กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ เฝ้าระวังความปลอดภัยของผักสด ผลไม้สด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยอาหารของประเทศ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้ดำเนินงานเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักสด ผลไม้สด ในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค รวมทั้งเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพความปลอดภัยอาหารของประเทศ โดยมีการดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ การเฝ้าระวังโดยใช้ชุดทดสอบ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จากการสุ่มตรวจผักผลไม้ปีละมากกว่า 3,000 ตัวอย่าง ซึ่งการตกค้างสารเคมีกำจัดแมลงในผักและผลไม้ที่เกินเกณฑ์ความปลอดภัยมีแนวโน้มลดลง ผลการสำรวจปี พ.ศ.2559 ตรวจพบเพียง ร้อยละ 0.46 ส่วนการเฝ้าระวังโดยการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่นกันโดยสถานการณ์การตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ที่ผลิตภายในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2559 มีการสุ่มตรวจผักและผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 800 ตัวอย่างต่อปี พบการตกค้างประมาณร้อยละ 10 และในปี พ.ศ.2558 ได้ศึกษาสถานการณ์การตกค้างในผักสดผลิตในประเทศที่มีข้อมูลการตกค้างสูง และคนไทยนิยมบริโภค 4 ชนิด ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง และตำลึง จำนวน 934 ตัวอย่าง เก็บจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศมีการตกค้างร้อยละ 22.3 แต่มีเพียงร้อยละ 1 ที่ตกค้างเกินค่ามาตรฐาน นอกจากนั้นได้ศึกษาสถานการณ์ การตกค้างในน้ำผักและน้ำผลไม้ ได้แก่ น้ำส้ม น้ำฝรั่ง น้ำแครอท น้ำทับทิม น้ำใบบัวบก และน้ำผักผลไม้ผสม จำนวน 100 ตัวอย่าง โดยน้ำผักและน้ำผลไม้ที่คั้นมีการตกค้างในสัดส่วน ร้อยละ 18 ส่วนน้ำผักและผลไม้ที่อยู่ในภาชนะปิดสนิท พบร้อยละ 6 แต่ปริมาณการตกค้างดังกล่าวอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภค และปี พ.ศ.2559 ได้มีการสุ่มเก็บผักและผลไม้สดที่คนไทยนิยมบริโภคสูงจากตลาดค้าส่ง จาก 5 ภาคๆละ 2 จังหวัด ผลไม้สด ได้แก่ ส้ม มะม่วง ฝรั่ง เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย แก้วมังกร ชมพู่ รวม 99 ตัวอย่าง ตรวจพบสารตกค้างร้อยละ 51 จากการตรวจทั้งผลรวมเปลือก ซึ่งมีผลไม้ ที่สารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ร้อยละ 7 ชนิดสารเคมีที่มีอัตราตรวจพบสูง คือ คาร์เบนดาซิม และไซเปอร์มีทริน ส่วนผักสด ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง แตงกวา พริกขี้หนู ผักชี โหระพา และมะเขือเปราะ จำนวน 112 ตัวอย่าง มีสัดส่วนการตกค้างร้อยละ 50 และร้อยละ 5 ของผักสดดังกล่าวมีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งตรวจพบการตกค้างวัตถุอันตรายทางการเกษตรห้ามใช้ 2 ชนิด ได้แก่ เอนโดซัลแฟน และเมธามิโดฟอสในคะน้า และถั่วฝักยาว 3 ตัวอย่าง นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์สุขุม กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาในช่วงปี พ.ศ. 2555-2557 ได้จัดทำโครงการพัฒนาตลาดกลางค้าส่งผัก/ผลไม้สด และเมกะสโตร์ (megastores) เพื่อส่งเสริมให้ตลาดค้าส่งทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 29 แห่ง แหล่งรวบรวมสินค้าของห้างค้าปลีก (modern trade) แหล่งรวบรวม ตัดแต่ง และคัดแยกผักและผลไม้ กลุ่มเกษตรกรและองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ให้มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบเบื้องต้นหรือระบบตรวจสอบสินค้าและผลผลิตของตนเอง และในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนมกราคม 2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เก็บตัวอย่างผักสด 12 ชนิด จำนวน 42 ตัวอย่าง และผลไม้สด 5 ชนิด จำนวน 18 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบสารตกค้างเพียง 3 ตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐานกำหนด รวมทั้งกำลังดำเนินการสำรวจคุณภาพและความปลอดภัยของส้ม ทั้งที่ปลูกภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนั้นได้ศึกษาประเมินความเสี่ยงการได้รับสารพิษตกค้าง จากการบริโภคอาหารของคนไทย ซึ่งเป็นการศึกษาในลักษณะองค์รวมที่มีความแม่นยำน่าเชื่อถือเนื่องจากอาศัยฐานข้อมูลจากการสำรวจปริมาณการบริโภคอาหารของประชากรไทย โดยสุ่มตัวอย่างอาหารทั้งที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช สัตว์ และน้ำ จาก 4 ภาคๆ ละ 2 จังหวัด และการเตรียมตัวอย่างอาหารเพื่อการวิเคราะห์นั้นจะเลียนแบบขั้นตอนการเตรียมอาหารในครัวเรือน เช่น ปอกเปลือก ต้ม ผัดเพื่อปรุงสุกที่สะท้อนสถานการณ์จริงของการบริโภคอาหารแต่ละชนิด ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2532- 2555 บ่งชี้ว่าคนไทยมีความปลอดภัยจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและยาสัตว์ตกค้าง รวมทั้งการปนเปื้อนของโลหะหนักจากการบริโภคอาหารประจำวัน และการดำเนินงานในปี 2560 ได้เพิ่มจำนวนชนิดอาหารที่สุ่มเก็บแต่ละจังหวัดจากเดิม 111 ชนิด เป็น 131 ชนิด เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการบริโภคที่เปลี่ยนไป ของคนไทยในปัจจุบัน “ผู้บริโภคสามารถบริโภคผักผลไม้ได้อย่างปลอดภัย โดยเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ และก่อนบริโภคล้างอย่างถูกวิธี เช่น การล้างด้วยน้ำไหลผ่าน การแกะกลีบ ใบ ตัดส่วนที่ไม่รับประทานออก หรือเคาะดินออกจากรากก่อนนำไปล้างด้วยความแรงของน้ำพอประมาณ คลี่ใบผักแล้วถูไปมาบนผิวใบของผัก ผลไม้นานประมาณ 2 นาที จะช่วยลดสารพิษลงได้ร้อยละ 25-65 การใช้ผงฟูหรือเบคกิ้งโซดาครึ่งช้อนโต๊ะผสมกับน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา 10 ลิตรแช่ทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดสารพิษได้ร้อยละ 90-95 การใช้น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดช่วยลดสารเคมีได้ร้อยละ 60-84 และช่วยลดไข่พยาธิได้อีกด้วย” นายแพทย์สุขุมกล่าว