ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] โครงการพัฒนาวัดมงคลชัยพัฒนาฯ พื้นที่ทฤษฎีใหม่ฯแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี 2531 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดหาที่ดินบริเวณวัดมงคล (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่าวัดมงคลชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2535) ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เพื่อขุดสระเก็บน้ำและจัดทำแปลงสาธิตเกษตรผสมผสาน ในปี 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา จัดหาที่ดินเพิ่มอีก 15 ไร่ ซึ่งติดกับที่ดินแปลงแรก เพื่อจัดทำเป็น “โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ในการบริหารจัดการดินและแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรรูปแบบใหม่ อันเป็นหลักการและรูปแบบการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมในระดับครัวเรือน เพื่อให้เป็นศูนย์สาธิตการดำเนินเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างเป็นรูปธรรม สามารถให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติในพื้นที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพออยู่พอกิน โครงการนี้นับเป็นจุดกำเนิดของทฤษฎีใหม่แห่งแรกในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ได้เสด็จฯไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศ ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ วัดมงคลชัยพัฒนา ในการนี้ได้ทอดพระเนตรการดำเนินงานในโครงการทฤษฎีใหม่ อาทิ สระเก็บน้ำ แปลงพืชสวน พืชไร่ และกิจกรรมต่างๆของโครงการ พร้อมทั้งทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแนวทางการดำเนินงาน ความตอนหนึ่งว่า “...บริเวณพื้นที่ใหม่นี้ให้ปลูกข้าวเป็นหลัก ปลูกไม้ยืนต้นไม้ผลแซมบ้าง เพื่อให้ชาวบ้านมีข้าวกิน ไม่ต้องซื้อ ประชาชนมีพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ ลองทำให้เหมือนของเขา พื้นที่แห้งแล้งขาดน้ำ แต่ละแปลงให้มีน้ำของเขา แล้วก็สูบน้ำมาใช้ พื้นที่ชาวบ้าน ถ้าทำหลายๆโครงการ ชาวบ้านทำได้ไหม ราชการจะช่วยอะไรบ้าง เช่น ขุดสระให้ ในพื้นที่ 3,000 ไร่ ทำได้ 200 บ่อ แต่ต้องดูพื้นที่ ที่เหมาะสมด้วย ตอนแรกก็ปลูกข้าวก่อน ทีหลังก็ปลูกไม้ผล ตกลงเราก็สนับสนุนได้ ให้วัด โรงเรียน ราชการ และมูลนิธิร่วมกัน โครงการนี้เป็นโครงการที่สามารถผนึกกำลัง ต้องไม่ลงทุนมากนัก ทำเหมือนชาวบ้านทำ ยอมให้เสียบ้าง ถ้าลงทุนทำมากไป หลวงจะทำได้ แต่ชาวบ้านทำไม่ได้...” จากแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9ข้างต้น จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่วัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระบุรี ซึ่งนับเป็นตัวอย่างหนึ่งในความสำเร็จที่ได้สนับสนุนให้เกษตรกรที่นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม “...เรื่องนี้เริ่มต้นที่จังหวัดสระบุรี...ได้ดูแผนที่สระบุรี ทุกอำเภอ หาๆไป ลงท้ายได้เจอวัดชื่อมงคล อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วก็เหมาะในการพัฒนา จึงไปซื้อที่ ซื้อด้วยเงินส่วนตัวและเพื่อนฝูงได้ร่วมบริจาคจำนวนหนึ่ง ได้ซื้อ 15 ไร่ ที่ใกล้วัดมงคล... ทางราชการโดยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ทางนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ช่วยกันทำโครงการนี้ โครงการนี้ใช้ทุนของมูลนิธิชัยพัฒนาส่วนหนึ่ง ใช้เงินของราชการส่วนหนึ่ง โดยวิธีขุดบ่อน้ำ เพื่อใช้น้ำนั้นมาทำการเพาะปลูกตาม ‘ทฤษฎีใหม่’ ซึ่งทฤษฎีใหม่นี้ยังไม่ เกิดขึ้น...” พระราชดำรัส พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2537 วัตถุประสงค์โครงการฯ เพื่อเป็นแปลงสาธิตการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ฯและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ฯ โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรนำรูปแบบแปลงสาธิตเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ฯไปประยุกต์ในไร่นาของตนเอง หลักการดำเนินโครงการ โครงการดังกล่าวสนับสนุนให้ บ้าน วัด และราชการ (โรงเรียน) เป็นภาคีสำคัญร่วมกันพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการ 32 ไร่47 ตารางวา ให้เป็นสถานที่ต้นแบบของการพัฒนาในลักษณะผสมผสานและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือเพื่อพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็กที่มีสภาพแห้งแล้ง ให้เป็นศูนย์กลางในการบริการด้านการเกษตรกรรมและอื่นๆ รวมทั้งเป็นการสาธิตให้ราษฎรสามารถนำรูปแบบการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ และสามารถพึ่งตนเองได้ บนรากฐานของความประหยัด และความสามัคคีในท้องถิ่น ทั้งนี้ ในการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา แรกเริ่มได้จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 แปลง เพื่อศึกษาและสาธิตการเกษตรให้แก่ราษฎรได้สามารถนำไปปฏิบัติใช้กับพื้นที่ของตนเอง ดังนี้ พื้นที่แปลงที่หนึ่ง เป็นแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานจำนวน 16 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี2532 โดยมุ่งปรับปรุงดินให้มีอินทรีย์วัตถุเพิ่มขึ้น จากนั้นศึกษาและสาธิตการปลูกพืชชนิดต่างๆ แปลงทดสอบการปลูกต้นไม้ต่างระดับในสภาพยกร่อง และขุดสระน้ำสำหรับเลี้ยงปลาพร้อมกับปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษา และนำผลการทดลองจากการปลูกพืชชนิดต่างๆ นำไปปฏิบัติกับพื้นที่ของตนเองต่อไป พื้นที่แปลงที่สอง เป็นแปลงสาธิตทฤษฎีใหม่จำนวน 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา ไร่ ทำเกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ได้พระราชทานพระราชดำริไว้ จึงนับเป็นการบริหารจัดการที่ดิน และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกรในรูปแบบใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาของเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่ที่ถือครองโดยเฉลี่ยประมาณ 10-15 ไร่ ที่มีสภาพแห้งแล้งขาดแคลนน้ำและธาตุอาหารในดิน ให้มีสภาพที่สมบูรณ์ สามารถทำประโยชน์ได้สูงสุด เพื่อให้พออยู่พอกินไปตลอดทั้งปี โดยการแบ่งพื้นที่ตามทฤษฎี 30:30:30:10 ส่วนที่หนึ่ง เพื่อขุดสระเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก โดยเฉลี่ยพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ มีความลึกอย่างน้อย 4 เมตร จุน้ำประมาณ 18,000 ลูกบาศก์เมตร โดยการรับน้ำจากน้ำฝน และมีระบบท่อส่งน้ำมา เติมจากแหล่งภายนอก คือ อ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว ราษฎรก็จะสามารถมีน้ำไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกได้ตลอดปี รวมทั้งยังสามารถเลี้ยงปลา และปลูกพืชน้ำได้อีกด้วย ส่วนที่สอง สำหรับการปลูกข้าว พื้นที่โดยเฉลี่ยประมาณ 5 ไร่ เพื่อไว้สำหรับบริโภคเอง หากเหลือก็นำไปขายได้ เมื่อพักจากการทำนาข้าวก็มาปลูกพืชหมุนเวียน ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เป็นการเพิ่ม รายได้และเพื่อบำรุงดิน ส่วนที่สาม สำหรับการปลูกพืชไร่ พืชสวนแบบผสมผสาน พื้นที่โดยเฉลี่ยประมาณ 5 ไร่ เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี ส่วนที่สี่ สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคต่างๆ และสำหรับปลูกพืชสวนครัว พื้นที่โดยเฉลี่ยประมาณ 2 ไร่ มีกรณีตัวอย่างของเกษตรกรที่มีที่ดินติดอยู่กับแปลงสาธิตทฤษฎีใหม่ของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาฯ ที่เริ่มแรกได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างแหล่งน้ำและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นจากภาคเอกชนสำหรับพื้นที่ทำการเกษตรมีจำนวน 19 ไร่ ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็นนาข้าว 5 ไร่ปลูกข้าวในฤดูฝน ในฤดูแล้งจะปลูกพืชผักแทนแปลงไม้ผล 6 ไร่ แปลงมะลิ 1.5 ไร่ สระน้ำ 1.5 ไร่ สำหรับใช้เพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงปลาไว้กิน พื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่บ้าน ถนน ลานอเนกประสงค์ คูน้ำ และคันดิน ครอบครัวนี้มีรายได้ก่อนที่จะมาทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริมีรายได้จากข้าวนาปีเพียงอย่างเดียว ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่หลังจากที่ได้เรียนรู้การทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ฯแล้ว ทำให้มีรายได้จากการขายผลผลิตหลายชนิด เฉลี่ยแล้วประมาณ 300,000 บาทต่อปี ทำให้เขามีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก โดยเป็นการดำเนินชีวิตที่พอเพียง คือ ไม่ถึงกับร่ำรวย แต่ก็ไม่ได้อดอยาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงตรากตรำพระวรกายทรงงานเพื่อความอยู่ดีมีสุขของราษฎรชาวไทยนับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์จนเสด็จสวรรคตเป็นเวลา 70 ปี และได้พระราชทานแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ปวงชนชาวไทยได้น้อมนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อผลแห่งความสุขสู่ทุกท่านอย่างยั่งยืน “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระองค์ท่านพระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน ขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยพระผู้ทรงสถิตย์อยู่ในหัวใจไทยทั้งประเทศ ขอเชิญชวนทุกท่านได้เรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวพระราชดำริในด้านต่างๆ มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองครอบครัว ชุมชนและสังคมไทย ให้เจริญก้าวหน้า ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4ธันวาคม 2517 ความตอนหนึ่งว่า “…คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่ทันสมัย แต่เราพออยู่พอกินและขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานปณิธาน จุดมุ่งหมายในแง่นี้ ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน ไม่ใช่รุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่าการพออยู่พอกินมีความสงบนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ  ถ้าจะรักความพออยู่พอกินนั้นได้ เราจะยอดยิ่งยวด เพราะ ประเทศต่างๆในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่ เพราะจะแสวงหาความยิ่งยวดทั้งในอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางสิทธิ ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดแต่ละท่าน แต่ละบุคคล และมีความคิด มีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนร่วมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล…”