บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน การสื่อสารผ่านเครือข่ายโบราณของจีน ทุกวันนี้สังคมมนุษย์เข้าสู่ “ยุคข้อมูลข่าวสาร” มนุษย์สามารถสื่อสารกันผ่านทาง “เครือข่าย network” ได้มากมาย มากมายจนหมดยุคที่ภาครัฐจะผูกขาดการสื่อสารเอาไว้ได้ ปัจจุบันผู้คนในตัวเมือง หากไม่มีบริการอินเตอร์เน็ต ไม่มีบริการ Wifi ก็คงอยู่อย่างหงุดหงิดมาก เพราะส่วนใหญ่เสพติด “เครือข่าย” ที่ตนเองชอบ การสื่อสารแบบเครือข่ายนั้น มีทั้งคุณและโทษ ใช้ให้เกิดคุณค่ากับมนุษยชาติก็ได้ ใช้ทำลายล้างมนุษยชาติก็ได้ เราต้องรู้จักเลือกรับ เลือกใช้อย่างถูกต้อง คำถามที่คนรุ่นลูกๆ มักสงสัย คือคนโบราณในอดีตไม่มี “เครือข่าย” พวกเขาอยู่กันได้อย่างไร ? ก่อนอื่นต้องอธิบายความหมายของ “เครือข่าย” เสียก่อน เครือข่ายหรือ network การสื่อสารนั้น แม้การสื่อสารในยุคอดีตจะไม่มีโลกอินเตอร์เน็ตที่รวดเร็วอย่างปัจจุบัน แต่ก็มิใช่ว่าคนโบราณไม่เห็นคามสำคัญของการสื่อสารผ่านเครือข่าย สังคมมนุษยชาติพัฒนามาเป็นลำดับด้วยการสื่อสาร และการขยายเครือข่าย เริ่มจากพัฒนาภาษาพูด การสื่อสารกันได้ด้วยสัญลักษณ์ทางเสียงจนเกิดเป็นภาษาพูด เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้มนุษยชาติแตกต่าง หลุดพ้นจากความเป็นสัตว์เดรัจฉาน เครือข่ายมนุษยชาติ เริ่มต้นจากครอบครัว (โคตรตระกูล) รู้จักความจำเป็นของการแต่งงานข้ามโคตรตระกูล รู้จักทำการเพาะปลูก ทำให้หลุดพ้นการเลี้ยงชีพแบบ “เก็บและล่า” สามารถลงหลักปักฐานสร้างบ้านอาศัยอยู่ถาวร จึงเกิดเป็น “อารยธรรม” civilization ขึ้น “ตำนานน้ำเต้าปุง” ในพงศาวดารล้านช้างเล่าว่า กลุ่มคนที่ออกจากน้ำเต้าปุงทาง “ฮูสิ่ว” (รูสิ่ว) มีสามกลุ่มคือ ไทลอ ไทเลิง ไทคว่าง ปัจจุบันชาวไทดำในเวียดนามยังใช้ “สิง” (แซ่ -นามสกุล) ว่า “ลอ” “เลือง” “กว่าง” นับเป็นต้นโคตรตระกูลไทสายใหญ่สายหนึ่ง จาก “เครือข่าย” โคตรตระกูล ขยายตัวเป็นเผ่า พัฒนาเจริญต่อมาเป็นบ้านเป็นเมือง มีผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง มีการแบ่งสาขาอาชีพมากขึ้น บ้านเมืองพัฒนาสลับซับซ้อนขึ้น “เครือข่าย” การสื่อสารก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เมื่อเกิดภาษาเขียนขึ้น บันทึกภูมิปัญญาความรู้ และใช้สื่อสารกัน เครือข่ายการสื่อสารพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับการพัฒนาของชุมชนที่ขยายตัวใหญ่โตและซับซ้อนขึ้น จากบ้านเป็นเมือง เป็นนครรัฐ เป็นสหพันธ์นครรัฐ จนเป็นอาณาจักร แล้วหลายๆ อาณาจักรก็ต้องติดต่อกัน ค้าขายกัน ต่อๆ กันไปหลายทอด เช่น สินค้าจากสุวรรณภูมิและเอเชียตะวันออกแพร่ไปถึงอาณาจักรโรมันในยุโรปได้ เป็นต้น ในการปกครองอาณาจักร การสื่อสารผ่านเครือข่ายต้องพัฒนาขึ้นมาก เพราะความจำเป็นในการรักษาอำนาจของผู้ปกครอง เมื่อเศรษฐกิจสังคมเจริญขึ้น เครือข่ายการสื่อสารในภาคราษฎร (ปัจเจกชน) ก็เจริญตามมา ความมั่นคงของอำนาจการปกครอง , ความเข้มแข็งของกองทัพและการเอาชัยชนะในสงครามขยายอำนาจนั้น ล้วนต้องมีรากฐานการสื่อสารเครือข่ายที่เข้มแข็ง ชัยชนะของเจ็งกิสข่านทั่วเอเชียและยุโรปนั้น นอกจากปัจจัยด้านกองทัพม้าแล้ว ยังมีปัจจัยการสื่อสารผ่านเครือข่ายที่ดีมากด้วย เครือข่ายการสื่อสารในประวัติศาสตร์จีน ในยุคราชวงศ์ซาง ราชวงศ์โจว (สามถึงสี่พันปีก่อน) มีระบบการสื่อสารของรัฐ รับส่งเอกสารด้วยม้าเร็วและรถ(เกวียน)เกิดขึ้นแล้ว หลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้ยึดครองตงง้วนได้ ก็กำหนดให้ใช้ “ตัวอักษร” แบบเดียวกัน ระบบชั่งตวงวัดระบบเดียวกัน ตัดถนนขนาดเดียวกันทั่วตงง้วนและขยายลงมาถึงภาคใต้ด้วย (ตามการยกกองทัพรุกรานภาคใต้) นับเป็นการขยายเครือข่ายการสื่อสารตามเส้นทางถนนที่ตัดขึ้นทั่วดินแดนจีน มาถึงยุคราชวงศ์ถัง การสื่อสารภาครัฐเจริญมาก มีหน่วยงานรับผิดสอบสามส่วนคือ ทางบก ทางน้ำ และเส้นทางบก-น้ำ การสื่อสารโดยม้าเร็วสามารถเดินทางได้วันละแปดร้อยลี้ สื่อเอกสารของภาครัฐที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเกิดในจีนยุคราชวงศ์ถัง (สยามยังไม่ตัวอักษรไทย) เป็นสื่อเอกสารแนว “พระราชกิจจานุเบกษา” เรียกว่า “ตี่เป้า” มีเนื้อหาเรื่อง พระราชโองการของฮ่องเต้ กำหนดการเสด็จของฮ่องเต้ รายนามแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ รายงานการสงคราม การลงโทษ ฯ กลุ่มเป้าหมายของสื่อเอกสารนี้คือ ขุนนาง และปัญญาชนชั้นสูง นี้เกิดขึ้นในยุคราชวงศ์ถัง ใช้วิธีการเขียนลายมือ เจริญสูงสุดในยุคราชวงศ์ซ่ง ใช้พิมพ์บนแม่พิมพ์ เสื่อมลงในยุคราชวงศ์หยวน แล้วกลับรุ่งเรืองขึ้นอีกในยุคราชวงศ์หมิง แล้วล้มเลิกไปในปลายยุคราชวงศ์ชิง หมุดหมายที่สำคัญยิ่งคือ เกิดสื่อเอกสารของภาคประชาชนขึ้นในยุคราชวงศ์ซ่ง เรียกกันว่า “เสี่ยวเป้า” มีเนื้อหาทั้งข่าวราชการ และข่าวซุบซิบทางการเมืองในราชสำนัก นี่นับเป็นเครือข่ายสื่อสารภาคเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และในยุคราชวงศ์ซ่งนี่เอง เกิดระบบตรวจข่าวของทางราชการขึ้น คือเริ่มเข้มงวดควบคุมตรวจสอบสื่อเอกสารของราชการมากขึ้น เรื่องนี้น่าจะเป็นกฏระเบียบการเซนเซอร์ข่าวในเครือข่ายที่เก่าที่สุดในโลกด้วย มาถึงยุคราชวงศ์หมิงซึ่งเศรษฐกิจสังคมเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก จึงเกิดธุรกิจรับ-ส่งจดหมายและสิ่งของ (ไปรษณีย์) ภาคเอกชนขึ้น มันคงเป็นรากฐานของระบบ “โพยก๊วน” ที่คนเชื้อสายจีนในไทยใช้ติดต่อกับเครือญาติในจีนแผ่นดินใหญ่ยุคที่รัฐบาลไทยยังไม่มีสัมพันธภาพกับจีนแดงนั่นเอง ในรัชกาลกวงสู่ฮ่องเต้ มีกิจการเอกชนรับส่งจดหมายและสิ่งของภาคเอกชนหลายพันราย มีเครือข่ายสาขากิจการทั่วดินแดนจีนและในต่างประเทศ อย่าดูถูกคนโบราณ เพราะหากไม่มีรากฐานระบบเครือข่ายในอดีตกาล สังคมก็ไม่อาจพัฒนาเจริญมาถึงทุกวันนี้หรอก คนโบราณก็มีเครือข่ายแบบโบราณ แม้การสื่อสารในโลกอินเตอร์เน็ตยังไม่เกิดขึ้น แต่การใช้เครือข่ายสื่อสารของโบราณอย่างถูกต้อง พัฒนาปรับปรุงสร้างสรรค์มาตลอด จึงทำให้เกิดเครือข่ายการสื่อสารที่รวดเร็วอย่างปัจจุบัน ตี่เป้า - ราชกิจจานุเบกษา ยุคราชวงศ์ซ่ง (ก่อนสมัยสุโขทัย) เสี่ยวเป้า – หนังสือพิมพ์เอกชนยุคราชวงศ์ซ่ง (ก่อนสุโขทัย)