ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] พระผู้ทรงเคียงคู่การทรงงานกับในหลวง(2) การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการพัฒนาอาชีพ นางสุพร ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพื้นที่ 2 สำนักงาน กปร. ได้เสนอรายงานต่อไปว่า “สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ทรงมุ่งเน้นการให้เกิดการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรเป็นตัวอย่างให้ราษฎรเข้าไปศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอาชีพในพื้นที่ของตนเอง ตลอดจนการเป็นแหล่งจ้างงานเพื่อเพิ่มพูนรายได้ และความรู้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่รอบๆ โครงการ โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้ทอดพระเนตรเห็นว่าราษฎรในแต่ละท้องถิ่น ต่างก็มีฝีมือในด้านศิลปหัตถกรรมที่โดดเด่น มีความสวยงามและเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบสานมาตั้งแต่สมัยบรรพกาล ซึ่งได้มีการพัฒนารูปแบบวิธีการผลิตจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ล้ำค่า ทรงเห็นว่าหากสิ่งดีงามของชนชาติไทยเหล่านี้ไม่ได้รับการส่งเสริมให้คงอยู่หรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ความงดงามที่ซ่อนอยู่ภายใต้วิถีไทยก็จะสูญหายไปและหากส่งเสริมให้ราษฎรดำเนินการอย่างจริงจังแล้วจะช่วยให้ราษฎรมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ราษฎรดีขึ้น ด้วยพระเมตตาที่ทรงมีต่อพสกนิกรผู้ยากไร้ในท้องถิ่นทุรกันดาร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 โดยดำเนินการส่งเสริมศิลปาชีพในทุกภูมิภาคของประเทศปัจจุบันมีศูนย์ศิลปาชีพ 141 แห่ง ซึ่งมีทั้งที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานและในภูมิภาคต่างๆ เมื่อมีผลงานด้านศิลปาชีพหลายชนิดผลิตออกมาอย่างสม่ำเสมอ ในระยะต่อมาจึงทรงพระกรุณาฯ เปิด “ร้านจิตรลดา” ขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2520 เพื่อจำหน่ายสินค้าของมูลนิธิศิลปาชีพเป็นการถาวร ปรากฏว่ามีผู้นิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากร้านจิตรลดามาก ร้านจิตรลดาจึงได้ขยายสาขาเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า และรองรับผลผลิตที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีจำนวน 12 สาขา โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ ได้ทรงพบว่า ยังมีราษฎรจำนวนมากที่ขาดความรู้ในการประกอบอาชีพ ขาดแหล่งอาหารเพื่อการดำรงชีวิตการคมนาคม ติดต่อกับสังคมภายนอกค่อนข้างลำบาก และประสบปัญหาความยากจนขาดแคลนสิ่งต่างๆ ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องบุกรุกทำลายป่า เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเกษตรและล่าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญในการทำลายป่าต้นลำธาร จึงได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2540 เป็นต้นมา โดยทรงตั้งพระราชประสงค์หลักไว้ 4 ประการ 1.เป็นแหล่งจ้างงานของชาวบ้านที่ยากจน 2.เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษให้แก่ชุมชนนั้นๆ 3.เป็นแหล่งให้วิชาความรู้ประสบการณ์ในการประกอบอาชีพให้แก่ผู้ที่เข้ามาทำงานโดยเป็นการเรียนรู้แบบ “Learning by doing” เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถนำไปดำเนินการได้ในที่ดินของตนเอง 4.เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร การดำเนินงานโครงการฟาร์มตัวอย่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในแต่ละพื้นที่จะมีแนวทางที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ “การให้ความรู้แก่ราษฎรโดยเน้นการมีส่วนร่วม” เปิดโอกาสให้กับราษฎรเข้ามาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโครงการด้วยการจ้างแรงงาน ราษฎรจะเรียนรู้วิธีการที่เหมาะสมและปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำการเกษตร โดยการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเมื่อนำความรู้กลับไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเอง ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน และแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน โดยมิได้ทรงคิดถึงเรื่องกำไร-ขาดทุน แต่เพียงด้านเดียว ทรงให้คำนึงผลประโยชน์ หรือกำไรทางสังคมที่จะเกิดขึ้นติดตามมาในอนาคต “ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน” พระดำรัสสั้นๆ ง่าย ๆ แต่มีความหมายที่กินใจยิ่งนัก ปัจจุบันโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริได้ขยายผลไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 57 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคกลาง 8 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 แห่ง และภาคใต้ จำนวน 26 แห่ง โครงการการพัฒนาการเกษตรเบ็ดเสร็จ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ทรงทราบว่า ราษฎรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ลำบาก จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรเบ็ดเสร็จขึ้นที่โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ อำเภอภูสิงห์ เพื่อให้ศูนย์ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยการดำเนินงานนั้นจะเป็นจะเป็นไปในลักษณะที่เบ็ดเสร็จในจุดเดียวโดยบูรณาการแผนงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้เป็นแหล่งความรู้วิทยาการด้านการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต และช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ทำให้ราษฎรสามารถดำรงชีพ อยู่ได้ในพื้นที่โดยไม่ต้องอพยพไปยังที่อื่น ปัจจุบันโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ได้จัดตั้งเป็นหนึ่งในศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร