ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] ต้นไม้ทรงปลูก (6) ต้นอบเชยน้องเอ๋ยเพราะน้อยฤาถ้อยคำ หวานฉ่ำจริงแล้วเจ้าแก้วเอ๋ย เจ้าเนื้อหอมพร้อมชื่นดังอบเชย เงยหน้ามาจะว่าไม่อำพราง” (เสภาขุนช้างขุนแผน) .................................................................................................. อบเชยมีชื่ออื่นๆให้เรียกขานอีกหลายชื่อ ตามพื้นถิ่นท้องที่ กระแจะโมง กะเชียด กะทังนั้น (ยะลา) กระดังงา (กาญจนบุรี) กะพังหัน โกเล่ เนอม้า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เขียด เคียด เฉียด ชะนุต้น (ภาคใต้) มหาปราบตัวผู้ อบเชย อบเชยต้น (ภาคกลาง) ดิ๊กซี่สอ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) บอกคอก (ลำปาง) ฝักดาบ (พิษณุโลก) พญาปราบ (นครราชสีมา) สะวง (ปราจีนบุรี) ขนุนมะแวง เชียกใหญ่ ในแถบจังหวัดตรัง, จวงดง ในระนอง, ฝนแสนห่าในนครศรีธรรมราช, ระแวงในชลบุรี, มหาปราบในตราด หรือแลงแวง ในปัตตานี แต่ชื่อสามัญเหล่านี้กลับไม่เป็นที่รู้จักเลย เมื่อเทียบกับชื่อสามัญในภาษาอังกฤษอย่าง Cinnamon ที่นำมาทำเป็นส่วนผสมของขนมปัง หรือนำมาโรยหน้าไอศกรีม กาแฟ ของโปรดของสาวๆยุคใหม่ อบเชยเป็นไม้ต้นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ขอบใบเรียบ ดอกย่อยขนาดเล็ก สีขาวแกมเหลือง ผลฉ่ำน้ำ เปลือกต้นมีน้ำมันหอมระเหย อันที่จริงอบเชยได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีการแกะสลักเนื้อไม้อบเชยทำหีบใส่ของที่ป้องกันแมลง ทำเครื่องเรือน หรือนำเปลือกแห้งมาทำเครื่องเทศ นอกจากนั้น อบเชยยังมีสรรพคุณในทางยาได้แก่ รากและเปลือกต้นมีสรรพคุณขับลม บำรุงหัวใจ แก้ปวดท้อง ขับเสมหะ แก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ เนื้อไม้มีสรรพคุณขับเหงื่อ แก้ไข้ ใบมีสรรพคุณแก้ไข้ และแก้มดลูกอักเสบสตรีหลังคลอด เป็นต้น อบเชยขึ้นได้ในสภาพดินทุกชนิด ปลูกได้ในดินร่วน กลางแจ้ง ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง พบกระจายกว้างขวางทั่วไปในเกือบทุกภูมิภาค มีรายงานว่าอบเชยมีถึง 328 ชนิด พบในไทย 18 ชนิด แต่ที่นิยมนำมาค้าขายกันมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ อบเชยจีน (Cinnamomumtamata T. Nees&Eberm.), อบเชยญวน (C. Bejolghota (Buch.-Ham.) Sweet) , อบเชยเทศ (C. zeylanicumBlume) และอบเชยชวา (C. burmaniiBlume) ซึ่งมีการบริโภคเปลือกมากที่สุดในประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2517 เวลา 13.10 น.พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไป ณ หน่วยปรับปรุงต้นน้ำขุนคอง พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9ทรงปลูกต้นอบเชยและพญาเสือโคร่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงปลูกต้นบุนนาค ณ สนามหน้าที่ทำการหน่วยปรับปรุงต้นน้ำห้วยขุนคอง ตำบลคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นได้เสด็จฯทรงเยี่ยมเยียนราษฎรที่มารอเฝ้ารับเสด็จจำนวนมาก ในปีพ.ศ.2519 วันที่ 31 มกราคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ไปยังโครงการหลวงพัฒนาป่าไม้หน่วยที่ 1 ห้วยทุ่งจ๊อ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พระราชทานเสื้อกันหนาวแก่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ พระราชทานผ้าห่มและเมล็ดพันธุ์ผักสำหรับนำไปแจกจ่ายแก่คนงานของโครงการฯหน่วยต่างๆที่ประจำอยู่ ณ ห้วยจ๊อ ม่อนนางเกด กิ่วคอหมา ห้วยน้ำดังในเขตตำบลป่าแป๋ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงปลูกต้นอบเชย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ทรงปลูกต้นพญาเสือโคร่ง ณ บริเวณที่ทำการโครงการ