ศูนย์ศิลปาชีพกรุงเก่านำนักเรียนชาวกระเหรี่ยงงานปูนปั้นฝีมือระดับประเทศร่วม 100 คนแสดงพลังจงรักภักดี “ในหลวง ร.9” ปั้นครุฑยุดนาค-เทพชุมนุม-นาคทรงเครื่องเกือบ 200 ชิ้นงานประดับรอบฐานราวบันไดพระเมรุมาศ ความคืบหน้าการจัดสร้างประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลป์ประยุกต์ และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวถึงการจัดสร้างประติมากรรมครุฑและเทพชุมนุมประกอบพระเมรุมาศ ว่า ประกอบด้วย ครุฑประดับหัวเสา เทพพนม เทพชุมนุมราวบันไดนาค และครุฑยุดนาค จำนวนเกือบ 200 ชิ้นงาน แยกเป็นการจัดสร้างครุฑยุดนาคประดับรอบท้ององค์ประธาน 28 องค์ สูง 60 เซนติเมตร เทวดานั่งส้นพนมมือ นั่งขัดสมาธิ 28 องค์ และเทพชุมนุมรอบฐานท้องไม้พระเมรุมาศ ชั้นล่าง 108 องค์ โดยได้ประสานงานให้อาจารย์สุดสาคร ชายเสม เป็นผู้ออกแบบทั้งหมด นายสมชาย กล่าวอีกว่า ในจำนวนเทพชุมนุมทั้ง 108 องค์นั้น จะมีรูปแบบที่ไม่ซ้ำกัน ทั้งส่วนของใบหน้าและเครื่องทรง เช่น นักสิทธิ์ วิทยาธร กุมภัณฑ์ ยักษ์ทศกัณฐ์ คนธรรพ์ ผู้ออกแบบนำตัวละครเด่นจากเรื่องรามเกียรติ์มาออกแบบ และประยุกต์ให้งดงาม เช่นเดียวกับครุฑที่ไม่ได้ออกแบบตามอย่างโบราณ แต่จะดูมีกล้ามเนื้อเพื่อให้เข้ากับประติมากรรมประดับพระเมรุมาศตัวอื่นๆ เป็นงานศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9 ดูเสมือนจริง นอกจากนี้ อาจารย์สุดสาครยังได้ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างราวบันไดนาค 1 เศียร โดยชั้นที่ 1 มีความยาว 150 เซนติเมตร นาค 3 เศียร ชั้นที่ 2 ขนาดความยาว 250 เซนติเมตร และนาค 5 เศียร ชั้นที่ 3 และ 4 ตัวเป็นนาค หน้าเป็นมนุษย์ และนาคทรงเครื่อง ขนาดความยาว 335 เซนติเมตร และ 510 เซนติเมตร จำนวนรวม 32 ตัว “ส่วนการดำเนินงานจัดสร้างทั้งหมดมอบหมายให้โครงการก่อสร้างศิลปาชีพ เกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง และศูนย์ศิลปาชีพหนองลาด จ.สิงห์บุรี เข้ามาดำเนินการโดยอยู่ในความควบคุมอาจารย์สุดสาคร ผู้มีประสบการณ์จัดสร้างฉากโขนพระราชทาน พร้อมกันนี้ตนยังได้ติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้เริ่มปั้นหุ่นต้นแบบมีกำหนดแล้วเสร็จก่อนเดือนสิงหาคมนี้” นายสมชาย กล่าว ด้าน พล.ร.อ.สำเภา พลธร ผู้จัดการศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง กล่าวว่า การจัดสร้างประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศครั้งสำคัญนี้ จะมีนักเรียนจากศิลปาชีพ 3 แห่ง ได้แก่ โครงการก่อสร้างศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง และศูนย์ศิลปาชีพหนองลาด จ.สิงห์บุรี ร่วมดำเนินการเกือบ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่อยู่ในโครงการก่อสร้างศิลปาชีพเกาะเกิด ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นชาวกระเหรี่ยงที่อยู่ในพื้นที่อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และบ้านห้วยต้า อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เข้ามาศึกษาเรียนรู้งานด้านประติมากรรม ตลอดจนการทำหัวโขน และฉากโขนพระราชทาน โดยเด็กกลุ่มแรกที่เข้ามาดำเนินการจำนวน 10 คนจะช่วยงานด้านการออกแบบและดำเนินการขึ้นรูปในเบื้องต้นก่อน “เด็กกลุ่มนี้ถือเป็นนักเรียนในศูนย์ศิลปาชีพที่มีฝีมือ และเคยได้รับรางวัลการประกวดปูนปั้นของไทยในหลายรายการ ทั้งปูนปั้นชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ปูนปั้นเพาะช่างระดับเยาวชน ซึ่งทุกคนพร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพราะทุกคนต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้แสดงพลังความจงรักภักดีถวายแด่พ่อหลวงเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมกันนี้ทางศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง และศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ยังได้เตรียมดินสำหรับการรองรับการปั้นต้นแบบงานประติมากรรมที่ได้รับมอบหมายไว้อย่างเพียงพอแล้ว” พล.ร.อ.สำเภา กล่าว