ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] การเป็นคนดีซื่อสัตย์สุจริต ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้เป็นคนดี โดยเฉพาะการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนส่วนใหญ่ในสังคมเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ขออัญเชิญพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต และการส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง พระราชทานในโอกาสต่างๆ เริ่มต้นด้วยหลักทศพิธราชธรรม คือ ธรรมในการใช้พระราชอำนาจและการบำเพ็ญประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร์ ประกอบด้วย (1) การให้ (2) การบริจาค (3) ความประพฤติดีงาม (4) ความซื่อตรง (5) ความอ่อนโยน (6) ความทรงเดช (7) ความไม่โกรธ (8) ความไม่เบียดเบียน (9) ความอดทน และ (10) ความไม่คลาดเคลื่อนในธรรม พระราชดำรัสเกี่ยวกับความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต พระราชทานในโอกาสที่ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2526ความตอนหนึ่งว่า “...ซื่อสัตย์สุจริตนี้มีความสำคัญ เพราะถ้าหากว่าแต่ละคนมีความตั้งใจแล้ว แต่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตก็ไม่มีเป้าหมายที่แน่นอนจะเปะปะไปทางโน้นทีทางนี้ที ไม่มีทางที่จะสำเร็จในงานการใดๆ ฉะนั้น การที่มีความซื่อสัตย์สุจริตนั้นมีความสำคัญอยู่อันดับแรกก็คือ การให้รู้จักเป้าหมายของงาน คือ ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ...” พระราชดำรัสเกี่ยวกับการที่สังคมมีคนซื่อสัตย์สุจริตอาศัยอยู่ พระราชทานในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำกระทรวงเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2540 ความตอนหนึ่งว่า “...ในประเทศชาตินี้ ก็มีคนที่สุจริต และมีคนที่ทุจริต ถ้าคนที่สุจริตซึ่งมีมาก ไม่สามารถที่จะป้องกันตัวจากทุจริตชน ก็ทำให้ประเทศชาติล่มจม...” พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับองค์ประกอบการทำงานให้สำเร็จ พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือนเนื่องในวันข้าราชการพลเรือนวันที่ 1 เมษายน 2518 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2526 ความตอนหนึ่งว่า “...การทำการงานสร้างเกียรติยศชื่อเสียงและความเจริญก้าวหน้า นอกจากจะต้องใช้วิชาความรู้ ที่ดีแล้ว แต่ละคนยังต้องมีจิตใจที่มั่นคงในความสุจริตและมุ่งมั่นต่อความสำเร็จเป็นรากฐานรองรับ...” พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการทำงานให้บรรลุเป้าหมายและประโยชน์ที่พึงประสงค์อย่างแท้จริง พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือนเนื่องในวันข้าราชการพลเรือนวันที่ 1 เมษายน 2518 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2528 ความตอนหนึ่งว่า “...การทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถสองอย่างเป็นสำคัญ คือสามารถในการใช้วิชาความรู้อย่างหนึ่ง สามารถในการประสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกอย่างหนึ่งทั้งสองประการนี้ ต้องดำเนินคู่กันไปและจำเป็นต้องกระทำด้วยความสุจริตกาย สุจริตใจ ด้วยความคิดความเห็นที่เป็นอิสระปราศจากอคติ และด้วยความถูกต้องตามเหตุตามผลด้วย จึงจะช่วยให้งานบรรลุจุดหมายและประโยชน์ที่พึงประสงค์โดยครบถ้วนแท้จริง...” พระราชดำรัสเกี่ยวกับกำลังสำคัญของบ้านเมือง พระราชทานแก่นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน มูลนิธิ องค์กรต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาวันที่ 5 ธันวาคม 2518 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2518 ความตอนหนึ่งว่า “...ประเทศไทยนี้ทำไมอยู่ได้ ก็เพราะพวกเราทุกคน ถ้าเราสร้างความดี คือ ทำปฏิบัติในสิ่งที่บริสุทธิ์ใจที่สุจริต ที่ตั้งใจดีมันอาจมีผิดพลาดบ้าง แต่ว่าไม่ได้ตั้งใจผิดพลาด ตั้งใจทำดี ก็เป็นการสร้างกำลังของบ้านเมืองทำให้เป็นเหมือนฉีดยาป้องกันโรค...” พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง พระราชทานในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2512 ความตอนหนึ่งว่า “…ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ในพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย จึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกร่วมกันศึกษาพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทและพระราชจริยวัตรที่แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์สุจริต และน้อมนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเองเพื่อ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวไกลต่อไปตราบนานเท่านานเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ดังพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2513 ความตอนหนึ่งว่า “...ความเจริญของประเทศชาติเป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลงานหรือผลของการกระทำของคนทั้งชาติ ถือได้ว่าทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำประโยชน์ให้แก่ชาติตามความถนัดและความสามารถ และต่างคนต่างก็ได้เกื้อกูลกันและกัน...”