สำนักช่างสิบหมู่เผยแบบพระโกศทองคำลงยาประดับเพชรบรรจุพระบรมอัฐิ “ในหลวง ร.9” ทูลเกล้าฯ ถวายราชินี - แทรกลวดลายสื่อถึงพระราชกรณียกิจ - มอบให้สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา ดำเนินการจัดสร้าง ความคืบหน้าการจัดสร้างพระโกศทองคำลงยาประดับเพชรบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำหรับทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์ และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระโกศทองคำลงยาประดับเพชรบรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำหรับทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศฯ ได้นำเสนอแบบลวดลายของพระโกศบรรจุพระบรมอัฐิเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยแล้ว ตนก็ได้ปรับแก้ไขแบบเล็กน้อย จากนั้นก็ได้ดำเนินการจัดสร้างหุ่นจำลองขององค์พระโกศเท่ากับขนาดของจริง ซึ่งในส่วนของการจัดสร้างนั้น สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดสร้างเองทั้งหมด โดยตนได้ส่งแบบลวดลายขององค์พระโกศดังกล่าวให้กับสถาบันฯ เพื่อทำการขึ้นหุ่นทองคำแล้ว นายสมชาย กล่าวแบบของพระโกศทองคำลงยาประดับเพชรนี้ว่า จัดสร้างเป็นทรง 8 เหลี่ยมทั้งองค์ ลักษณะโดยรวมเป็นไปตามแบบอย่างของพระโกศพระบรมอัฐิ และพระโกศพระอัฐิ ที่จัดสร้างตามโบราณราชประเพณีในอดีต เป็นรูปทรงพระมหามงกุฎ ตรงปลายเป็นยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ ห้อยเฟื่องอุบะ และปักดอกไม้ไหวบริเวณฝาพระโกศ ซึ่งการจัดสร้างครั้งนี้ จะมีความพิเศษแตกต่างจากพระโกศพระบรมอัฐิและพระโกศพระอัฐิที่เคยมีมา นั่นคือการจัดสร้างจะสื่อถึงฐานานุศักดิ์ที่สูงยิ่ง สื่อถึงพระราชกรณียกิจ และพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 9 เริ่มตั้งแต่ในส่วนของการจัดสร้างฐาน ที่มีลักษณะเป็นฐานสิงห์ แสดงถึงฐานานุศักดิ์ชั้นพระมหากษัตริย์ องค์พระโกศ บุเป็นลวดลายบัวกลีบขนุน ในกลีบบัวมีองค์เทพยดารายรอบอยู่บนฐานครุฑยุดนาค 16 ตัว บัวปากฐานปักดอกไม้เพชร 24 ดอก ส่วนบริเวณฝาเป็นมาลัยทองเฟื่องอุบะประดับเพชร แบ่งเป็นเชิงบาตรตั้งเป็นชั้นกระจัง 5 ชั้น ส่วนยอดเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับทำด้วยทองคำ และมีฉัตรคันดาล 9 ชั้น จัดทำเป็นฐานไม้อยู่ด้านหลัง ลายฉัตรเป็นลายกรวยเชิงทำด้วยทองคำฉลุประดับเพชรตรงกลางไส้ลาย "ในส่วนของการจัดสร้างที่บริเวณฐานขององค์พระโกศนั้น ได้ออกแบบรายละเอียดที่สื่อความหมายถึงรัชกาลที่ 9 เป็นพิเศษ โดยออกแบบให้เป็นช่องเล็กๆ เพื่อจัดทำเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ ที่นำมาซึ่งความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรชาวไทยทั่วทุกภูมิภาค แบ่งเป็น 7 ช่อง แต่ละช่องมีกรอบล้อมรอบเขียนเป็นลายเส้นไทยสองเส้น มีความยาว 5 ซม. กว้าง 1.50 ซม. โดยที่ช่องด้านบนตรงกลาง จะจารึกพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. พระโกศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ส่วนอีก 6 ช่อง เป็นลวดลายที่สื่อถึงโครงการพระราชดำริ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเขียนลวดลายให้มีความลงตัว ได้แก่ กังหันชัยพัฒนา ฝนหลวง โครงการแกล้งดิน ฝายชะลอน้ำ โครงการสหกรณ์โคนม และโครงการเกี่ยวกับข้าว อย่างเช่น กังหันชัยพัฒนา จะเขียนเป็นสัญลักษณ์ของรูปกังหัน โครงการฝนหลวง เขียนเป็นลายเมฆและสายฝน รูปพระขรรค์รวงข้าว สื่อสัญลักษณ์โครงการข้าว” นายสมชาย กล่าว