ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง พระพิมพ์“หลวงพ่อจิตรลดา” “พระพุทธนวราชบพิตร” พระกำลังแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน ด้านหนึ่งในศิลปกรรมคือประติมากรรม “มีทั้งทรงสร้างสรรค์งานประติมากรรมด้วยฝีพระหัตถ์ และทรงชี้แนะแนวทางสร้างสรรค์งานแก่ประติมากร ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์งานประติมากรรมให้มีความวิจิตรสวยงามแฝงไว้ด้วยปรัชญาความคิดที่ลึกซึ้งในรูปประติมากรรมแต่ละรูป” ตอนหนึ่งใน “พระอัจฉริยภาพในศิลปกรรมด้านประติมากรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ 9” บทความ อำพล สัมมาวุฒธิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ 6-2559 ในงานศิลปกรรมด้านประติมากรรมฝีพระหัตถ์ โดยทรงศึกษาจากหนังสือทางด้านศิลปะและทรงลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง เป็นงานประติมากรรมลอยตัว ( Round Relief) ได้แก่ พระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ฯลฯ แล้ว ศิลปกรรมด้านพระพิมพ์ส่วนพระองค์ ที่รู้จักกัน “หลวงพ่อจิตรลดา” เป็นอีกหนึ่งในการสร้างตามวิธีส่วนพระองค์ ในที่นี้ขอคัดตอนเกี่ยวกับ พระพิมพ์ส่วนพระองค์“หลวงพ่อจิตรลดา” และที่มาของการสร้างพระพิมพ์นี้พร้อมภาพจากบทความดังกล่าว (อำพล สัมมาวุฒธิ) เป็นองค์ความรู้ให้กับท่านผู้อ่าน “ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2508 ได้มีพระราชดำริในการสร้างพระพิมพ์ส่วนพระองค์โดยโปรดเกล้าฯให้แกะแบบแม่พิมพ์ด้วยหินลับมีดโกนแล้วหล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ ต่อจากนั้นทำแม่พิมพ์ด้วยขี้ผึ้งจากรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ แล้วทรงบรรจุผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตามวิธีส่วนพระองค์ด้วยพระองค์เองจนสำเร็จเป็นองค์พระพิมพ์ ในภายหลังได้เปลี่ยนจากแม่พิมพ์ขี้ผึ้งเป็นแม่พิมพ์ยาง ทำให้สามารถหล่อพระพิมพ์ได้หลายๆ ครั้ง ทรงหล่อพระพิมพ์ส่วนพระองค์ด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นี้เป็นจำนวนมาก โดยมีพระราชประสงค์เพื่อจะทรงบรรจุไว้ที่ฐานบัวหงายด้านหน้าขององค์พระพุทธนวราชบพิตรด้วยพระองค์เอง และพระราชทานแก่ข้าราชบริพารและบุคคลอื่นๆ ไว้เพื่อสักการบูชาโดยให้ผู้รับพระราชทานนำไปปิดทองที่ด้านหลังองค์พระพิมพ์ และให้พระบรมราโชวาทโดยสรุปว่า “ให้ทำดีเหมือนกับการปิดทองหลังองค์พระพิมพ์” พระพิมพ์ส่วนพระองค์นี้ต่อมาเรียกขานกันว่า หลวงพ่อจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน ผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ทรงใช้ในการหล่อประกอบด้วย 1. ผงศักดิ์สิทธิ์ส่วนพระองค์ ซึ่งได้มาจาก - ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนทูลเกล้าฯถวายในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร และได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระพุทธปฎิมากร ตลอดเทศกาลจนถึงคราวที่จะเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ ดอกไม้แห้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมไว้ - เส้นพระเจ้าที่เจ้าพนักงาน ได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ทุกครั้ง (เส้นพระเจ้า หมายถึง เส้นผมและทรงพระเครื่องใหญ่ หมายถึงตัดผม) - ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระขรรค์ชัยศรีในพระราชพิธีฉัตรมงคล - สีซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนเป็นภาพฝีพระหัตถ์ - ชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่งขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่ง 2. ผงศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร วัตถุเครื่องผสมจากต่างจังหวัดนี้ กระทรวงมหาดไทยได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นวัตถุที่ได้จากปูชนียสถานหรือพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพบูชาในแต่ละจังหวัด อันได้แก่ ดิน หรือ ตะไคร่น้ำแห้งจากปูชนียสถาน ทองคำเปลวปิดพระพุทธรูป ผงธูปหน้าที่บูชา น้ำจากบ่ออันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งได้เคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” สำหรับพระพุทธรูป พระพุทธนวราชบพิตร “ในหลวงรัชกาลที่ 9” มีพระราชดำริสร้างพระราชทานเป็นพระประจำจังหวัด โดยในวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2509 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อหล่อพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว มีฐานเป็นกลีบบัวทรงบรรจุพระพิมพ์ส่วนพระองค์ไว้ที่ฐานบัวหงายด้านหน้าของพระพุทธรูปด้วย โปรดเกล้าฯ ให้หล่อเป็นจำนวน 100 องค์ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อพระราชทานไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร และได้โปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามพระพุทธรูปนั้นว่า “พระพุทธนวราชบพิตร” โดยประดิษฐานไว้ ณ ศาลากลางจังหวัดของทุกจังหวัด โดยหนองคายเป็นจังหวัดแรกได้รับพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร (23 มี.ค. 2510) นอกจากนี้พระราชทานให้แก่หน่วยทหารที่ไปปฏิบัติราชการ ณ ประเทศเวียดนาม ในโอกาสนั้น “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ได้มีพระราชดำรัสแก่ชาวจังหวัดหนองคาย มีความสำคัญที่ขออัญเชิญมาเฉพาะบางตอน ดังนี้ ...พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ นอกจากจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของประเทศไทย และความสามัคคีกลมเกลียวกันของประชาชนชาวไทยอีกด้วย ข้าพเจ้าจึงได้บรรจุพระพิมพ์ที่ทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักรดังกล่าว และนำมามอบให้แก่ท่านด้วยตนเอง...(อ้างแล้ว) พระพุทธรูปองค์นี้เป็นสิริมงคลแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป และเป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างพระมหากษัตราธิราช กับบรรดาพสกนิกรของพระองค์ในทุกจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักร และพระพิมพ์ส่วนพระองค์ซึ่งได้บรรจุไว้ที่ฐานบัวหงายนั้น ก็มีส่วนประกอบของวัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในพระองค์ด้วย พระพุทธนวราชบพิตรจึงเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งศาสนิกชนทั่วราชอาณาจักรได้ปฏิบัติบูชาสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน พระพิมพ์“หลวงพ่อจิตรลดา” “พระพุทธนวราชบพิตร” พระกำลังแผ่นดิน