รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล นิทานกริมม์ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ทราบกันดีว่าในนิทานเรื่องสโนว์ ไวท์ แม่มดตัวร้ายเป็น “แม่เลี้ยง” ของสโนว์ไวท์นางเอก และจงใจนำเธอไปทิ้งในป่าด้วยความอิจฉาที่สโนว์ไวท์สวยกว่า แต่ในนิทานฉบับพิมพ์ครั้งแรกของพี่น้องกริมม์ แม่มดตัวร้ายในเรื่องไม่ใช่ “แม่เลี้ยง” ของสโนว์ไวท์ แต่เป็น “แม่จริงๆ” ของสโนว์ ไวท์ต่างหาก เช่นเดียวกับเรื่องฮันเซลกับกราเทล สองพี่น้องที่ถูกพ่อเลี้ยงพาไปทิ้งในป่า ในฉบับพิมพ์ดั้งเดิม คนที่พาพี่น้องไปทิ้งก็ไม่ใช่พ่อเลี้ยง แต่เป็น “พ่อจริงๆ” พี่น้องตระกูลกริมม์ คือจาคอบ และ วิลเฮม เป็นชาวเยอรมัน เกิดในครอบครัวที่ยากจน แต่ได้รับการศึกษาที่ดี ในวัยหนุ่มทั้งคู่ต้องการเป็นนักกฎหมาย แต่มาหันเหทิศทางเมื่อได้พบกับอาจารย์สอนภาษาศาสตร์คนหนึ่ง ที่ชี้แนะให้พี่น้องใส่ใจกับเรื่องวรรณกรรมโบราณ พี่น้องกริมม์จึงเริ่มสะสมหนังสือเก่า ตำนาน นิทานจำนวนมาก ความสนใจนี้ยิ่งออกดอกผลมากขึ้น เมื่อทั้งคู่ได้รู้จักกับกวีและนักเขียนนิยายสองคน คือ Clemens Brentano และ Achim von Arnim ซึ่งกำลังให้ความสนใจนิทานโบราณ และเริ่มเรียบเรียง-จัดพิมพ์ไปจำนวนหนึ่งแล้ว โดยความสนใจวรรณกรรมเก่าแก่ของพี่น้องกริมม์ ยังยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์ความเชื่อของพวกเขา ว่ารากฐานทั้งหมดของวรรณคดีเยอรมันนั้นมีที่มากจากตำนานเรื่องเล่า หรือนิทานเก่าๆ ที่ล้วนแพร่หลายอยู่ในชนชั้นล่าง ดังนั้น การรวบรวมเรื่องเล่าเหล่านี้อย่างเป็นระบบจึงสามารถช่วยในการทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมเยอรมันได้ อย่างไรก็ตาม พี่น้องกริมม์ไม่ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเก็บรวบรวมตำนานเหล่านี้ด้วยตนเอง (อาจมีบ้างแต่ไม่มากครั้ง) และหลักๆ พวกเขาอาศัยหลักฐานจากหนังสือเก่า และบ่อยครั้ง เป็นเรื่องเล่าจากปากคำผู้คนในหลากหลายสาขาอาชีพ มีทั้งชนชั้นสูงผู้มีการศึกษา (ที่อ้างว่าจำนิทานเหล่านี้มาจากคนรับใช้) ทหาร แม่ค้า นักเทศน์ ฯลฯ และหลักฐานต้นฉบับแรกที่พี่น้องกริมม์จดบันทึก ก็ปรากฏว่าเป็นเพียงเรื่องเล่าที่แหว่งวิ่น บางครั้งมีเพียงโครงเรื่องหลวมๆ หรือไม่ก็เป็นบทสนทนาโต้ตอบหยาบๆ จนพวกเขานำมาขัดเกลาเรียบเรียงและพิมพ์ออกมาเป็นเล่มครั้งแรกใน ค.ศ. 1812 จึงถือว่าต้นฉบับจัดพิมพ์ครั้งแรกนั้น เป็นต้นฉบับที่ถูกต้องตรงกับความจริงที่สุด เพราะยังไม่ได้รับการแก้ไขมากนัก ขณะที่ฉบับพิมพ์ครั้งต่อๆ มา วิลเฮม ผู้น้องได้ทำการขัดเกลา แก้ไข เปลี่ยนแปลงเรื่องของนิทานให้สุภาพขึ้น (โดยที่จาคอบผู้พี่ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้สั่งห้ามปรามอย่างจริงจัง) และนิทานของกริมม์ที่แพร่หลายอยู่ในทุกวันนี้ ก็เป็นเรื่องที่อ้างอิงจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 (ค.ศ. 1857) ทั้งสิ้น ส่งผลให้แม่จริงๆ ของสโนว์ ไวท์ ถูกเปลี่ยนมาเป็นแม่เลี้ยง อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ ส่วนสาเหตุในการแก้ไขนิทาน นอกจากศีลธรรมแบบชาวคริสต์แล้ว ยังมีเรื่องของความต้องการเข้าถึงตลาดของชนชั้นกลาง ซึ่งอ่อนไหวกับเรื่องผิดศีลธรรม จนถึงขนาดว่านิทานหลายเรื่องในฉบับพิมพ์ครั้งแรกต้องถูกตัดทิ้ง ตัวอย่างเช่นเรื่อง “เด็กๆ เล่นกันอย่างไรในโรงฆ่าสัตว์” เป็นนิทานสั้นๆ สองเรื่อง เรื่องหนึ่งกล่าวถึงครอบครัวของคนฆ่าสัตว์ ว่าลูกชายของคนฆ่าสัตว์พยายามเลียนแบบการกระทำของพ่อ ด้วยการเชือดคอน้องชายตนเอง ขณะนั้นแม่กำลังอาบน้ำให้น้องเล็ก เมื่อได้ยินเสียงกรีดร้องของเด็กชายที่ถูกเชือดคอ ก็รีบวิ่งลงมาข้างล่าง และเห็นลูกชายคนหนึ่งตาย ด้วยความโมโห เธอจึงเอามีดฆ่าลูกชายคนที่ฆ่าน้อง และขณะนั้นก็นึกได้ว่า กำลังอาบน้ำให้ลูกคนเล็กอยู่ แต่เมื่อกลับขึ้นไป ก็พบว่าลูกคนเล็กนั้นจมน้ำตายเสียแล้ว ด้วยความโศกเศร้า หญิงผู้เป็นแม่จึงผูกคอตาย ส่วนสามีเมื่อกลับมาเห็น ก็เสียใจมาก และตายไปในเวลาไม่นานหลังจากนั้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความสยดสยองที่ถูกกันไม่ใช้ผู้อ่านเห็นในปัจจุบัน และยังมีนิทานอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจยิ่งกว่านี้อีกในต้นฉบับพิมพ์ครั้งแรก หากมีโอกาส คงได้นำมาเล่าให้ฟังอีก