กรมศิลปากรเผยความคืบหน้าบูรณะพระมหาพิชัยราชรถประดับกระจกใหม่กว่า 30% สำนักช่างสิบหมู่จัดทำผ้าลายทองแผ่ลวดธงสามชายประจำงอนราชรถทั้ง 5 องค์ใหม่ 30 ชิ้นงานช่างไทยโบราณ ดึงอาสาร่วมปฏิบัติงาน 100 คน คาดสิ้นเดือนสิงหาคมแล้วเสร็จ ความคืบหน้าบูรณะพระมหาพิชัยราชรถ และพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นางยุนีย์ ธีระนันท์ หัวหน้ากลุ่มงานช่างปิดทองประดับกระจก สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวถึงความคืบหน้าในการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศว่า พระมหาพิชัยราชรถดำเนินการประดับกระจกลวดลายกระหนกชั้นเกรินด้านหน้าและท้ายเกริน ประดับกระจกลายหน้ากระดานชั้นเบญจา ด้านท้าย และส่วนต่างๆ คืบหน้ากว่าร้อยละ 30 แล้ว ด้านพระที่นั่งราเชนทรยานอยู่ระหว่างถอดชิ้นส่วนและลอกผิวทองเดิมออกเพื่อตกแต่งลวดลาย ปลายเดือนพฤษภาคมนี้จะเห็นความคืบหน้าการบูรณะราชรถชัดเจนขึ้น ด้านการจัดทำงานผ้าลายทองแผ่ลวดธงสามชายประจำงอนราชรถ ซึ่งเป็นงานช่างแขนงหนึ่งในหมู่ช่างสนะไทยหรือช่างที่เกี่ยวกับเครื่องภูษาอาภรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานในสถาบันพระมหากษัตริย์ สำนักช่างสิบหมู่ต้องจัดทำขึ้นใหม่ทั้งหมดจำนวน 30 ชิ้น เพื่อประกอบเป็นธง 15 ผืน เพื่อเป็นเครื่องประกอบพระมหาพิชัยราชรถ พระที่นั่งราเชนทรยาน และราชรถน้อย9782 , 9783 และ 9784 “การจัดสร้างธงสามชายครั้งนี้ว่า ได้เปิดโอกาสให้อาสาสมัครจำนวน 100 คน ร่วมปฏิบัติงานด้วย โดยสลับหมุนเวียนกันมาทำงานที่สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม แต่ละคนผ่านการทดสอบทักษะความสามารถด้านงานปัก ผู้ที่ฝีมือจะให้ปักกับงานจริง เน้นคัดลายให้คมชัด ส่วนผู้ทักษะน้อยกว่า ช่างสิบหมู่จะช่วยฝึกและแนะนำเทคนิคจนสามารถทำงานได้ เพราะงานผ้าลายทองแผ่ลวดเป็นงานช่างโบราณ ต้องมีความละเอียด อดทนและใจเย็นถึงจะได้งานที่วิจิตรงดงาม ถือเป็นการสร้างคนทำงานสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย คาดว่าธงสามชายราชรถทั้ง 30 ชิ้น จะแล้วเสร็จสิ้นเดือนสิงหาคมนี้” นางยุนีย์ กล่าว ด้าน นายสุภากร โนนแก้ว นายช่างศิลปกรรมปฏิบัติงาน กลุ่มงานช่างปิดทองประดับกระจก กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้มาช่วยจัดสร้างชิ้นงานเพราะมีความถนัดงานปักผ้า รวมทั้งยังมีหน้าที่ฝึกทักษะจิตอาสาทั้งหมดที่เข้ามาช่วยงาน โดยตนจะสาธิตลักษณะการเย็บผ้าขั้นต้น การรูดด้าย จนกระทั่งการสนเข็มให้ใช้ขี้ผึ้งรูด ไม่ให้จิตอาสาใช้น้ำลาย เพราะถือเป็นของสูงสำหรับกษัตริย์ ส่วนการเย็บให้เว้นจังหวะช่องไฟระยะห่าง 3 มิลลิเมตร โดยไม่รั้งให้ด้ายตึงเพื่อให้เส้นด้ายดูนูนและฟูเป็นธรรมชาติ จิตอาสาที่มีฝีมือจะปักตามลวดลายที่ช่างเขียนออกแบบไว้ ซึ่งคัดลอกมาจากลายโบราณ ผู้ที่มาช่วยงานประจำจะได้รับผิดชอบการทำธง 1 ชิ้น แต่ถ้ามาสัปดาห์ละ 2-3 วัน จะให้ทำผืนเดียวกัน สำหรับธงขนาดเล็กใช้เวลาปัก 1 สัปดาห์ ขณะที่ขนาดใหญ่ 2 สัปดาห์ หลังปักลวดลายเสร็จจะตัดผ้า จากนั้นเย็บประกบผ้าด้านหน้าและด้านหลังเข้าด้วยกัน ด้านในเป็นโครงเหล็กเดิมของราชรถ ตนเพิ่งได้รับบรรจุเป็นข้าราชการช่างสิบหมู่ภูมิใจมากที่ได้ถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9