"หมอธี-ปลัดฯ ชัยพฤกษ์" ชี้แจงรายละเอียด ให้สอดรับคำสั่ง ม.44 ยุบอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.60 ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2560 เรื่อง การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดนคำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญ เพื่อการจัดระบบการศึกษาของชาติ ให้มีมาตรฐาน ทั้งด้านหลักสูตรการเรียนการสอน และด้านบุคลากรให้เหมาะสม เพื่อให้การปฏิรูประบบการศึกษาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ผ่านประชามติ ที่รอการประกาศใช้ จำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรกลางบริหารงาน บุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ที่จะสนับสนุนการบริหารงานด้านบุคคลให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า การปรับปรุงองค์กรกลางการบริหารงานบุคคลฯ มีการปรับ 2 ส่วน คือ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญ โดยในส่วนของ บอร์ด ก.ค.ศ. นั้นจะทำหน้าที่เป็นบอร์ดเชิงนโยบายมากขึ้น ในหลักการเดียวกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และปรับองค์ประกอบของบอร์ดจากเดิม 31 คน เหลือ 15 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจาก 9 คน เหลือ 3 คนในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการศึกษา และด้านกฎหมาย ส่วนผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษา 12 คน และผู้แทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะไม่มีในบอร์ดใหม่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้แทนครูฯ จะไปอยู่ใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ ที่จะมีในเบื้องต้น 3 ชุดจากเดิมที่มี 11 ชุด เพื่อทำการแทน ก.ค.ศ. ได้แก่ อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยองค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญแต่ละชุด จะลดจำนวนเหลือไม่เกิน 15 คน ส่วนอ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจที่มีอยู่ประมาณ 200 คณะยังคงให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ บอร์ด ก.ค.ศ.ชุดใหม่ต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ได้มาซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนครูฯ ในอ.ก.ค.ศ.วิสามัญชุดต่างๆ "คำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวยังได้มีการปรับแก้คำว่า "ขั้นเงินเดือน" ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นคำว่า "เงินเดือน" เนื่องจาก พ.ร.บ.เงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง ระบุให้ขึ้นเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังกำหนดเป็นขั้นเงินเดือนอยู่ ดังนั้น จึงต้องปรับให้เป็นระบบเดียวกับข้าราชการอื่น ๆ" ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังให้ ก.ค.ศ.เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นการปลดล็อคการปรับระบบการสอบแข่งขัน ที่อนาคตจะให้ส่วนกลางเป็นผู้จัดสอบภาค ก หรือความรู้ทั่วไป เช่นเดียวกับการสอบ ก.พ. แต่ ก.ค.ศ. ยังสามารถมอบอำนาจให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดำเนินการแทนได้ ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าการปรับองค์ประกอบโดยตัดผู้แทนครูจากบอร์ด ก.ค.ศ. ไม่ได้เป็นความขัดแย้งหรือมองว่าเป็นศัตรู แต่เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ สามารถที่จะปรับแก้กฏระเบียบต่างๆให้มีความรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของครูอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา คสช.มีคำสั่งยกเลิก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จึงต้องปรับบอร์ด ก.ค.ศ.ให้สอดคล้องกัน โดยผู้แทนครู จะไปทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญกลั่นกรองงานเสนอ ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะที่ผ่านมาได้มีการทำความเข้าใจกันแล้ว ส่วนที่เกรงว่าจะมีการเคลื่อนไหวของผู้แทนครูนั้น เรื่องนี้ตนคงไม่ยอม ไม่ใช่ว่าตนก้าวร้าว แต่ประเทศต้องเดินหน้าด้วยเหตุผลและกฎหมาย ไม่เช่นนั้นคงทำงานกันไม่ได้ "หลังมีคำสั่ง ม.44 ดังกล่าว ก็มีผู้แทนครูจะขอมาพบ ซึ่งผมก็ยินดีให้พบแต่ขอให้เป็นผู้แทนครูจริงๆ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่แนวคิดของผมแต่เป็นการเข้ามาดำเนินการต่อเนื่องจากคำสั่ง ม.44 เดิมก็เท่านั้น" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว ----------------------------