คอลัมน์บ้านเรา งัดอภินิหารกฎหมาย ไล่บี้ ทักษิณ เก็บภาษีหุ้นชินฯ 1.6หมื่นล้าน  ท่าทีอย่างเป็นทางการจากคนในรัฐบาลไล่ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อดิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ก็คือ สั่งให้กรมสรรพากร ต้องเดินหน้าเรียกเก็บภาษีเงินได้จากทักษิณ ชินวัตร กรณีขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก ในปี 2549 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องอายุความใน วันที่ 31 มี.ค.นี้ อันเป็นการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ที่เปลี่ยนจากเดิมที่กรมสรรพากรเคยเรียกเก็บจาก พานทองแท้ และพิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของทักษิณ แต่เมื่อศาลภาษีอากรกลาง มีคำสั่งให้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากบุคคลทั้งสองเพราะพานทองแท้และพิณทองทาไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตามคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ทักษิณ แต่เจ้าของหุ้นตัวจริงคือทักษิณ กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (นามสกุลเดิม) ทำให้รัฐบาลและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่เป็นต้นเรื่องในกรณีนี้ เห็นว่า เมื่อทักษิณ คือเจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ แต่ใช้ชื่อบุตรชาย-บุตรสาวทำนิติกรรมหุ้นแอมเพิลริช  จนขายให้ เทมาเส็ก ได้กำไร15,883.9 ล้านบาท  จึงต้องเก็บภาษีจากการโอนหุ้นกับทักษิณ5,877 ล้านบาทบวกเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ในช่วง10 ปี รวมแล้วตกประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเป็นนโยบายเชิงคำสั่งจากระดับพล.อ.ประยุทธ์-วิษณุ-อดิศักดิ์ บนการแถลงอย่างเป็นทางการจาก พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ที่แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 14 มี.ค.ว่าเรื่องนี้ รัฐบาลมีข้อสรุปให้ต้องไปฟ้องร้องดำเนินคดีกันในชั้นศาล ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ไปสู้กันใน 3 ศาล “มันเป็นรายละเอียดที่มีกฎหมายเล็กซ่อนในกฎหมายใหญ่ โดยที่ประชุม ครม.นายวิษณุใช้คำว่า ทำไม่ได้ แต่ทำได้ด้วยอภินิหารของกฎหมาย” สรุปท่าทีจากรัฐบาลก็คือ ไม่ใช้มาตรา 44 ขยายเวลา แต่ใช้กฎหมายปกติตามประมวลรัษฎากรในการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องอายุความรวมถึงคดีความที่อาจจะตามมาหากรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะข้าราชการกรมสรรพากรปล่อยให้เรื่องขาดอายุความ เพราะหากมีการดำเนินการไปตาม มาตรา 61 ของประมวลรัษฎากร ที่บัญญัติว่า “บุคคลใดมีชื่อในหนังสือสำคัญใด ๆ แสดงว่า  (1) เป็นเจ้าของทรัพย์สินอันระบุไว้ในหนังสือสำคัญ และทรัพย์สินนั้นก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน หรือ    (2) เป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินโดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากผู้มีชื่อใน หนังสือสำคัญนั้นก็ได้ แต่ถ้าบุคคลนั้นต้องโอนเงินได้พึงประเมินให้แก่บุคคลอื่น บุคคลนั้นมีสิทธิหักเงินภาษีจากจำนวนเงินซึ่งต้องโอนให้แก่บุคคลอื่นตามส่วน” รวมถึงการใช้ข้อกฎหมายและคำตัดสินของศาลฎีกาฯในคดียึดทรัพย์ทักษิณและคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางในคดีที่พานทองแท้ และพิณทองทา ยื่นฟ้องเพื่อให้กรมสรรพากรเพิกถอนการเรียกเก็บภาษี พ่วงไปกับการใช้แง่มุมกฎหมายอื่นๆ มาประกอบเช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใน มาตรา 820 และ  821  โดยเฉพาะ  821  ที่บัญญัติว่า  "บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน" ที่ก็จะเป็นมุมกฎหมายว่า พานทองแท้และพิณทองทา คือตัวการและตัวแทนที่ถูกทักษิณนำไปใส่ชื่อให้เป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ป จึงน่าจะเข้าองค์ประกอบได้ ดังนั้น ก็เพียงแค่ให้ กรมสรรพากรทำหนังสือแจ้งการประเมินต่อทักษิณอย่างเดียว ไม่ต้องออกหมายเรียกอีก เพราะถือว่า ก่อนหน้านี้ที่กรมสรรพากรได้เคยออกหมายเรียกพานทองแท้ และพินทองทา  มาแล้ว ย่อมถือว่าทั้งสองคนเป็นตัวแทนของทักษิณ ย่อมมีผลผูกพันกับนายทักษิณ จึงถือเป็นการออกหมายเรียกและตรวจสอบการเสียภาษีของนายทักษิณ ตามหลักเรื่องตัวการและตัวแทนได้ รัฐบาล และ สตง.ก็มองว่า หากใช้ประเด็นข้อกฎหมายข้างต้น กระบวนการ ก็จะดำเนินต่อไป โดยที่แน่นอนว่า  ทักษิณ ก็ต้องต่อสู้และโต้แย้ง กรมสรรพากร ทำให้เกิดขั้นตอนตามลำดับคือ ทักษิณ ยื่นคำร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินภาษี กรมสรรพากร จากนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ฯ ถ้ายืนยันว่า ทักษิณมีภาระภาษีที่ต้องจ่าย   ฝ่ายทักษิณ ก็ยังมีช่องทางสู้คดีได้อีกคือ ยื่นฟ้องกรมสรรพากร และคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ฯต่อศาลภาษีอากรกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประเมินภาษี  ซึ่งขั้นตอนในชั้นศาล ก็ยังสู้กันได้อีกถึง 3 ศาลไปจนถึงศาลฎีกาฯ หากว่าทั้งสองฝ่าย ต่างสู้คดีกันไปตามปกติ มีการอุทธรณ์-ฏีกา กันทุกศาล กว่าเรื่องจะยุติ ก็กินเวลาอีกหลายปีและหลายรัฐบาล ซึ่งถึงเวลานั้น ก็ไม่รู้ใครเป็นใครแล้ว อาจมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นได้อีก เช่น ไม่แน่ หากกรมสรรพากรแพ้คดี ก็อาจไม่อุทธรณ์ คดีก็จบ ทักษิณ ก็ไม่ต้องมาลุ้นคดีว่าจะแพ้แล้วต้องจ่ายภาษีอ่วมหมื่นกว่าล้านบาท  อีกทั้งหากท้ายสุด ทักษิณ แพ้คดีจริงๆ กฎหมายเปิดช่องให้ กรมสรรพากรมีอำนาจที่จะเรียกเก็บภายใน 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุด ถึงได้บอกว่าเรื่องนี้ มันหนังยาวยิ่งกว่ามหากาพย์ มีการวิเคราะห์การตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐบาลไว้ว่า ที่รัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าเรื่องนี้ เพราะคนในรัฐบาลก็คงคิดว่า การใช้วิธีการแบบนี้ แล้วไปสู้คดีกันต่อไปในวันข้างหน้า หากมีการโต้แย้งจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะ ทักษิณและทีมทนายความประจำตัวทักษิณว่า การดำเนินการของกรมสรรพากร มีปัญหาข้อกฎหมาย ทำไม่ได้ เพราะคดีขาดอายุความไปแล้ว เนื่องจากกรมสรรพากร ไม่ได้ออกหมายเรียกยื่นโนติสถึง ทักษิณ ตั้งแต่ช่วง 5 ปีแรกหลังขายหุ้นชินคอร์ปฯ ซึ่งก็คือ ครบกำหนดไปเมื่อ 31 มี.ค. 2555 ดังนั้น จะมาดำเนินการย้อนหลังไม่ได้ ต้องถือว่าฟลาว์ลไปแล้ว จนมีการสู้คดีกันไปเรื่อยๆ เพื่อหักล้างข้อกฎหมายกับกรมสรรพากร แล้วมีการยื่นฟ้องอะไรกันขึ้นมา มันก็ยังมีช่วงเวลาให้ได้ลุ้นกันได้อยู่ เหมือนกับเป็นการขยายเวลาไปในตัว จะได้ไม่มาติดล็อก ตกม้าตายเพราะคดีขาดอายุความ แถมคนที่เกี่ยวข้องอาจโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ การดำเนินการเรียกเก็บภาษีจากทักษิณ ต้องยอมรับว่า ในแง่กฎหมาย ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ฝ่ายไหนจะถูกหรือผิด ทำได้หรือทำไม่ได้  ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ แต่กรณีดังกล่าว เมื่อผู้จะโดนเรียกเก็บภาษีระดับหมื่นกว่าล้านบาท เป็น “ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง” ซึ่งที่ผ่านมา พยายามเก็บตัวมาตลอด ไม่ออกมาชนกับพล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.  แต่คดีนี้ มันได้กลายเป็นเรื่องทางการเมืองไปแล้ว  แบบใครก็ปฏิเสธไม่ได้ จึงไม่แปลกที่ เมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาว่าคดีอาจหมดอายุความ บรรดากองเชียร์รัฐบาล คสช.ที่แน่นอนว่าก็คือฝ่ายที่ไม่เอาด้วยกับทักษิณ เป็นส่วนใหญ่ ก็มีทั้งกดดันรัฐบาลและตั้งความหวังว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยให้เกิดค่าโง่ครั้งนี้เกิดขึ้น แม้จะรู้ดีว่า ความผิดพลาดครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนรัฐบาล คสช. แต่อยู่ในช่วงปี 2554-2555 หลังศาลภาษีอากรกลาง ตัดสินให้ฝ่ายพานทองแท้กับพิณทองทา ชนะคดีไม่ต้องจ่ายภาษีให้กรมสรรพากร เมื่อช่วง 29 ธ.ค. 2553  ซึ่งช่วงนั้น คือตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2553 หลังศาลภาษีอากรกลางตัดสินจนถึง 31มี.ค. 2555 ที่กรมสรรพากร ตัดสินล่าช้าในการดำเนินการเรื่องนี้  ซึ่งแน่นอนว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วยและเข้าใจว่า เมื่อศาลฏีกาฯตัดสินแล้วว่า ทักษิณ คือเจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ไม่ใช่พานทองแท้และพิณทองทา การเก็บภาษีการขายหุ้นแอมเพิลริชฯ ก็ควรต้องไปเก็บกับทักษิณแทน และต้องเร่งดำเนินการ ตามขั้นตอนคือ ออกหมายเรียก ก่อนครบกำหนด 5 ปีในวันที่ 31 มีนาคม 2555 แต่กรมสรรพากร กลับไม่ดำเนินการและไม่มีการเร่งรัดใดๆ จากฝ่ายกระทรวงการคลังและรัฐบาลในช่วงนั้น จนเกิดปัญหาเรื่องอายุความขึ้น เมื่อรัฐบาลสั่งเดินหน้าเรื่องนี้ อย่างน้อยก็เป็นการลดแรงกดดันรัฐบาลจากกองเชียร์ฝ่ายตัวเองได้มากโขตามมาทันที อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมา กรมสรรพากรและผู้บริหารในกระทรวงการคลัง ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับด้านการจัดเก็บภาษี แสดงท่าทีมาตลอดว่า เรื่องนี้จบไปแล้ว ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่นความเห็นของ “ประภาศ คงเอียด” รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่เคยพูดถึงข้อกฎหมายกรณีการเรียกเก็บภาษีไว้ว่า  “ในการประเมินภาษีตามมาตรา 19 ของประมวลรัษฎากร ปกติแล้วหากมีการยื่นแบบชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด กรมสรรพากรจะมีอำนาจตามเงื่อนไข 2 ประการ คือ 1) อายุความ 10 ปี และ 2) ต้องออกหมายเรียกภายใน 5 ปี จึงหมายความว่าหากไม่มีการออกหมายเรียกภายใน 5 ปี แม้จะอยู่ในอายุความ 10 ปี ก็จะไม่มีอำนาจประเมินภาษี" และย้ำว่า อายุความการประเมินภาษีไม่สามารถนำแนวทางของกฎหมายแพ่งมาใช้ได้ เพราะเป็นกฎหมายเอกชน ขณะที่กฎหมายภาษีเป็นกฎหมายมหาชน ต้องยึดหลักที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง แม้ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากร จะมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ และออกไปในแนวไม่อยากทำเผือกร้อนเรื่องนี้ แต่เมื่อ ธง ของรัฐบาลสั่งให้เดินหน้า มันก็ยากที่จะฝืน และหากทุกอย่างดำเนินไป เรื่องนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งเรื่อง ที่เข้ามากวนใจ ทักษิณ อีกครั้ง แม้ผลทางคดีกว่าจะจบต้องสู้กันอีกหลายปี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ นายใหญ่ของพรรคเพื่อไทย แฮปปี้แน่นอน