ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] ต้นไม้ทรงปลูก (4) “ ต้นสน" “เสียงพิลึกครึกครึ้มกระหึ่มคลื่น ร่มระรื่นรุกขาพฤกษาสน เหล่าต้นโปลงโกงกางกิ่งพิกล สล้างต้นเต็งตั้งสะพรั่งตา ถึงปากช่องคลองกรุ่นเห็นคลองกว้าง มีโรงร้างเรียงรายชายพฤกษา เป็นชุมรุมหน้าน้ำเขาทำปลา ไม่รอรารีบเดินดำเนินพลางฯ” นิราศเมืองแกลง...สุนทรภู่ .................................................................................................. การเสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นต่างๆของพระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะทอดพระเนตรวิถีชีวิตความเป็นอยู่ มีสุข มีทุกข์มีความเดือดร้อนต่างๆประการใดบ้างจากการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพที่ราษฎรประสบแตกต่างกันไปตามภูมิสังคม ทั้งนี้เพื่อทรงหาแนวทางที่จะบำบัดความทุกข์ยากของราษฎรให้บรรเทาเบาบางหรือให้หมดสิ้นไป เมื่อทรงศึกษาคิดค้นทดลองแนวทางการประกอบอาชีพที่เหมาะสมแล้วก็พระราชทานเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อให้เป็นแม่แบบในการนำเอาผลสัมฤทธิ์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปปรับประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพในการดำเนินชีวิต เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2517 เสด็จพระราชดำเนินไปที่สถานีเพาะชำกล้าไม้(อ่องแล่ง) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เดิมขึ้นกับกรมป่าไม้ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชตากสินมหาราชจังหวัดตาก ในครั้งนั้นได้ทรงปลูกต้นสน(สองใบ)ไว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พื้นที่ด้วย ......................................................................... ปีถัดมา คือในปี 2518 วันที่ 20 มกราคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่อุทยานแห่งชาติแม่โถ โครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำ หน่วย 6 แม่โถ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งสองพระองค์ทรงปลูกต้นสนไว้เคียงคู่กันเป็นสนฉัตร มีความเชื่อว่าต้นสนฉัตรเป็นไม้มงคลสัญลักษณ์ “รักนิรันดร์” ถ้าปลูกไว้ในบ้านจะเป็นเครื่องหมายของความดีงามทำให้เป็นสง่าราศี ว่ากันว่าควรปลูกไว้ทางทิศเหนือของบ้าน แต่สำคัญเหนืออื่นใดเจ้าของบ้านหรือผู้ปลูกต้องเป็นคนดีด้วย "อุทยานแห่งชาติแม่โถ” ตั้งอยู่ในบริเวณหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 6 (ดอยแม่โถ) เดิม หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 990 ตารางกิโลเมตร หรือ 618,750 ไร่ ถือว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญหนึ่งในทางภาคเหนือ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติขุนเขาอันบริสุทธิ์ และที่อุทยานแห่งชาติแม่โถ ยังเป็นที่ตั้งของ "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ" อันเป็นหนึ่งในโครงการจากพระราชดำริอีกด้วย ...................................................................................................... “ต้นมะม่วง” “แล้วเกณฑ์ไพร่ไปลำเนาเขาสิงคุตร์ ที่สูงสุดกว้างใหญ่ไพรพฤกษา มีโตรกตรวยห้วยละหานธารธารา เงื้อมศิลาเลื่อมลายพรอยพรายแพรว พฤกษาสูงยูงยางขึ้นข้างเขา ชะลูดเสลาแลลิ่วเป็นทิวแถว มะม่วงโมกโศกสุกรมต้นนมแมว พิกุลแก้วกาหลงประยงพะยอมฯ” พระอภัยมณี...สุนทรภู่ .......................................................................... พูดถึงต้นมะม่วงไม้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9ทรงปลูกไว้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ นักเดินทางโดยเฉพาะที่ตั้งใจพักผ่อนด้วยการท่องเที่ยวป่าเขาลำเนาไพร ถ้าเมื่อได้ไปเยือนอุทยานแห่งชาติแม่โถแล้วก็น่าจะต้องแวะเยือนเที่ยวชม "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง วิจัย ศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร การประมง เกษตรกรรม การปศุสัตว์โคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรมเป็นต้น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ฯ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติได้จริงในการประกอบอาชีพดำเนินชีวิตได้ผลจริง นำไปสู่ความเป็นอยู่อย่างพอมีพอกินมีความสุขอย่างยั่งยืน ภายในศูนย์ฯ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับธรรมชาติอันพิสุทธิ์พร้อมๆไปกับองค์ความรู้มากมายที่จะใช้นำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันตลอดจนการประกอบอาชีพในโครงการที่สำคัญต้องไม่พลาดไปชมต้นไม้ที่ทรงปลูกไว้ คือมะม่วงพันธุ์"พิมเสนมัน" ทรงปลูกไว้บริเวณหน้าเรือนเพาะชำกล้าไม้โตเร็ว เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 “มะม่วง” เป็นชื่อกลางๆเพราะมีหลากหลายพันธุ์ ทั้งรสเปรี้ยว รสหวาน รสมัน แต่ส่วนใหญ่เมื่อสุกจะรสหวาน หลายชนิดนิยมรับประทานควบกับข้าวเหนียวมูนเช่นอกร่อง น้ำดอกไม้ เรียกว่า “ข้าวเหนียวมะม่วง” มะม่วง เป็นไม้ยืนต้นสูง 5-20 เมตร ต้นมีเปลือกสีน้ำตาลปนดำ ใบเดี่ยวออกเรียงเป็นคู่สีเขียวเข้ม ดอกเป็นช่อช่อหนึ่งหลายสิบดอก สีนวลถึงเหลืองอ่อน เมื่อดอกโรยจึงติดผล ขยายพันธุ์ได้หลายวิธีมะม่วงเป็นไม้เศรษฐกิจผลรับทานในประเทศและส่งออกทั้งสุกและดิบ หลายชนิดผลมีสรรพคุณทางยาทั้งผลดิบผลสุก เปลือกและใบก็เป็นยา มะม่วงแพร่หลายได้ทุกจังหวัดของไทย ทั้งเป็นไม้ในพุทธประวัติ เชื่อกันว่าเป็นไม้มงคล "ต้นมะม่วง" ในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก พูดถึงต้นมะม่วงทรงปลูกก็เห็นจะต้องพูดถึงมะม่วงในบทพระราชนิพนธ์มหาชนกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชนิพนธ์เนื้อหาที่แฝง คำสอนของพ่อผ่านงานวรรณกรรมไว้ที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จผลคือความสุขอย่างยั่งยืนอันได้แก่ “ความเพียร” "ต้นมะม่วง" ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชนิพนธ์ เรื่อง "พระมหาชนก" เนื้อหาในเรื่องนั้นก็แฝงแนวคำสอนไว้ได้กล่าวถึงตอนที่ พระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ในกรุงมิถิลา ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วงอยู่สองต้น ต้นหนึ่งมีผลดก อีกต้นหนึ่งไม่มีผล พระองค์ก็ได้ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชา แล้วเสด็จกลับออกจากอุทยาน ครั้นเมื่อเสด็จกลับออกสวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีผลรสดีต้นนั้น ถูกเหล่าข้าราชบริพารดึงทึ้งเก็บผลมะม่วงกินจนโค่นลง ส่วนต้นที่ไม่มีลูกก็ยังคงยืนตระหง่านอยู่เช่นเดิม ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ แสดงให้เห็นว่า "สิ่งใดดีมีคุณภาพ จะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่ง และจะเป็นอันตรายในท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ได้ทรงหยิบยกเอามะม่วงมาสอดแทรกแนวพระราชดำริเป็นคำสอน เพื่อให้คนไทยทุกคนได้นำไปใช้เป็นคติสอนใจในการดำเนินชีวิตเรื่องราวของต้นมะม่วงไม่ได้มีแต่ในแง่ของงานวรรณกรรมที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เท่านั้น ยังมีเรื่องราวของต้นมะม่วงที่ว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญและสนพระทัย ฟังดูอาจจะเหมือนเป็นเรื่องราวเล็กๆน้อยๆ อย่างเรื่องของ "ต้นมะม่วง" ที่ปลูกอยู่ที่ "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร" (วัดโพธิ์) ต้นมะม่วงนี้กล่าวกันว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงพระเยาว์ พระองค์เสด็จฯมาที่วัดโพธิ์แล้วทอดพระเนตรเห็นว่ามีต้นมะม่วงต้นหนึ่งปลูกอยู่ ครั้นเมื่อพระองค์เจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ได้เสด็จฯกลับมาที่วัดโพธิ์อีกครั้ง แล้วทอดพระเนตรไม่เห็นต้นมะม่วงต้นดังกล่าว พระองค์ตรัสถามถึงต้นมะม่วงต้นนั้น ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าทางวัดได้ตัดโค่นทิ้งไปแล้ว หลังจากที่พระองค์เสด็จฯกลับแล้ว ทางวัดจึงได้ทำการปลูกต้นมะม่วงต้นใหม่ขึ้นมา ณ บริเวณเดิมทุกวันนี้ต้นมะม่วงต้นที่ปลูกใหม่ก็ได้เจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาและความร่มรื่นอยู่ภายในวัดโพธิ์ ตรงบริเวณหน้าวิหารพระพุทธไสยาสน์ และกลายเป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็นเป็นที่นั่งพักผ่อนแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวภายในวัดโพธิ์ได้เป็นอย่างดี ที่น่าจะเป็นแง่คิดของเราพสกนิกรไทยว่าทำไมเมื่อพระองค์เสด็จฯที่ใดมักทรงปลูกต้นไม้ไว้ตลอดไม่ว่าจะเป็นต้นอะไรก็ตาม แล้วก็น่าคิดต่อด้วยว่าต้นไม้ที่ทรงปลูกต้องเหมาะกับสภาพของภูมิประเทศและท้องถิ่นด้วยอย่างแน่นอน