบคำ การพูด การเรียงคำ และเขียนภาษาพม่าเบื้องต้นได้ ซึ่งจะนำไปขยายผลแก่ครู นักเรียน โดยการจัดกิจกรรมรายวิชากิจกรรมเสริม เช่น แนะนำภาษาพม่าในตอนเช้า การกล่าวทักทายระหว่างกัน รวมถึงขยายผลสู่ครอบครัว ผู้ปกครอง เพื่อให้สามารถสื่อสารภาษาพม่าเบื้องต้นได้ ...นับเป็นก้าวแรกในนโยบายพัฒนาภาษาเพื่อนบ้านอาเซียน (ภาษาพม่า) เพื่อการสื่อสารสู่ประชาคมอาเซียน ของ สพป.พิษณุโลก เขต 2 เพื่อสร้างศักยภาพ ส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ได้มีความกล้า และสร้างความคุ้ยเคยในการใช้ภาษาพม่าเพื่อการสื่อสาร ที่มีความรอบรู้ และสามารถแข่งขันในเวทีโลกอย่างมั่นใจ และต้องขอบคุณ..คุณปิยะ ธูปทอง นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สพป.พิษณุโลก เขต 2 ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลมาตลอด...แล้วพบกันใหม่ที่นี่ "ครูดี..โรงเรียนเด่น" ...โน้ก-แซะ-ปา-แต (สวัสดี/เมื่อจากลา)