คุยเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนกันมานานหลายสิบปี ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเก่าๆเรื่องน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้น้ำท่วมโลกพูดกันมาอย่างนี้นานหลายปีแล้ว มีข้อมูลออกมาเป็นครั้งเป็นคราวทำนองว่าหากน้ำแข็งละลายจนไม่เหลือในบริเวณขั้วโลกทั้งเหนือและใต้ ประเทศมัลดีฟซึ่งเป็นเกาะเล็กๆพื้นที่ต่ำและอีกหลายหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียจมอยู่ใต้น้ำทะเลอย่างแน่นอน หลายพื้นที่ในโลกเกิดปัญหาน้ำทะเลท่วมหนัก บางประเทศพื้นที่ชายทะเลหายไปเป็นพันตารางกิโลเมตร สองปีที่แล้วผมมีโอกาสเห็นข้อมูลของฝ่ายวิจัยจากทีมงานของหลายมหาวิทยาลัย เห็นแล้วก็ตกใจเพราะข้อมูลสรุปออกมาว่าภาวะโลกร้อนอาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นหลายเมตรทำให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ในโลกอย่างที่บอก ในส่วนของประเทศไทยท่วมลึกเข้าไปในแผ่นดินภายในพื้นที่ราบลุ่มไม่ใช่แค่กรุงเทพฯเท่านั้นแต่อาจท่วมทั่วภาคกลางเลยด้วยซ้ำ นักวิชาการและวิศวกรหลายคนแนะนำว่าจะต้องเร่งทำเขื่อนกั้นน้ำทะเลเหมือนในประเทศเนเธอร์แลนด์ มาถึงวันนี้ข่าวคราววันนี้หายเงียบไปหมด ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดปัญหาน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกและอีกหลายพื้นที่ละลายตัวลงยังคงเป็นปัญหาที่เถียงกันไม่จบ สหรัฐอเมริกาในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ไม่เชื่อซึ่งเป็นเหตุผลทำให้สหรัฐอเมริกาไม่ยอมลงนามในอนุสัญญาตราสารเกียวโต ผู้แทนสหรัฐอเมริกาพูดในประเด็นโลกร้อนน้ำแข็งละลายว่าข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ผ่านยุคบุชมาถึงยุคประธานาธิบดีโอบาม่า สหรัฐอเมริกานอกจากจะเชื่อเรื่องภาวะโรคร้อนแล้วยังกระตือรือร้นเป็นตัวตั้งตัวตีในการแก้ปัญหา แต่พอเข้ายุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ เรื่องโลกร้อนถูกกล่าวหาว่าเป็นวาทกรรมของจีน กลายเป็นอย่างนั้น มาถึงวันนี้มีข้อมูลจากฝ่ายวิจัยของบางมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาสรุปออกมาว่าน้ำแข็งขั้วโลกละลายตัวลงมากกว่าครึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติไม่ได้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน สรุปคือเรื่องโลกร้อนยังเป็นแค่ทฤษฎีสำหรับนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายกลุ่ม โดยยังไม่ใช่ข้อเท็จจริง ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเริ่มกังวลว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างนี้อาจทำให้การแก้ปัญหาโลกร้อนมาถึงช้าเกินไปก็ได้ นั่นคือแก้ไม่ทันการณ์ภาวะโลกร้อนถึงจุดที่ไม่สามารถคืนกลับได้แล้ว จะเชื่อหรือไม่เชื่อคงไม่เป็นปัญหาเพราะข้อเท็จจริงคือโลกประสบกับภาวะเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ว่ากันว่าสึนามิใหญ่โตที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ส่งผลทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูจิมะถึงขนาดแตกสร้างปัญหารังสีรั่วที่ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้มาจนทุกวันนี้น่าจะเป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หิมะตกหนักผิดฤดูในหลายพื้นที่น่าจะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ได้รับผลมาจากภาวะโลกร้อนโดยความร้อนถ่ายเทออกจากโลกไม่ได้เนื่องจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกบนชั้นบรรยากาศของโลก ถกกันถึงปัญหาโลกร้อนเฉพาะเรื่องราวทางกายภาพเท่านั้น ยังไม่เคยก้าวล่วงมาถึงเรื่องราวทางชีวภาพเลย มาถึงวันนี้เริ่มมีปรากฏการณ์ทางด้านชีวภาพปรากฏให้เห็น นั่นคือการลดลงของสารอาหารหลายกลุ่มในพืชผักที่ใช้บริโภค เป็นไปได้ไหมว่าการลดลงของสารอาหารไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุหรือโปรตีนในพืชผักเกิดจากเมแทบอลิซึมในพืชผักเองที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากภาวะโลกร้อน แร่ธาตุตัวแรกที่นักโภชนาการเห็นปรากฏการณ์ลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือซีลีเนียม สารตัวนี้มีความจำเป็นต่อสุขภาพของมนุษย์โดยช่วยในการสร้างภูมิต้านทานในร่างกาย โดยพบว่าแร่ธาตุตัวนี้เกี่ยวข้องในกลไกการสร้างภูมิคุ้มกันรวมทั้งกลไกด้านประสาท เมื่อปริมาณซีลีเนียมลดลงในอาหารโดยผู้คนไม่ได้สังเกต ปริมาณซีลีเนียมในเลือดของประชากรก็ค่อยๆลดลง ปรากฏการณ์ที่ว่านี้พบได้ในเจ็ดพื้นที่ทั่วโลก ซีลีเนียมที่เคยพบมากในข้าวเจ้า ข้าวสาลี และในข้างพันธุ์อื่นๆมีปริมาณน้อยลงตามลำดับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหานี้เกิดจากภาวะโลกร้อนหรือไม่ นักวิจัยกำลังจับตาชนิดไม่กระพริบ งานวิจัยของทีมนักวิจัยในประเทศจีนพบว่าหลายพื้นที่ในประเทศจีน พื้นดินมีปัญหาซีลีเนียมลดลง ส่งผลให้กระดูกร่างกายของเด็กๆไม่เจริญเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น มีความเป็นไปได้ว่าซีลีเนียมในดินลดปริมาณลง เป็นผลให้พืชสะสมซีลีเนียมได้น้อยลง บรรดาธัญพืชทั้งหลายที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่มีปัญหาซีลีเนียมลดลงจึงทำให้เด็กๆในพื้นที่ที่ว่านี้มีปัญหาขาดซีลีเนียม มีการตั้งสมมติฐานว่าปัญหานี้เป็นผลกระทบมาจากภาวะโลกร้อน ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นอกเหนือจากซีลีเนียมแล้ว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชื่อซามวล ไมเออร์ (Samuel Myers) และปีเตอร์ ฮายเบอร์ส (Peter Huybers) เขียนเตือนในรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร the Annual Review of Public Health เดือนมกราคม 2017 ว่าสารอาหารที่ลดลงในธัญพืชหลักไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือข้าวสาลีรวมไปถึงข้าวอื่นๆหรือแม้กระทั่งมันฝรั่งจะส่งผลให้ประชากรในหลายพื้นที่แสดงอาหารทุพโภชนาการของสารอาหารชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในบางพื้นที่ ปัญหาบางด้านอาจส่งผลถึงระดับโปรตีนในอาหารลดลงได้ด้วยซ้ำ ไม่ต้องไปสืบหาว่าสาเหตุมาจากอะไรให้เหนื่อย แค่ไปดูปริมาณแร่ธาตุที่ลดลงในดินก็คงตอบได้ว่าปัญหาโลกร้อนได้กระทบสู่ชีวภาพของพืชผักแล้ว งานวิจัยจากทีมวิจัยหลายกลุ่มพบว่าเฉพาะกรณีของซีลีเนียม ทั่วโลกเกิดปัญหาซีลีเนียมลดปริมาณลงในดินอย่างเห็นได้ชัด การลดลงของซีลีเนียมและแร่ธาตุบางตัวทั่วโลก ซึ่งหลายตัวเป็นผลให้พืชสร้างโปรตีนได้น้อยลงกำลังจะกลายเป็นปัญหาทุพโภชนาการด้านโปรตีนและพลังงาน เรื่องนี้เคยเป็นปัญหาเรื้อรังในอดีตเกิดในหลายพื้นที่ในโลก แต่ครั้งนั้นเป็นเรื่องของการขาดอาหารจากความยากจน กินไม่เพียงพอ หรือไม่มีเงินที่จะซื้ออาหารกิน ส่วนในอนาคตปัญหาอาจจะหนักกว่านั้นนั่นคือถึงกินปริมาณเพียงพอก็ยังขาดสารอาหารเนื่องจากแร่ธาตุและโปรตีนในอาหารลดปริมาณลง สร้างปัญหาทุพโภชนาการแนวใหม่ เป็นเรื่องที่นักวิชาการทางด้านโภชนาการและการแพทย์จำเป็นต้องหาทางแก้ไขกันตั้งแต่วันนี้ โดยต้องไม่ลืมว่าปัญหาใหม่นี้อาจจะเกิดจากภาวะโลกร้อน จะเชื่อหรือไม่เชือก็ตามที คอลัมน์ สนุกกับเทคโนโลยี:ดร.วินัย ดะห์ลัน