ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุบัติเหตุบนถนนในประเทศไทย มีสถิติผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน จำเป็นต้องใช้หลายมาตรการในการขับเคลื่อนและมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยจากสถิติข้อมูลพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่พบอันดับต้นๆ คือ การเมาแล้วขับ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ทำงานร่วมมือกับหลายฝ่ายและหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิเมาไม่ขับ คณะกรรมการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ฯลฯ เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางและมาตรการต่างๆ เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ลำพังมาตรการเดิมๆ ที่เคยใช้รณรงค์ลดอุบัติเหตุ ในช่วงเทศกาลวันหยุดเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจัง และหนึ่งในกลไกสำคัญคือการใช้มาตรการทางด้านประกันภัยอย่างเต็มศักยภาพเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ ประกอบกับการศึกษาข้อมูลต่างๆทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย อย่างรอบคอบแล้ว สำนักงาน คปภ. เห็นว่า การปรับแก้ข้อยกเว้นในกรมธรรมประกันภัยรถยนต์เรื่องลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกกำหนด จะเป็นผลดีต่อประชาชนมากกว่า โดยจะเป็นมาตรการที่ช่วยส่งเสริมการณรงค์เมาไม่ขับและช่วยสนับสนุนความปลอดภัยทางถนนตามแผนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน อันจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 ตนในฐานะนายทะเบียนอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 โดยออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 11/2560 เรื่องให้แก้ไขแบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน และเสริมสร้างวินัยจราจรแก่ประชาชน โดยเป็นการปรับแก้ข้อยกเว้นตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 22/2551 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2551 ข้อ 2 และ ข้อ 3 (เดิม) “การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์” สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน แก้ไขข้อความเป็น “การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้ถือว่า “เมาสุรา” ซึ่งคำสั่งนี้ให้มีผลใช้บังคับสำหรับการทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้สำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัยได้มีระยะเวลาในการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และให้บริษัทประกันภัยได้มีเวลาเตรียมความพร้อมในการปรับแก้เอกสารเกี่ยวข้องกับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความพร้อมด้านข้อมูลที่จะต้องแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับเงื่อนไขที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สำหรับสาระสำคัญของคำสั่งนายทะเบียนนี้ คือ กรณีที่ผู้ขับขี่รถเอาประกันภัยภาคสมัครใจ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประสบอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากกรมธรรม์ แต่ในส่วนของผู้ประสบภัยหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากรถคันที่เอาประกันภัยดังกล่าวยังคงได้รับความคุ้มครอง โดยบริษัทประกันภัยของรถคันที่เอาประกันภัยฝ่ายผิดจะต้องให้ความคุ้มครองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยบริษัทประกันภัยจะไปไล่เบี้ยเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทจ่ายไปจากผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อไป ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนปริมาณแอลกอฮอล์ดังกล่าว ไม่กระทบต่อความคุ้มครองของการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) “มาตรการต่างๆด้านประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการลดเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยที่ติดกล้อง CCTV ภายในรถยนต์ และในเรื่องการปรับลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายจราจรทางบก ทั้งสองมาตรการที่ออกมาในช่วงนี้ก็เพื่อเป็นกลไกที่ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน โดยจะทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการใช้รถใช้ถนนอย่างระมัดระวังและมีความปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนน อีกทั้ง ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน” ดร.สุทธิพล กล่าว ดร. สุทธิพล กล่าวอีกว่า คปภ.ได้ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยออกกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นแบบพิเศษสุดๆ เรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสงกรานต์สุขใจ พลัส” หรือ “ประกันภัย 222” ซึ่งถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเทศกาลสุขใจ หรือ ประกันภัย 100 ซึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนในวงกว้างโดยในปี 2559 มียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 104,271 ฉบับ คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 9,232,980 บาท สำหรับ “ประกันภัย 222” นั้นจะให้ความคุ้มครองผลประโยชน์การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ (มือหรือเท้าหรือสายตา) หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรือขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ให้ความคุ้มครอง 100,000 บาท กรณีการถูกฆาตกรรมลอบ ทำร้ายร่างกาย และ/หรือขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ ให้ความคุ้มครอง 50,000 บาท และผลประโยชน์ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย 5,000 บาท (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 120 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย จะไม่ได้รับการชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ บริษัทประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์) และผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงไม่เกิน 5,000 บาทต่อปี ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจ้างพยาบาลพิเศษ อุปกรณ์ค้ำยันต่างๆ (ยกเว้นไม้ค้ำยัน) รถเข็นผู้ป่วย อวัยวะเทียมภายนอกร่างกาย ค่ารักษาพยาบาลโดยแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) การฝังเข็ม ด้วยเบี้ยประกันภัยเพียง 222 บาทต่อปี ทั้งนี้ “ประกันภัย 222” เป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่มีเบี้ยประกันภัยราคาถูก เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองจากอุบัติเหตุ โดยมีอายุการคุ้มครอง 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อกรมธรรม์ สามารถซื้อได้ง่ายโดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวและเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 222 บาท ผู้ซื้อจะได้รับใบรับรองการประกันภัยพร้อมใบเสร็จรับเงิน โดยผู้ซื้อประกันภัยต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ถึง 60 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย ซื้อได้ไม่เกินคนละ 2 กรมธรรม์ หากซื้อเกิน ผู้รับประกันภัยรายหลังจะคืนเบี้ยประกันภัยให้เต็มจำนวน เปิดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2560 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2560 เพียง 45 วันเท่านั้น โดยมีบริษัทประกันวินาศภัยเข้าร่วมโครงการ 18 บริษัท ได้แก่ บมจ. กรุงเทพประกันภัย บมจ. ฟีนิกส์ประกันภัย (ประเทศไทย) บมจ. เจนเนอราลี่ประกันภัย บมจ. มิตรแท้ประกันภัย บมจ. กรุงไทยพานิชประกันภัย บมจ. เมืองไทยประกันภัย บมจ. ทิพยประกันภัย บมจ. วิริยะประกันภัย บมจ. ธนชาติประกันภัย บมจ. สยามซิตี้ประกันภัย บมจ. นำสินประกันภัย บมจ. สินมั่นคงประกันภัย บมจ. บางกอกสหประกันภัย บมจ. เอเชียประกันภัย 1950 บมจ.ประกันคุ้มภัย บมจ. อินทรประกันภัย บมจ. ประกันภัยไทยวิวัฒน์ บมจ. แอกซ่าประกันภัย และบริษัทประกันชีวิต 4 บริษัท ได้แก่ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต บมจ. ไทยสมุทรประกันชีวิต บจ. เอไอเอ และ บมจ. สหประกันชีวิต โดยผู้สนใจสามารถหาซื้อได้ที่ตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันชีวิตสำหรับการประกันภัยรายย่อย ตัวแทนประกันวินาศภัย ตัวแทนประกันวินาศภัยสำหรับการประกันภัยรายย่อย นายหน้าประกันภัย เคาน์เตอร์เซอร์วิสที่อยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา เคาน์เตอร์เทสโก้โลตัส โบรคเกอร์ ประกันภัย ในห้างเทสโก้โลตัส บจ.ไปรษณีย์ไทย และธนาคารออมสิน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th