"ชัยพฤกษ์" ชี้ผู้สมัครในกลุ่มนี้คงไม่มากสู้ทำงานบริษัทเงินเดือนมากกว่า แต่ก็จำเป็นต้องเปิดทางให้เพื่อตอบโจทย์ของประเทศ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่ง และแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็น "ครูผู้ช่วย" ปี 2560 โดยเปิดทางให้ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู สมัครสอบได้นั้น เรื่องนี้เป็นความจำเป็นของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเปิดโอกาสให้ในกลุ่มสาขาขาดแคลนสูง อาทิ การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ครูสาขาวิชากายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด จิตวิทยาคลินิก หรือการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ที่จำเป็นต้องใช้ครูช่าง อาทิ ช่างอุตสาหกรรม ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อมโลหะ ช่างสำรวจ ประมง ซึ่งวิชาเหล่านี้ไม่มีการจัดสอนหลักสูตร 5 ปี จึงจำเป็นต้องเปิดรับคนนอกซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มาสอน ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาคุรุสภา ได้ออกหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้กับผู้ที่ขาดคุณสมบัติ รวมทั้งผู้ที่มีคุณวุฒิในสาขาวิชาขาดแคลน ซึ่งหน่วยงาน หรือสถานศึกษามีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องการ โดยในปี 2558 ได้ออกให้ส่วนราชการต่างๆ จำนวน 21,297ราย ปี 2559 จำนวน 20,845 ราย และในปี 2560 ณ เดือน ก.พ.อีก 2,226 ราย ที่สำคัญขณะนี้ประเทศกำลังมีแผนพัฒนาสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุน และอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม โลจิสติกส์และการบิน การแพทย์ครบวงจร ดิจิทัล ซึ่ง ศธ.ต้องจัดการศึกษาเพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 แต่ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ไม่มีการเปิดสอน จึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มาสมัครเป็นครูได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะครูสังกัด สพฐ. เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงครูอาชีวะ และวิทยาลัยชุมชนด้วย "แม้จะมีการเปิดให้ผู้ที่จะไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มาสมัครสอบครู แต่หากสอบบรรจุได้ก็ต้องไปพัฒนาตัวเอง เพื่อให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามระยะเวลาที่คุรุสภากำหนด เชื่อว่าคนที่จะมาสมัครเป็นครูคงมีจำนวนไม่มาก เพราะไปทำงานบริษัทได้เงินเดือนมากกว่า แต่ก็จำเป็นต้องเปิดทางให้เพื่อตอบโจทย์ของประเทศ"ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว