เมืองสิงห์บุรี ถือเป็นเมืองสำคัญและยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยเมืองหนึ่ง มีอดีตยาวนาน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบว่า มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณมาเป็นเวลานานหลายยุคหลายสมัย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเมืองสิงห์ฯ ถวาย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ไว้ในสาสน์สมเด็จ ความว่า ... "...เมืองสิงห์บุรีเป็นเมืองใหญ่และเก่า มีป้อมปราการ วัง วัดมหาธาตุ และของสำคัญ คือ พระนอนจักรสีห์ ใหญ่ยาวกว่าพระนอนองค์อื่นๆ ในเมืองไทย ทำเป็นแบบพระนอนอินเดีย เหมือนเช่นที่ถ้ำคูหาภิมุข วัดคูหาภิมุข อำเภอเมืองยะลา คือ พระกรขวาศอกยื่นไปทางด้านหน้า ไม่ทำงอพระกรตั้งขึ้นรับพระเศียรแบบพระนอนไทย เมืองสิงห์เรียกชื่อต่างๆ ดังนี้ เมืองสิงหราชาธิราช เมืองสิงหราชา เป็นเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำจักรสีห์อันเป็นลำน้ำใหญ่ ห่างแม่น้ำเจ้าพระยา 200 เส้น เพราะแม่น้ำจักรสีห์ตื้นเขิน เมืองสิงห์จึงกลายเป็นเมืองอยู่ลับลี้..." ไหว้พระพรหมที่เมืองพรหม ปัจจุบัน ‘เมืองสิงห์บุรี’ มาเป็น จังหวัดสิงห์บุรี มีทั้งหมด 6 อำเภอ ซึ่งแต่ละอำเภอก็จะมีความสำคัญ มีประวัติศาสตร์กล่าวอ้างให้ได้รำลึกถึง มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายให้ได้เยี่ยมชม รวมถึงตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา “สัปดาห์พระเครื่อง” ฉบับนี้ ขอพาไปสืบสานตำนาน 2 อำเภอ ที่นับเป็นความเชื่อความศรัทธาของชาวเมือง จนกลายเป็นหนึ่งใน Unseen Thailand สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองสิงห์บุรี ณ ปัจจุบัน กับวลีอันคล้องจองและเป็นที่รู้จักของผู้รักการเดินทางท่องเที่ยว ที่ว่า ... ไหว้พระอินทร์ที่เมืองอินทร์ “ไหว้พระพรหมที่เมืองพรหม ไหว้พระอินทร์ที่เมืองอินทร์” เมืองพรหม คือ อ.พรหมบุรี สื่อความหมายถึง ‘ที่อยู่ของพระพรหม’ ที่มีพระพรหมเป็นเทพเจ้าประจำเมืองและ เมืองอินทร์ ก็คือ อ.อินทร์บุรี ‘ที่อยู่ของพระอินทร์’ มีพระอินทร์เป็นเทพเจ้าประจำเมือง ตามตำนานเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ในอดีต “พระพรหม” เป็นมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่หนึ่งในสาม ‘ตรีมูรติ’ ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่เป็นที่เคารพศรัทธาสืบต่อถึงศาสนาพุทธอย่างกลมกลืนมาแสนนาน เป็นพระเจ้าผู้สร้าง ผู้ลิขิตความเป็นไปของทุกสรรพชีวิต เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกผู้ เป็นผู้รู้ความเคลื่อนไหวของสรรพชีวิต และทรงรับฟังคำอธิษฐานของผู้ศรัทธาเสมอ ผู้บูชาพระพรหมและทำความดี จะได้รับพรให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนาทุกประการ ส่วน “พระอินทร์” เป็นมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่เหนือชีวิตของสรรพสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย คอยปกป้องคุ้มครองผู้ที่กระทำความดี และปกป้องดูแลโลกให้พ้นจากสิ่งอันตรายเลวร้ายต่างๆ   เทวาลัยพระพรหม เลยวัดอัมพันมาเล็กน้อย ในราวปี พ.ศ.2551 นายประภาส บุญยินดี ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีขณะนั้น ได้รับคำปรารภจากหลายฝ่าย รวมทั้งพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดสิงห์บุรีอยู่เสมอๆ ว่า ควรจะสร้าง ‘รูปเคารพของพระพรหม และพระอินทร์’ เพื่อเป็นมิ่งมงคลแก่ภูมิสถาน กอปรกับ ที่ อ.พรหมบุรี เป็นสถานที่ตั้งของวัดอัมพวัน วัดสายวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 3 เป็นพระสุปฏิปันโนผู้เผยแผ่ธรรมะแก่สาธุชน โดยเน้นเรื่องกฎแห่งกรรมและการพัฒนาจิตใจคนด้วยการสวดมนต์และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีลูกศิษย์ลูกหามากมายแวะเวียนมาที่วัดกันแน่นขนัด โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ดังนี้ จึงถือฤกษ์มงคลในโอกาสครบรอบ 80 ปี ของ หลวงพ่อจรัญ ในปี พ.ศ.2551 บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันสร้าง “เทวาลัยพระพรหม” ขึ้น ถัดจากทางเข้าวัดอัมพวันเล็กน้อย เพื่อเป็นที่ระลึกแด่พระอาจารย์ผู้เคารพรักยิ่ง และเป็นเอกลักษณ์สำคัญสืบสานตำนานเก่าแก่ของเมืองตามเจตนารมณ์ของชาวเมือง เผยแพร่ประวัติของหัวเมืองพรหมในอดีต เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้มุ่งมั่นทำความดีเพื่อประเทศชาติ ทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุดหนุนสินค้าวิสาหกิจชุมชน (OTOP) ของจังหวัด ไฟน์นาว เอ้าท์เล็ท อ.อินทร์บุรี “เทวาลัยพระพรหม” ประดิษฐานพระพรหมองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สีทองอร่าม มองเห็นแต่ไกล มี 4 พระพักตร์ 8 พระกร ทรงจักร หอยสังข์ คัมภีร์ คนโฑ คฑา บ่วง ดอกบัว และลูกประคำ ด้านหน้าประดิษฐานองค์ขนาดปกติอีกองค์หนึ่ง การสักการะขอพร จะเดินเวียนขวารอบพระพรหม 3 รอบ (ตามเข็มนาฬิกา) ขอพรทุกพระพักตร์ ... พระพักตร์แรก ‘พระพักตร์เมตตา’ ประทานพรเรื่องงาน เรียน และเรื่องรับผิดชอบในชีวิต พระพักตร์ที่สอง ‘พระพักตร์กรุณา’ ประทานพรเรื่องอสังหาริมทรัพย์ บ้าน ที่ดิน รถ พระพักตร์ที่สาม ‘พระพักตร์มุทิตา’ ประทานพรเรื่องสุขภาพ ครอบครัว คู่ครอง และ พระพักตร์ที่สี่ ‘พระพักตร์อุเบกขา’ ประทานพรเกี่ยวกับโชคลาภ เงิน ทอง การขอบุตร คาถาบูชาว่า “โอม พราหมเณ นะมะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา” (คำแปล) ขอเคารพพระพรหม ... เมตตา สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้มิสุข ... กรุณา สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้มีทุกข์ ... มุทิตา ยินดีในการบุญ ... อุเบกขา วางเฉยในบาป เทวาลัยพระอินทร์ สำหรับ “เทวาลัยพระอินทร์” สร้างอยู่ใน ‘ไฟน์นาว เอ้าท์เล็ท’ อ.อินทร์บุรี แหล่งจับจ่ายสินค้ายอดนิยมของนักท่อเที่ยว โดยเชื่อมต่อจากเอ้าท์เล็ท องค์พระอินทร์งดงามสง่ายิ่งนัก ภายในอาณาบริเวณอันร่มรื่นสวยงาม เพื่อผู้มาจับจ่ายได้เข้ากราบสักการะขอพรเทพเจ้าประจำเมือง และพักผ่อนกับบรรยากาศร่มรื่นโดยรอบ เทวาลัยพระพรหม และ เทวาลัยพระอินทร์ จึงนับเป็นเอกลักษณ์สำคัญของ 2 อำเภอ ใน จ.สิงห์บุรี ด้วยศรัทธาชุมชนที่มุ่งสืบสานตำนานเก่าแก่สำคัญให้เป็น ‘รูปธรรม’ เพื่อรำลึกและสักการะสืบไปตราบนานเท่านานครับผม โดย ราม วัชรประดิษฐ์