คอลัมน์ เรื่องจากปก ภาษี พาเสีย แม้จะมีภาพของสงครามชิงมวลชน ซ้อนทับกับปมเรียกเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ปี 2549 มูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท ด้วยต่างฝ่ายต่างใช้ประเด็นนี้ ให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย รัฐบาลคสช.ที่ถูกมองว่าเบี่ยงประเด็น บ่ายหน้าจากศึก “คลองหลวง” หันมาไล่ล่าคนในตระกูล “ชินวัตร” ซึ่งเป็นเพียง “ปาหี่”ทางการเมืองเลี้ยงกระแสความนิยมเอาไว้ สุดท้ายแล้ว จะไม่มี “อภินิหาร” ใดๆทางกฎหมายเกิดขึ้น!! หรือจะเป็นฝ่ายเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร เองที่ก็ถูกมองว่าโกงภาษี ปั่นดรามาขึ้นมาหวังจะลอยนวล พยายามตอกย้ำภาพของการถูกกลั่นแกล้งรังแก หวังให้แรงกดดันสวิงกลับไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ถูกจับจ้องเรื่องเรื่องของงบประมาณ และมาตรการทางภาษีต่างๆเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่จะเห็น “โอ๊ค”พานทองแท้ ชินวัตร กับ “ปู”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาประสานเสียงย้ำว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว ด้วยการยึดทรัพย์ไปเป็นจำนวนมหาศาลถึง 46,000 ล้านบาท ทั้งที่ความจริงแล้ว เป็นคนละเรื่องกัน! ประกอบกับ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 41/2560 เรื่องการขยายเวลาการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรออกมา โดย ประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรผู้ลงนามระบุว่า เป็นการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีเมื่อวันที่ 7 มี.ค. กรณีมาตรา 19 ประมวลรัษฎากร ที่เห็นว่าผู้ยื่นแบบเสียภาษีแต่เสียภาษีไม่ครบ กรมสรรพากรมีอำนาจประเมินภาษีในระยะเวลา 10 ปี แต่ต้องออกหมายเรียกภายใน 5 ปี หากไม่ออกหมายเรียกภายใน 5 ปีก็จะไม่มีอำนาจการประเมินภาษีได้ และไม่สามารถขยายเวลาได้ “เป็นการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ชัดเจนและบังคับใช้เป็นการทั่วไป กรณีที่ไม่ออกหมายเรียกภายใน 5 ปี จะไม่สามารถขยายเวลาเรียกประเมินภาษีได้ ซึ่งใช้กับทุกกรณี อย่าเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นการประกาศเพื่อเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปกับนายทักษิณเป็นกรณีพิเศษ” ยิ่งเมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ หลายฝ่ายอาจตีความว่า “อภินิหาร”ทางกฎหมาย ไม่น่าจะทำอะไรได้แล้ว แต่ท่าทีของรัฐบาลกลับไม่เปลี่ยนแปลงไป ยังคงเดินหน้าดำเนินการเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปต่อไป โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนกรานว่าหากไม่ทำ ก็จะผิดมาตรา 157 “จะทำได้หรือไม่ได้ให้ไปว่ากันในกระบวนการยุติธรรม ผมให้ความยุติธรรมตรงนี้ ต้องนึกถึงรัฐบาลด้วยว่า ถ้ามันชัดเจนว่าทำไม่ได้ ก็คือทำไม่ได้ แต่ถ้ายังไม่ชัดเจน ยังคลุมเครือ รัฐบาลก็ต้องทำไปก่อน แล้วค่อยไปต่อสู้คดีในภายหลัง เพราะไม่เช่นนั้นถ้าทำได้แล้วไม่ทำ รัฐบาลจะโดน ม.157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องคำนึงถึง การไม่ปฏิบัติอะไรก็ตามมีความเสี่ยงต่อกฎหมายทุกประการ ดังนั้นรัฐบาลนี้จึงระวังอย่างเต็มที่” เมื่อเห็นว่ารัฐบาล ไม่ยอมถอยง่ายๆ มือกฎหมายของนายใหญ่ จึงต้องออกโรง โดย นพดล ปัทมะ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวขู่จะดำเนินการฟ้องร้องรัฐบาลและเจ้าหน้าที่สรรพากรตามมาตรา 157 เช่นกัน งานนี้ สถานการณ์ของรัฐบาลจึงเหมือน “โดนทั้งขึ้น ทั้งล่อง”! อย่างไรก็ตาม กระบวนท่าล่าสุด ที่ “นพดล” เปิดไพ่ออกมา ก็คือ การอ้างว่า “ไม่มีธุรกรรมการซื้อขายหุ้นเกิดขึ้น” ... ใครจะคาดคิดว่าจะมามุกนี้ เพราะ “นพดล” อ้างว่า “โอ๊ค” และ “เอม” พินทองทา ชินวัตร ซื้อมาจากแอมเพิลริชเป็นหุ้นของทักษิณและภรรยา “โอ๊ค-เอม”ถือหุ้นไว้แทน แต่ไม่ใช่เจ้าของแท้จริงของหุ้น ที่มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะประเมินภาษีในส่วนการโอนหุ้นโดยแอมเพิลริช 329.2 ล้านหุ้นไปให้ “โอ๊ค-เอม” นั้น เมื่อหุ้นดังกล่าวยังคงเป็นหุ้นของทักษิณและภรรยา ไม่ใช่หุ้นของแอมเพิลริช เจ้าหน้าที่จะสรุปว่ามีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวระหว่างแอมเพิลริช และ “โอ๊ค-เอม” ได้อย่างไร “ธุรกรรมซื้อขายดังกล่าวจึงถือเสมือนว่าไม่ได้เกิดขึ้น จึงไม่มีเงินได้และภาระภาษี เพราะหุ้นเป็นกรรมสิทธิ์ของทักษิณและภรรยามาแต่ต้น จะไปซื้อหุ้นซึ่งเป็นของตนเองอยู่แล้วหรือขายหุ้นของตนเองให้ตนเองได้อย่างไร” และก็ตอกย้ำประเด็นเดิมว่า การขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็กนั้น เป็นการขายผ่านตลาดหลักทรัพย์จึงไม่มีภาระภาษี ส่วนเงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปและเงินปันผลจากหุ้นประมาณ 4.6หมื่นล้านบาท ถูกยึดตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว ทีนี้ทางฝั่งของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กลับให้ความเห็นผ่าน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” วิเคราะห์ถ้อยแถลงของ “นพดล” ว่า เป็นการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว การซื้อหุ้นชินคอร์ปมาจากแอมเพิลริช เป็นของนิติบุคล ขายให้บุคคลธรรมดาคือ “โอ๊ค-เอม” ในราคาหุ้นละ 1 บาท ในขณะที่ราคาตลาดตอนนั้นอยู่ที่หุ้นละ 37.25 บาท ซึ่งทำให้ได้กำไรส่วนต่าง 36.25 บาทอยู่แล้ว แต่การขายหุ้นระหว่างแอมเพิลริชกับ “โอ๊ค-เอม” เป็นการขายนอกตลาด จึงต้องเสียภาษี ทีนี้พอสรรพากรจะไปเรียกเก็บภาษี “โอ๊ค-เอม” ก็ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ของกรมสรรพากร ให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้จากที่ซื้อขายหุ้นชินคอร์ป เรื่องจึงไปถึงศาลภาษีอากรกลาง และศาลได้พิพากษาว่า ให้ “โอ๊ค-เอม” ไม่ต้องจ่ายภาษี เพราะไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นชินคอร์ปตัวจริง ซึ่งยึดตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่วินิจฉัยให้หุ้นเป็นกรรมสิทธิ์ของ “ทักษิณ-พจมาน” ดังนั้น “โอ๊ค-เอม” จึงเป็นแค่นอมินี หรือเท่ากับแอมเพิลริชขายหุ้นคืนให้กับ “ทักษิณ-พจมาน” ดังนั้น “โอ๊ค-เอม” จึงไม่ต้องเสียภาษี แต่กรมสรรพากรจะต้องไปเรียกเก็บภาษีกับ “ทักษิณ-พจมาน” ทั้งนี้ ที่น่าสังเกตอีกประเด็นคือ เหตุไฉนแอมเพิลริชที่เป็นนิติบุคคล จึงไม่ขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ผ่านตลาดหุ้นเอง ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกัน แต่กลับเอาไปพักในชื่อของบุคคลธรรมดาก่อน ที่น่าสังเกตก็คือ ประการแรก การขายหุ้นในนามนิติบุคคล มีขั้นตอนการดำเนินการที่ยุ่งยาก ไม่สะดวกในการซื้อขาย ประการที่สอง เมื่อนำหุ้นไปพักไว้ในชื่อของบุคคลธรรมดา ในราคา 1 บาท ในขณะที่ราคาตลาดตอนนั้น 42 บาท เท่ากับ “ทักษิณ-พจมาน”มีกำไรอยู่แล้ว 41บาท และเมื่อ “โอ๊ค-เอม”นำไปขายต่อให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ ในราคา 49.25 บาท ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นอีก 13.25 บาท ส่วนกรณีที่มีการชูประเด็นว่าการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กนั้น ไม่ต้องเสียภาษีนั้น “นพดล”พูดถูก เพราะเป็นซื้อขายในตลาดหุ้น แต่ “นพดล” เลือกที่จะไม่พูดความจริงข้อสำคัญที่ว่า การถูกยึดทรัพย์46,000 ล้านบาท มาจากกรณีนี้มาจากผลคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม กรณีที่ “ทักษิณ” ในสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีไปแก้ไขกฎหมายธุรกิจโทรคมนาคม จากเดิมที่กำหนดให้ต่างชาติถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคมไทย ไม่เกิน 25 % เป็นไม่เกิน 50 % ก่อนจะขายหุ้นชินคอร์ป ให้กับเทมาเส็ก ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้ยึดเงินที่ได้จากการขายหุ้นรวมทั้งเงินปันผลของหุ้นตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งต้องแยกออกจากกรณีแอมเพิลริชขายหุ้นชินคอร์ปให้กับ “โอ๊ค-เอม” ซึ่งเป็นนอมินี “ทักษิณ” นั้น ยังไม่มีการดำเนินการใดๆกับเงินได้ ลึกๆจะเห็นได้ว่าแผนการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป มีความไม่ชอบมาพากล มาตั้งแต่ต้น แม้จะว่ากันว่าเคยมีเสียงเสียงทักท้วงมาจากวงดินเดอร์เมื่อค่ำวันที่ 6 ธ.ค.2548 แล้วก็ตาม โดยมื้อค่ำที่ร้านอาหารญีปุ่น ย่านราชประสงค์มือนั้น มี “ทักษิณ” สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนพ.พรหมินท์ เลิศสุริย์เดช ร่วมโต๊ะกับกลุ่มคอลัมนิสต์ “18 อรหันต์” เพื่อประเมินทิศทางการเมือง กลุ่ม18อรหันต์ก็ได้ให้คำแนะนำไป 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ อย่าขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็กอย่างเด็ดขาด เพราะจะมีปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากแผนการขายหุ้นชินคอร์ป นั้น เป็นการขายคลื่นความถี่ ที่ถูกตีความว่า ขายคลื่นความถี่ให้กับต่างชาติ ซึ่งถือเป็นสมบัติของประเทศชาติ และประชาชน จะกลายเป็นประเด็นการเมือง เป็นปัญหาไม่จบสิ้น และในที่สุดก็มีปัญหาคาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ “ทักษิณ” น่าจะได้ดวงตาเห็นธรรมเสียทีว่า วิธีซิกแซกเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ในวันนั้น นำมาซึ่งวิบากกรรมอันไม่สิ้นสุด กระนั้น ฝั่งรัฐบาลก็ได้แต่อุบไต๋ ให้รอไปดูในชั้นศาล แม้แต่เจ้าของวาทกรรม “อภินิหารทางกฎหมาย” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ยังสงวนท่าทีไม่ตอบโต้ “นพดล” บอกแต่เพียงว่า เมื่อถึงเวลายื่นประเมินหรือยื่นฟ้อง ข้อเท็จจริงคงปรากฏออกมาว่า คำบรรยายฟ้องเป็นอย่างไร ด้วยคงอ่านทางว่าฝ่ายของ “ทักษิณ” ส่งลูกหาบออกมาทิ้งไพ่ ก็หวังจะขอดูไพ่ในมือ ว่ามีแง่มุมทางกฎหมายใดของรัฐบาล ไว้เตรียมรับมือ ทำให้รัฐบาลยังไม่อยากเปิดไต๋ต่อสาธารณชน แม้จะต้องเผชิญกับความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชน ว่าทำไมยังต้องตามล้าง ตามเช็ดตระกูล “ชินวัตร” ทำให้กระบวนการต่อจากนี้ ต้องลุ่มลึก รอบคอบและแหลมคมสูงยิ่ง เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็เสี่ยงที่จะเป็นฝ่ายเสียรังวัดเสียเองเหมือนกัน!!