สำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำพูน บูรณาการวิเคราะห์ปัญหาขับเคลื่อนนาแปลงใหญ่ ปี 2559 ถอดบทเรียนสู่การวางแผนการตลาดข้าวปีการผลิต 2560 เน้นปลูกข้าวตามมาตรฐาน GAP สร้างความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโรงสี สำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำพูน จัดการประชุมคณะทำงานด้านการตลาด และคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการลดต้นทุนการผลิต และการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตรด้วยระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ในระดับพื้นที่ของจังหวัดลำพูน โดยมีผู้แทนศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว สภาเกษตรกรจังหวัดลำพูน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำพูน นายสุชาติ  แก้วสอาด สหกรณ์จังหวัดลำพูน นายสุชาติ แก้วสอาด สหกรณ์จังหวัดลำพูน กล่าวว่า จังหวัดลำพูน ได้ดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี 2558 มีการดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำพูน ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการตลาด ได้มีบทบาทในการประสานผู้ผลิต ซึ่งจากการดำเนินงานของคณะทำงานด้านการตลาด ปี 2559 ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ผลิต คือ เกษตรกร กับผู้ซื้อ แต่ละพืชชนิด มีการส่งมอบสินค้าระหว่างกัน และในปี 2560 จะต้องมีการวางแผนด้านการตลาดในฤดูกาลผลิตต่อไป จึงเห็นควรให้มีการถอดบทเรียนการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา วิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ และอุปสรรคการทำงาน เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุง แก้ไข และหาแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ทั้งฝ่ายผลิต คือ เกษตรกร และฝ่ายผู้ซื้อ มีความพึงพอใจที่จะดำเนินธุรกิจร่วมกัน รวมทั้งเกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรกรที่แน่นอน และยั่งยืน สหกรณ์จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา การทำนาปรัง ในพื้นที่อำเภอบ้านธิ มีพื้นที่ปลูก 713 ไร่ เกษตรกร 68 ราย ผลผลิต ข้าวแห้ง 535 ตัน ลักษณะข้าวมีคุณภาพค่อนข้างดี และพื้นที่อำเภอป่าซาง พื้นที่ปลูก 2,200 ไร่ เกษตรกร 300 ราย ผลผลิต ข้าวแห้ง 1,650 ตัน ลักษณะข้าวมีคุณภาพค่อนข้างดี ไม่มีปัญหาเรื่องโรคแมลง แต่ประสบปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากผู้ประกอบการโรงสีไม่รับซื้อข้าวตามคุณภาพ ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ได้ให้คำแนะนำต้องควบคุมฤดูกาลปลูกเพื่อควบคุมคุณภาพ เน้นการปลูกข้าวแบบปักดำ เพื่อแก้ปัญหาเมล็ดเขียวปน ป้องกันเพลี้ยกระโดด ข้าวไม่ได้คุณภาพ และการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกรควรเก็บเกี่ยวในระยะพลับพลึง ทำให้ข้าวที่ได้มีคุณภาพ และที่สำคัญเกษตรกรต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ นายสุชาติ แก้วสอาด กล่าวอีกว่า สำหรับการผลิตข้าวนาปีแปลงใหญ่ ปี 2560 จะต้องมีแผนการผลิตทุกแปลง และผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GAP โดยมีคณะกรรมการ จากกรมการข้าวตรวจสอบคุณภาพข้าวก่อนการเก็บเกี่ยว อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ถ้าผลผลิตมีคุณภาพกรมการข้าวจะออกใบรับรอง GAP สามารถใช้เป็นหลักฐานรับรองผลผลิตข้าวกับผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อในแปลงใหญ่ได้ ส่วนด้านการตลาด จะมีการส่งเสริม แนะนำกลุ่มทำนาแปลงใหญ่ ต้องทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับผู้ประกอบการโรงสีในพื้นที่ให้ชัดเจน พร้อมมีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อขาย และจัดกิจกรรมตลาดนัดข้าวเปลือกประจำปีการผลิต เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดอีกทางหนึ่งด้วย