ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] ต้นไม้ทรงปลูก (7) ต้นประดู่ “ เปลวปล่องช่องผาศิลาชะงัก เป็นตระพักชะโงกเงื้อมดูแหงนหงาย เต็งรับปริงปรูประดูลาย งอกงรายริมเชิงบรรพตา บ้างผลิดอกออกช่ออรชร พระพายพัดขจรกลิ่นบุปผา บ้างทรงผลหล่นกลาดพสุธา ฝูงทิชาจับจิกเหล่าลิงชิงฯ” เสภาขุนช้างขุนแผน ประดู่ เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ10-25 เมตรผิวเปลือกลำต้นมีสีดำหรือเทา ลำต้นเป็นพูไม่กลมแตกกิ่งก้านสาขากว้างมีเรือนยอดทึบแตกเป็นสะเก็ดร่องตื้นๆ ใบเป็นช่อแตกออกจากปลายกิ่งมีใบย่อยประกอบอยู่ประมาณ 6-12 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบเป็นมันสีเขียว ใบมีขนาดยาวประมาณ 2-3 นิ้ว กว้างประมาณ 1-2 นิ้ว ออกดอกเป็นช่อออกตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง ผลมีขนเล็กๆ ปกคลุมขนาดผลโต ประมาณ 4-6 เซนติเมตร ประดู่หมายถึง ความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ จะก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ของความร่วมมือร่วมใจกันสืบไป ดังนั้น คนโบราณจึงนิยมปลูกต้นประดู่ เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนในบ้าน มีความรักใคร่สามัคคี โดยที่ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน บ้านทั้งหลัง จึงมีแต่ความสงบสุข ทุกคนจะร่วมมือร่วมแรงใจกันเสมอ ราวกับดอกของต้นประดู่ ที่มักจะระดมกำลังกันผลิบาน จนกลายเป็นสีเหลืองไปทั่วทั้งต้น นอกจากนั้น ประดู่ยังมีประโยชน์ในการสรรค์สร้างเสียงดนตรีได้อีกด้วย เพราะแก่นของต้นประดู่นั้น แข็งแกร่งมาก คนโบราณจึงนำมาประดิษฐ์เป็นระนาด ที่ให้ความบันเทิงแก่ชาวไทยทุกคน มาเป็นเวลาช้านานแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9เสด็จประพาสสวนวนอุทยานวังนกแอ่น(ชื่อในขณะนั้น) ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2501 ในคราวนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “สกุโณทยาน” และได้ทรงปลูกต้นประดู่ไว้เป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลแก่อุทยานด้วยอีกต้นหนึ่ง ปัจจุบัน ทางอุทยานได้มีการนำเมล็ดพันธุ์จากต้นที่ทรงปลูกแจกจ่ายไปยังประชาชนและประชาสัมพันธ์ให้มีการปลูกกันทั้งในสถานที่ราชการและในบ้านพักอาศัยครงการฯ ปีพ.ศ.2509 วันที่ 14 มีนาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯไปทรงเปิดสถาบันราชมงคลอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่น ทรงปลูกต้นประดู่เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สถาบัน วันที่ 4 มิถุนายน 2516 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารีไปยังเขื่อนจุฬาภรณ์ อำเภอชัยภูมิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงปลูกต้นประดู่ สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงปลูกต้นเสลา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงปลูกต้นกัลปพฤกษ์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯทรงปลูกต้นพิกุล อีกคราวหนึ่งครั้งพระบาทสมเด็จพระปปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมรโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการนี้เสด็จฯไปทอดพระเนตรการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ว่ากันว่าได้นำวิทยาการนวัตกรรมสมัยใหม่เข้าไปใช้กับนักเรียนเป็นครั้งแรก ได้ทรงปลูกต้นประดู่ไว้เป็นสิริมงคลอีกต้นหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นประดู่ ณ ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2517 ด้วย วันที่ 12 มีนาคม 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารีไปยังโรงเรียนวังทองพิทยาคม ตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตัดลูกนิมิต จากนั้นเสด็จฯไปทรงปลูกต้นประดู่เพื่อเป็นสิริมงคล วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2533 เวลา 13.10 น.พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อทอดพระเนตรกิจกรรมของศูนย์ฯ ในครั้งนี้ได้ทรงปลูกต้นประดู่ไว้เป็นต้นแบบของการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศึกษาวิชาการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 ด้วยความสนพระราชหฤทัยโดยเฉพาะการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมดังกล่าว การเสด็จฯในครั้งนี้ได้ทรงปลูกต้นประดู่ ณ โครงการเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตระหนักถึงการช่วยกันรักษาป่าธรรมชาติไว้ .........................................