"11 ภาคประชาสังคม" โชว์ไอเดียปรองดอง มองเลือกตั้งแค่กระแสนิยม ย้ำต้องสร้างการศึกษาก่อน พร้อมเชิญคสช.เป็นกรรมการยุติความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ เปิดเวที "เจรจา" เมื่อวันที่ 22 มี.ค. เวลา 11.30 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง แถลงข่าวภายหลังที่ตัวแทนภาคประชาสังคม 11 กลุ่ม ประกอบไปด้วย สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สถาบันอนาคตการศึกษาเพื่อการพัฒนา ภาคีเครื่อข่ายเพื่อการต่อการทุจริตคอรัปชั่น มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพันธุ์พืชแห่งชาติ มูลนิธิสืบ นาคเสถียร เครือข่ายยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา สภาทนายความในพระบรมราชาชูปถัมภ์ กรมคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และมูลนิธิกระจกเงา เข้ามาร่วมเสนอแนวทางปรองดอง ระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยพล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ทุกกลุ่มมองว่าความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องปกติของทุกสังคม แต่บนความขัดแย้งต้องไม่มีความรุนแรง ซึ่งต้องพยายามไม่ให้มีความรุนแรงในโครงสร้างสังคม โดยเสนอว่าต้องมุ่งเน้นไปที่คนจะต้องเคารพ และไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น พร้อมทั้งต้องรู้หน้าที่ตนเอง ดังนั้นต้องให้การศึกษา ให้ความรู้ ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กันไป เพื่อสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาให้มีจิตสำนึก และเคารพสิทธิ์ผู้อื่น ขณะที่ฝ่ายรัฐต้องเข้าไปจัดการสร้างความเท่าเที่ยมกันในสังคม และให้ความคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ ทำนองเดียวกันความรุนแรงที่จิตใจนั้นเกิดจากการยั่วยุขยายวงกว้างผ่านสื่อให้เกิดความเกลียดชัง นำมาสู่อารมณ์เหนือเหตุผล เพราะฉะนั้นการแก้ไจปัญหานี้ต้องใช้เวลา ไม่ควรโทษกันไปมาว่าใครผิดใครถูก และต้องมีจิตสำนึกว่าต้องขอโทษ พร้อมให้อภัยต่อกัน เพื่อนำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้ง ภาคประชาสังคมมองว่าเป็นเพียงกระแสนิยมที่เสนอผ่านสื่อ ซึ่งประชาชนไม่สามารถแยกแยะด้วยตนเองได้ว่าใครดี หรือไม่ดี สะท้อนให้ว่าการศึกษามีความสำคัญ และจำเป็นปลูกฝังให้เยาวชนมีโอกาสรับผิดชอบ และว่าแผนในอนาคตต่อไป โดยหลักสูตรการศึกษาควรพัฒนาให้ทันสมัย พร้อมยึดภูมิปัญหาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความแตกต่างของการศึกษาในแต่ละภาค ซึ่งรัฐต้องเข้าไปบริหารจัดการให้สภาบันการศึกษามีความเท่าเทียมกันด้วย "ส่วนปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และความยากจนนั้น ทั้งรัฐ และทุกภาคส่วนเป็นต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นธรรม พร้อมเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง ด้วยการเจรจา ไกล่เกลื่ย พร้อมเปิดเวทีพูดคุยกัน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีโอกาสพูดคุยบ่อยๆ รวมทั้งให้คสช.เข้าไปบริหารจัดการความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ และโครงสร้างที่จะต้องใช้เวลา เพื่อให้การบริหารจัดการความขัดแย้ง นำไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม" โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว เมื่อถามว่า องค์กรภาคประชาสังคมทั้ง11 องค์กร มองความขัดแย้งมากจาก ปัจจัยด้านการเมือง หรือไม่ พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มภาคประขาสังคม ตนยังไม่อยากสรุปว่าอะไรเป็นอะไร ขอเวลาให้คณะทำงาน รวบรวมข้อมูลให้ตกผลึกก่อน แล้วค่อยมาสรุปว่าอะไรเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้ง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวสำหรับการเสนอความคิดเห็นเสริมสร้างความปรองดอง ของภาคประชาสังคมในวันที่ 24 มีนาคม จะเชิญสมาคมอนุรักษ์ดิน และน้ำแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน และสมาคมพัฒนาประชากร และชุมชน เข้าร่วมพูดคุย