พายุฤดูร้อนกระหน่ำ!เพิ่ม 25 จังหวัด ปภ.เร่งช่วยเหลือ เตือนรับมือระลอกใหม่ 25 - 29 มี.ค. ด้าน หมอกควันไฟป่าภาคเหนือเหลือ 5 จว. วันที่ 25 มี.ค. 60 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวสรุปสถานการณ์วาตภัยทั่วประเทศว่า ขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย รวม 25 จังหวัด 75 อำเภอ 129 ตำบล 414 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 4,849 หลัง ผู้เสียชีวิต 3 ราย แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ เลย สกลนคร มหาสารคาม นครราชสีมา หนองคาย ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ บึงกาฬ อำนาจเจริญ อุดรธานี บุรีรัมย์ และกาฬสินธุ์ ภาคเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ชัยนาท และกำแพงเพชร และภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว และตราด โดยเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจังหวัดได้รับผลกระทบจาก พายุฤดูร้อน 6 จังหวัด 11 อำเภอ 13 ตำบล 22 หมู่บ้าน ได้แก่ เลย กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี บุรีรัมย์ และสุรินทร์ บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 123 หลัง ซึ่ง ปภ. ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น และดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ เช่น ชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม อีกทั้งจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต “จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 25 – 29 มี.ค.นี้ ประเทศไทยมีสภาพอากาศแปรปรวนในหลายพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะอากาศของฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และ ลูกเห็บตก โดยช่วงวันที่ 25 - 26 มีนาคม 2560 จะเกิดพายุฤดูร้อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ส่วนช่วงวันที่ 27 - 29 มีนาคม 2560 จะเกิดพายุฤดูร้อนครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขณะที่ภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางแห่ง ปภ.จึงได้ประสานทุกจังหวัดเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรง อยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงในระยะนี้ไว้ด้วย” อธิบดีปภ. กล่าว ฉัตรชัย ยังกล่าวถึงสถานการณ์หมอกควัน และไฟป่าว่า จากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2560 เวลา 07.00 น. พบว่า 5 จังหวัดภาคเหนือ มีปริมาณฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐานตามลำดับ ดังนี้ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน และน่าน โดยจ.เชียงราย พื้นที่ตำบลเวียงพางคำ อำเภอ แม่สาย มีคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 167 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่า 122 จ.ลำปาง พื้นที่ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 154 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่า 115 จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 146ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่า 112 อธิบดีปภ. กล่าวว่า ส่วนจ.เชียงใหม่ ในพื้นที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 125 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่า 107 และจ.น่าน ในพื้นที่ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 96 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่า 105 อย่างไรก็ตาม ปภ. ได้ประสานจังหวัดภาคเหนือ ดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างเข้มข้น จัดกำลังอาสาสมัครเฝ้าระวังไฟป่าและเพิ่มความถี่ในการลาดตระเวน รวมถึงดำเนินมาตรการควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ เน้นการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบจุดไฟเผา ขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมให้กำหนดช่วงเวลาและจัดระเบียบการเผา ประกาศเขตห้ามเผา ส่งเสริมการจัดทำแนวกันไฟ และรณรงค์การไถกลบแทนการเผา ส่วนพื้นที่ริมทางหลวง ให้เฝ้าระวังการเผาในเขตริมทางหลวงอย่างเข้มข้น อีกทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อมปฏิบัติการระงับไฟป่า ระดมรถบรรทุกน้ำและเครื่องมือฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ พร้อมประชาสัมพันธ์ผลกระทบ ข้อมูลคุณภาพอากาศ รวมถึงคำแนะนำแก่ประชาชน ตลอดจนขอความร่วมมืองดการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์หมอกควันไม่ให้วิกฤตมากขึ้น