“กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เปิดเวทีทำความเข้าใจและเชิญชวน “ผู้ประกอบการ” เข้ารับการประเมินผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อขอรับรองภายใต้ตราสัญลักษณ์ “G-Upcycle” และ “Upcycle Carbon Footprint” ตั้งเป้าปลุกกระแสภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าจากของเหลือใช้ให้เกิดการขยายตัว ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวด ล้อม (สส.) ได้ดำเนินโครงการ “ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” (Upcycle) โดยร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาเกณฑ์การประเมินผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ภายใต้สัญลักษณ์รับรอง G–Upcycle พร้อมเปิดให้ผู้ประกอบการร่วมโครงการ เพื่อส่งเสริมการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2557 และ 2558 ปรากฏว่า มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์ประเมิน 112 ผลิตภัณฑ์ จาก 23 สถานประกอบการ ขณะที่ปี 2559 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในการพัฒนาเกณฑ์อัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Upcycle Carbon Footprint) เพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีกระบวนการผลิตที่สามารถช่วยลดหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง 34 ผลิตภัณฑ์ จาก 21 สถานประกอบการ ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายผลความสำเร็จของการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2560 และเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อขอการรับรองภายใต้สัญลักษณ์ G-Upcycle และ Upcycle Carbon Footprint และส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอัพไซเคิลให้เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลาย นำไปสู่เป้าหมายการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดการอบรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม G-Upcycle เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 ที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กรุงเทพมหานคร โดยภายในงานมีการบรรยายหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมและหลักฐานการประเมินผลิตภัณฑ์หรือวัสดุที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ G-Upcycle และ Upcycle Carbon Footprint” จาก ผศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “นำเสนอแนวคิดและแรงบันดาลใจที่ผ่านการรับรองโครงการ G-Upcycle และ Upcycle Carbon Footprint” จากผู้ประกอบการที่เคยร่วมโครงการ “ผลการจัดกิจกรรมปรากฏว่า มีผู้แทนจากองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์การมหาชน สถาบันการศึกษา เอกชน และกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจ มาเข้าร่วมกว่า 130 คน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำให้เกิดการพัฒนาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อัพไซเคลิด ให้เกิดความแพร่หลาย และเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ประเทศไทยต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าว นายยุทธนา อโนทัยสินทวี ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์รีไซเคิล แบรนด์ The Remaker เจ้าของ Garmento Board กล่าวว่า สินค้าที่ออกแบบเป็นสินค้าแฟชั่นที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ในเชิงอุตสาหกรรม เช่น กระเป๋าที่ผลิตจากยางในรถและผ้าคลุมรถบรรทุก การนำเศษผ้าหรือเสื้อผ้ามือสองมาขึ้นรูปเป็นวัสดุทดแทนไม้เพื่อทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่ง านลักษณะนี้ทำให้เกิดประโยชน์ทันที คือ ลดขยะ และ ลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามักถูกตั้งคำถามจากลูกค้าโดยเฉพาะลูกค้าในต่างประเทศว่า วัสดุของเราเป็นวัสดุเหลือใช้จริงหรือ เพราะสินค้าที่ผลิตออกมามีความใหม่มาก ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญเพราะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นของคู่ค้า การได้รับการรับรอง G-Upcycle จึงเปรียบเสมือนการรับประกันว่า สินค้าของเราเป็นสินค้าที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้จริงๆ เพราะนี่คือการรับรองจากภาครัฐ มันทำให้เราสามารถเคลียร์ตัวเองและสร้างความเชื่อมั่นได้ แม้แต่ลูกค้าในต่างประเทศก็สามารถนำไปใช้อ้างอิงกับลูกค้าของเขาที่ปลายทางได้ นายภัทรพล จันทร์คำ เจ้าของแบรนด์ “CCC OBJECTS” ผู้ผลิตที่รองแก้ว ที่รองเอนกประสงค์จากกระดาษใยสับปะรด เปิดเผยว่า สินค้าของเราเป็นสินค้าที่มีเรื่องราว โดยอย่างแรก คือ การใช้เศษวัสดุจากฟาร์มสับปะรดซึ่งแทนที่จะนำไปเผาหรือทิ้ง ก็นำมาทำกระดาษ ซึ่งเป็นกระดาษที่มีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดี ไม่เป็นขุย ไม่เปื่อยยุ่ยง่าย จึงถูกนำมาทำที่รองแก้วแล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ที่รองเอนกประสงค์ เครื่องหอมพกพา เป็นต้น โดยสินค้าแต่ละชิ้นของเราคนที่เป็นคนพันมันขึ้นมา ก็คือ กลุ่มแม่บ้านและคนพิการ สินค้าทุกชิ้นจึงไม่ได้เป็นเพียงการนำวัสดุเหลือใช้มาผลิตเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเพิ่มรายได้เสริมให้กับแม่บ้าน ผู้พิการ และยังย้อนไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดเองด้วย ดังนั้น การที่สินค้าของเราได้รับการรับรองสัญลักษณ์ G-Upcycle ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้เข้ามาเสริมอีก ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจว่า สินค้าชิ้นนี้เป็นสินค้าที่มีความเป็นอีโค่หรือสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ซึ่งเท่ากับเป็นการยกระดับและเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ขึ้นมาได้อีกระดับหนึ่งทันที ซึ่งหากต้องการรับรองว่าสินค้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหนก็สามารถขอรับรองสัญลักษณ์ Upcycle Carbon Footprint ได้