ทั้งโรคอุจจาระร่วง-โรคพิษสุนัขบ้า-โรคผิวหนัง-โรคจากความร้อน พร้อมเตือนภัยผู้ปกครองอย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง นายชวินทร์ ศิรินาค ผอ.สำนักอนามัย กทม.เปิดเผยภายหลังประชุมคณะผู้บริหารกทม. ถึงการเตรียมความพร้อมรับมือและป้องกันโรคติดต่อและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในฤดูร้อนของกทม.ว่า ช่วงฤดูร้อนจะมีโรคต่างๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนี้ โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค โรคไข้ไทฟอยด์, โรคพิษสุนัขบ้า, โรคผิวหนัง ได้แก่ ผดร้อน กลากเกลื้อน และรูขุมขนอักเสบ มักพบบริเวณที่เหงื่อออกมากหรืออับชื้น ป้องกันโดยหลีกเลี่ยงอยู่บริเวณที่มีแสงแดดเป็นเวลานาน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความร้อน (Heat Illness) แบ่งตามความรุนแรงจากน้อยไปหามากเป็น4ประเภท ดังนี้ ภาวะลมแดด (heat syncope) ภาวะตะคริวจากความร้อน (heat cramps) ภาวะอ่อนเพลียจากความร้อน (heat exhaustion) และโรคลมแดด (heat stroke) โดยเฉพาะโรคลมแดด จะไม่มีเหงื่ออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ กระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศรีษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน และอาจหมดสติ หรือชักเกร็ง หากพบผู้ที่น่าสงสัยว่าเป็นลมแดด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล และระหว่างนั้นควรรีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่อากาศร้อนเข้าที่ร่ม เปิดพัดลมให้อากาศถ่ายเท คลายเสื้อผ้าผู้ป่วยออก ถ้าผู้ป่วยไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเย็นปริมาณมาก ทำให้ตัวผู้ป่วยเย็น โดยใช้พัดลมเป่า ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว หรือพ่นละอองน้ำบนตัวผู้ป่วย หากหมดสติและอาเจียนให้จับศีรษะหันไปด้านข้างเพื่อป้องกันสำลัก และการจมน้ำ ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ1ของเด็กไทยในช่วงปิดเทอมโดยเฉพาะเดือน เม.ย. ผู้ปกครองจึงไม่ควรปล่อยให้เล่นน้ำตามลำพัง