คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ผมเป็นคนชอบดูการแข่งขันกีฬาคนหนึ่ง เมื่อมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์ (วันที่ 26 พ.ย.-11ธ.ค. 2562) ได้ติดตามดูรายการกีฬาต่างๆ ที่คนชอบ ยอมรับว่ากีฬาที่ชอบที่สุดในห้วงเวลานี้ คือ วอลเลย์บอลหญิง ซึ่งประเทศไทยก้าวไปถึงอันดับที่ 14 ของโลก และกำลังจะได้ไปแข่งโอลิมปิกเป็นครั้งแรก กำลังโดดเด่นในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยกัน กีฬาระดับนานาชาติ จำเป็นต้องแนะนำตัวเองด้วยชื่อในภาษาอังกฤษ มีความรู้สึกว่า ชื่อและนามสกุลของนักกีฬาไทย อ่านยาก และไม่มีหลักเกณฑ์ในการแปลงคำไทยเป็นคำอังกฤษ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีสำนักทางภาษาไทยมานานแล้ว คือ “สำนักราชบัณฑิตยสถาน”ซึ่งมีท่านผู้รู้ระดับ “ราชบัณฑิต” ทั้งที่เป็นข้าราชการประจำ ทั้งที่เป็น “นักปราชญ์” โดยการแต่งตั้งเป็นจำนวนมาก เคยสะดุดชื่อ “บัวขาว” (นักมวยไทย) ที่สะกดเป็นชื่ออังกฤษว่า “Buakaw” และผู้บรรยายหรือคนพากย์ก็ออกเสียงเป็น “บัวแก้ว” ก็มี ก็มานึกว่า เรายังไม่มีหน่วยงานช่วยเหลือกันในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่น่าจะถึงเวลาช่วยกันได้ง่ายขึ้นและกว้างไกลขึ้นได้แล้ว อยากจะให้สำนักราชบัณฑิตฯ เมตตาคิดช่วยเหลือโดยการเปิดช่องทางออนไลน์ (ทางกูเกิล หรือทางยูทูบ ฯลฯ ก็ได้) ให้ผู้ต้องการแปลงชื่อตัวเองเป็นภาษาอังกฤษได้ใช้บริการ หรือได้หลักเกณฑ์การแปลงคำเป็นมาตรฐานเดียวกัน ปัจจุบันบางคนก็ติดกับระบบแปลคำเป็นอักษรโรมันที่เรียกว่า Romanization บางคนก็เห็นว่า ควรยึดตามเสียงในคำไทยเป็นสำคัญ ถ้ายึดตามระบบอักษรโรมัน ก็คงยุ่งยากอยู่ เพราะเสียงในคำไทยที่ใช้อยู่ ไม่ตรงกับเสียงในระบบอักษรโรมัน เช่น “ช” ในระบบอักษรโรมัน ใช้ตัว J แต่ ช ช้าง ของเสียงไทยไปตรงกับ CH “จ” ในระบบอักษรโรมัน ใช้ตัว C แต่ จ จาน ของเสียงไทย ตรงกับ J คิดว่า นี่คือที่มาของคำบางคำที่คนต่างชาติ (เช่น แขก และ ฝรั่ง) ออกเสียงแบบไทยได้ยาก ก็เลยได้ยินเสียง ช และ จ ในเพลงแนวสตริงของวัยรุ่นแปลกไปจากเสียงเพลงลูกทุ่งทั่วไป นานไปก็ทำท่าว่า เสียงแปลกๆ นั้น เป็นที่นิยมของเพลงวัยรุ่น (มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะคนหนุ่มสาวประเภท “ลูกครึ่ง” (ครึ่งไทย ครึ่งฝรั่ง) ซึ่งออกเสียงคำไทยไม่ชัด พาร้องไม่ชัด เมื่อเพลงนั้นดัง (hit) ติดหูคนไทยทั่วไปก็เลยเอาอย่าง กลายเป็นว่า ทุกวันนี้ถ้าร้องเพลงแนวสตริง ต้องออกเสียง ช และ จ ให้ฟังแปลกๆ อย่างนั้น จึงจะเป็นที่ยอมรับของวัยรุ่น เคยฟังเสียงเพลงของแขก เมื่อเขาใส่ทำนองให้บทสวด ก็ได้ทราบว่า แขกออกเสียงตามระบบอักษรโรมัน ซึ่งไทยออกเสียงอย่างนั้นได้ยาก แสดงว่า มีบางเสียงที่แขกและฝรั่งออกเสียงต่างจากไทย ซึ่งเป็นไปได้ เช่นเดียวกันที่คนทางภาคใต้ของไทยออกเสียง ง งู ได้ยาก ทุกวันนี้ เมื่อวัยรุ่นร้องเพลง ออกเสียง ช เป็น ชฺย (กล้ำกัน) เมื่อออกเสียง ธ ธง และ ช ช้าง คล้ายกัน เช่น “เธอ” เป็น “เชอ” หรือออกเสียง จ จาน เป็น จฺย หรือใกล้ไปทาง ชฺย ก็เห็นเป็นดัดจริต แต่ความจริง ลิ้นของคนต่างชาติเขาออกเสียงอย่างไทยไม่ได้มากกว่า ผมเห็นว่า ชื่อ (และนามสกุล) ของไทย น่าจะยึดตามเสียงเป็นสำคัญ คำบางคำที่เขียนบนป้ายบอกทาง ก็น่าจะใช้คำไทยเป็นหลัก เช่น คำว่า “ถนน” เห็นมีบางป้ายเขียนว่า “Thanon” แทน คำว่า Road น่าจะถูกต้องแล้ว เมื่อคนต่างชาติถามคนไทยก็จะเข้าใจกันได้ง่าย เพราะคนไทยทั่วไปค่อนข้างจะอ่อนภาษาอังกฤษ เมื่อได้ยินฝรั่งถามว่า โรด (Road) นั้นไปทางไหน ก็จะงง เพราะไม่รู้ว่า โรด คืออะไร แต่ถ้าฝรั่งใช้คำว่า ถนน (Thanon) ก็จะเข้าใจได้ทันที “ซอย” ก็เขียนว่า Soi ซะเลย ตรงไปตรงมา ไม่ต้องห่วงว่าจะเป็น ซอย (ทางเล็กๆ จากถนน) หรือเป็น “ตรอก” (ทางเล็กๆ จากซอย) คนต่างชาติเห็นคำว่า Soi ก็จะค่อยๆ รู้ได้เองแหละ คำว่า “กรุงเทพฯ” ถ้าเคร่งตามระบบอักษรโรมัน ก็จะเขียนเป็น “Krungdep” คำว่า Dep ไม่เป็น Thep หรือเทพ คนต่างชาติและคนไทย ก็จะไม่เข้าใจกัน นักท่องเที่ยวต่างชาติ มักจะถือแผนที่ (map) ช่วยบอกทางก็ควรจะมีคำอธิบายสั้นๆ ถึงหลักการออกเสียงให้เขารู้ด้วย เทียบคำบางคำให้เขาเรียนรู้ด้วย เช่น คำว่า Road หรือ Rd = Thanon เป็นต้น เคยได้ยินการออกเสียงนามสกุล “ชินวัตร” เป็น “Shinnavatra” (มีคำว่า tra ในตอนท้าย) นั่นแสดงว่า พยายามจะใช้ระบบอักษรโรมันเขียนคำ ซึ่งทำให้ฟังยากและอาจทำให้เข้าใจผิดได้ อยากให้เขียนตามเสียงไทยว่า Shinnawat เห็นชื่อ ชัชชุอร ที่เขียนเป็น Chatchu-on ก็รู้สึกชอบใจเพราะอ่านได้ตรงกับเสียงไทยทันที แต่ “อรอุมา” ที่เขียนว่า Onuma รู้สึกว่า อ่านยากถ้าเขียน On-u-ma ก็น่าจะดี “ปลื้มจิต” เขียนว่า Pleumjit น่าจะเขียนผิดควรจะเป็น Pluemchit มากกว่า คำว่า Jit และ Chit เสียงไทยออกเสียง จิตเป็น Chit แต่เราออกเสียง J เจย์ ก็เลยคิดว่า J ออกเสียงเป็น จ จาน ผมมีเพื่อนแขก (อินเดีย) คนหนึ่งชื่อ “มันยีต” (ออกเสียงเป็น “มันยี้ด”)เขาเขียนชื่อเขาว่า Manjaet คำนี้ ถ้าเขียนด้วยอักษรโรมัน ก็จะเป็น Manacit คือ มนจิต นั่นเอง แต่เข้าใจว่า คงเป็น “มนชิต” (Manajita) ที่แปลว่า ชนะใจ นั่นกระมัง เอาเป็นว่า ชื่อต่างๆ ที่ตั้งขึ้นนั้น ล้วนแต่มีความหมายแต่การออกเสียงชื่อ ก็เพื่อการสื่อสารให้รู้ว่าใครเป็นใคร น่าจะมีความจำเป็นมากกว่า จึงน่าจะเขียนชื่อให้อ่านได้ตรงตามเสียงของเจ้าของชื่อไว้ก่อน และน่าจะมีหลักการในการเขียนให้ออกเสียงตรงตามเจ้าของชื่อ (ในแต่ละประเทศ) ให้แน่ชัด คำว่า “บัวขาว” ที่เขียน ว่า Buakaw ทำให้ผู้บรรยายกีฬาออกเสียงไม่ถูก แต่ถ้าเขียน Buakhao เขาก็จะออกเสียงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ khao (ขาว) เทียบกับคำว่า lao (ลาว) นั่นไง อักษรบางตัวก็สำคัญ ในคำไทย มีอักษรหลายตัวที่ใช้ร่วมกัน เช่น kh=ข ,ค, ฆ k=ก L=ล, ฬ เป็นต้น แต่ตัว ph มีปัญหา เพราะบางที่ก็เท่ากับ ฟ บางทีก็เท่ากับ พ หรือ ป เช่น Philippines (phi=ฟิ) หรือ Philosophy phi=ฟิ) ส่วน Santiphap (phap=ภาพ) Phanompen (phanom=พนม) อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ ph ออกเสียงเป็น ฟ (นานๆ จะเห็นชาวฟิลิปินส์ เขียนชื่อประเทศตัวเองว่า pilipines) สระในคำไทยก็เช่นกัน มีหลายตัวใช้ร่วมกัน เช่น a=อะ (-ะ), อา (-า) (บางคนเข้าใจว่า u เท่ากับ อะ,อา คงเป็นเพราะชินตากับคำว่า buy หรือ run นั่นกระมั่ง?) ถ้าจะให้ปลอดภัยควรใช้ A แทนเสียง อะ (-ะ) หรือ อา (-า) ไว้ก่อน จะได้ไม่มีปัญหาว่าจะออกเสียง u เป็น อะ (ะ) หรือเป็น (อุ) ดี ชื่อนามสกุลของผมเอง คิดว่าจะออกเสียงไม่ยากเพราะเขียนว่า Boonyen (บุญเย็น) แต่เพื่อนแขก(อินเดีย) มักจะเรียกผมว่า บุญเนี่ยน ไม่เป็น “บุญเย็น” เพราะเขาเอา y (ในคำว่า yen) เป็นสระตัวหนึ่งนั่นเอง แทนที่จะเป็นพยัญชนะ ถ้าผมจะเขียนให้เขาออกเสียงเป็น “บุญเย็น” แน่ๆ ต้องเขียนเป็น Boon-yen ผมคิดเรื่องนี้ออกเพราะไปเห็นชื่อของนักกีฬาชาวเวียดนามหลายคนที่มีชื่อ (หรือนามสกุล) ว่า “เหงียน” เขาเขียนเป็นอังกฤษว่า “gnuyen” นั่นเอง ทั้งหมดที่เขียนมาวันนี้ ขอยกให้สำนักราชบัณฑิตยสถานท่านเอาไปพิจารณาครับ อยากให้ท่านเมตตาช่วยเหลือเรื่องนี้ เพื่อให้สมกับที่ประเทศไทยอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งคนไทยจะต้องมีการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนานาชาติมากขึ้น โดยเฉพาะนักกีฬาไทย อยากให้เขามีชื่อ (และนามสกุล) ที่ชาวต่างชาติอ่านได้ง่ายขึ้น มีหลักในการอ่านเป็นมาตรฐานเดียวกัน ขอบคุณชื่อ “ชัชชุอร” ที่เขียน Chatchu-on ทำให้ผมเอะใจว่า เครื่อง – (ไฮเฟ่น) มีประโยชจ์อย่างยิ่ง เพราะถ้าเขียนเป็นChatchu on (แยกคำ on ออกจาก chatchu เฉยๆ) จะมีปัญหาการใช้คำย่อ แทนที่จะเป็น (ตัวเดียว ก็จะเป็น C.O.) เช่นเดียวกับอักษรย่อนามสกุลของผม แทนที่จะเป็น B.ตัวเดียว ถ้าเขียนว่า Boon yen ก็จะต้องเป็นอักษรย่อว่า B.Y.หรือถ้าเขียนเป็น Chatchuon (เขียนติดกัน) ก็จะมีปัญหาอ่านยากอีกเมื่อใช้คำพิมพ์ใหญ่ เช่น Boonyen (ติดกัน) เมื่อเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ ก็จะแยก y ไม่ออก ชื่อ (และนามสกุล) ของคนไทยนับวันจะเขียนยากขึ้นเพราะคนนิยมตั้งชื่อไม่ให้ซ้ำคนอื่น โดยเฉพาะนามสกุล คงจะมีแต่นามสกุลยาวๆ ที่อ่านยากขึ้น- ยากขึ้น และคนก็นิยมตั้งชื่อและนามสกุลด้วยภาษาบาลี - สันสกฤต ซะด้วย เมื่อต่างชาติเรียกชื่อเรา ก็นิยมเรียกด้วยนามสกุลทั้งนั้น คนสมัยใหม่ (โดยเฉพาะวงการดารา-นักร้อง) จึงมักจะเรียกกันด้วยชื่อเล่น (นิคเนม) ตามด้วยชื่อตัว (ไม่เรียกนามสกุล) เช่น “ต่าย” (ชื่อเล่น) “อรทัย” (ชื่อตัว) เป็นต้น วันก่อน มีคนส่ง (สำเนา) บัตรประชาชนมาให้ผมแปลและอ่านชื่อ (และนามสกุล) ของเจ้าของบัตร...ส่งมาทางไลน์ ผมยอมแพ้ ทั้งแปลและอ่านไม่ได้จริงๆ !! (เวลาไปแจ้งชื่อนามสกุล คนเขียนคงเหนื่อย!)