หากจะเปรียบ "สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" หรือ "อาเซียน" (Association of South East Asian Nations: ASEAN) ซึ่งก่อตั้งขึ้นจาก "ปฏิญญากรุงเทพ" (Bangkok Declaration) โดยสมาชิกแรกเริ่ม 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 เป็นคน ด้วยวัยที่กำลังจะอายุเต็ม 50 ปี ในปี 2560 นี้ ก็ต้องบอกว่าคนคนนี้ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกินครึ่งชีวิต "นายดอน ปรมัตถ์วินัย" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวไว้ในโอกาสเปิดงาน TU - ASEAN EXPO 2017 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อาเซียนที่อยู่มานานถึง 50 ปีนั้น แต่แรกเริ่มไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะอยากเกิด ไม่ได้เกิดจากสภาพแวดล้อมปกติ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยสภาพแวดล้อม และสสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคทำให้กลายเป็นความจำเป็นต้องมีการรวมตัวกันเป็นอาเซียน ย้อนไปในช่วงปี พ.ศ. 2504 ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคม สภาพในขณะนั้นมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มีความพยายามที่จะผลักดันแก้ไขปัญหาในภูมิภาคเหล่านั้น ผ่านกลไกหลายอย่าง อาทิ การจัดตั้งสมาคมอาสา (Association of South East Asia:ASA ) แม้จะตั้งขึ้นมาได้ แต่การทำงานก็ไม่ประสบความสำเร็จ ปัญหาความขัดแย้งก็ยังดำเนินต่อไป เพิ่มทวีไปด้วยความไม่ไว้ใจต่อกันมากขึ้น จนในที่สุด พ.ศ. 2510 เกิดอาเซียนขึ้นมาได้ เพื่อรวมกันเพื่อแก้ปัญหาหลายเรื่อง แต่กระนั้นก็ยังมีก็ยังมีความระหองระแหงอยู่เป็นระยะ "อาเซียนพยายามลดความขัดแย้งที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันก็พยายามหาความร่วมมือให้เกิดขึ้น" นี่คือวิถีที่อาเซียนปฏิบัติเสมอมา ตามคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอนกล่าวต่อว่า ในช่วงต้นนั้น อาเซียนยึดหลัก 3C ในการดำเนินงาน ได้แก่ 1) Cooperation คือ ความร่วมมือ 2) Consultation หรือการปรึกษาหารือและ 3) Consensus หรือฉันทามติ กล่าวได้คือ ในระหว่างที่มีการรวมตัวกันแก้ปัญหา และแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันนั้น ตลอดระยะเวลาก็จะมีการพบปะหารือกันเสมอ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งในระหว่างหารือก็จะต้องมีการตัดสินใจ โดยในขณะนั้น ได้มีการคิดหาวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งหากใช้เสียงข้างมากในการตัดสินใจก็จะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจได้ จนกลายเป็นที่มาของคำว่า "ฉันทามติ" ที่อาเซียนถือเป็นแนวทางปฏิบัติมาตลอดนั่นเอง ในระยะแรกอาเซียนยังไม่มีการประชุมที่เรียกว่า "การประชุมสุดยอด" (SUMMIT) จนกระทั่งในปี 2519 ก็เกิด ASEAN SUMMIT ครั้งแรกที่ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย จากนั้นเป็นต้นมาก็มีการประชุมอาเซียนในระดับต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เพื่อแสวงหาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอาเซียนเลยก็ว่าได้ จะเห็นได้ว่ามีความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพาณิชย์ อุตสาหกรรม การลงทุน การขนส่ง สังคม และวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาเซียนจะไม่ได้เป็นกลุ่มที่เน้นเรื่องการเมือง แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อลดความตึงเครียด โดยมีกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เป็นสำคัญ แต่หลังจากปี 2523การเมืองก็พาอาเซียนเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะที่ต้องทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งในเวลาต่อมาอีกประมาณ 10 ปี ก็เป็นเรื่องการเมืองเสียส่วนมาก เนื่องจากมีประเทศในภูมิภาคเดียวกันกระทบกระทั่งกันจนถึงขั้นใช้กำลังทหาร อาเซียนก็เห็นว่าจะบานปลายก็พยายามยุติปัญหา จึงเริ่มมีการแสดงท่าทีทางการเมือง จึงทำให้อาเซียนมีความครบสมบูรณ์ทุกแง่ ทั้งในด้านความร่วมมือ และได้รับการยอมรับมากขึ้นจากการแสดงบทบาทดังกล่าว อาเซียนเติบโตต่อมา จากเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้รู้สึกว่าต้องทำอะไรมากกว่าจุดเริ่มต้น จึงยื่นมือออกไปนอกภูมิภาค เริ่มต้นออกไปหาคู่เจรจาอย่างสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งปัจจุบันประเทศต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นคู่เจรจาชั้นนำของอาเซียนทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้อาเซียนเนื้อหอมในสายตาคู่เจรจาก็คือ "เขตการค้าเสรีอาเซียน" (ASEAN Free trade area: AFTA) ที่ดึงดูดให้ทุกคนเข้าหา ประกอบกับการเป็นภูมิภาคที่เป็นอนาคต เป็นตลาดของคนกว่า 600 ล้านคน กลับมาที่ 3C คือ Cooperation,Consultation และ Consensus ที่อาเซียนยึดถือเสมอมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาติสมาชิก ที่มีความแตกต่างกันสูงมากทั้งในด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ระดับการพัฒนา อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่า จนเมื่ออาเซียนมีอายุได้ประมาณ 30 ปี ก็เกิด 3C อีกชุดขึ้นมาเกื้อหนุนการทำงานของอาเซียนได้แก่ 1) Community หรือประชาคม 2) Connectivity หรือการเชื่อมโยง และ3) Centrality หรือการเป็นแกนกลาง ในส่วนของการสร้างประชาคมนั้น อาเซียนได้ศึกษาแบบประชาคมยุโรป โดยนำเอามาปรับใช้ในแบบที่อาเซียนสามารถทำได้ ส่วนการเชื่อมโยง ก็มีทั้งทางด้านกายภาพ ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงจากคนสู่คน ขณะที่ในด้านของการเป็นแกนกลางนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันอาเซียนเป็นแกนกลางในหลายๆ เรื่อง ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทสูง จากการประชุมสุดยอดแต่ละครั้ง จะมีผู้นำประเทศสำคัญอย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประธานาธิบดีรัสเซีย หรือนายกรัฐมนตรีจีนมาร่วมประชุมโดยตลอด นี่เป็นสิ่งที่อาเซียนต้องรักษาความเป็นแกนกลางเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาจนจัดตั้งตัวเองเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งอาเซียนมักจะบอกอยู่เสมอว่า ตนเองมีวิสัยทัศน์ แต่เมื่อพิจารณาทุกอย่างที่ทำมาแล้ว ในที่สุดไม่ว่าจะในกรอบของการเป็นประชาคม หรือการมองถึงการทำงานในอนาคต ก็จะพบว่า ทุกอย่างที่อาเซียนทำจะต้อง "เพื่อประชาชน" (People Oriented policy) "อาเซียนวันนี้อาจจะยังไม่เป็นที่ถูกใจผู้ที่เฝ้ามองอาเซียนหลายคน ซึ่งอาจจะมองว่ามันช้า เราไม่ได้พูดถึงกระต่ายกับเต่า แต่อาเซียนมีสมาชิกที่มีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ ทั้งพื้นฐาน ความคิด ประวัติศาสตร์ ที่หล่อหลอมรวมกันจนวันนี้อาเซียนมีความแข็งแกร่งในระดับที่น่าพอใจ ถือว่ามีความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้าไปเร่งให้ไปเร็วกว่านี้ ต้องอย่าลืมว่าก็มีความเสี่ยง ดูอย่างอียูเป็นตัวอย่าง ที่เริ่มต้นก่อนอาเซียน10 ปี ในที่สุดแล้วก็วิ่งเร็วจนสะดุดขาตัวเอง จนเกิดกรณี Brexit ขึ้นมา ก็เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งให้คิดว่า เราจะก้าวต่อไปอย่างไร" นายดอนกล่าว