พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้าร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบูรณาการข้อมูล เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการจัดทำฐานข้อมูลเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพื่อการบริหารจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งระบบ (Tourism Intelligence Center : TIC) ระยะที่ 2 โดย อพท. ได้นำข้อมูลด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษ ที่ อพท. ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ในระบบสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Tourism Information System) หรือ TIS ที่ อพท. ได้พัฒนาขึ้นมานานกว่า 5 ปี ซึ่งมี 5 ข้อมูลหลักที่หน่วยงานอื่นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่ ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษรายประเภท ข้อมูลโครงการตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น โลว์คาร์บอน ครีเอทีฟทัวริสซึ่ม ข้อมูลการประเมินศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษฯ ข้อมูลรายได้และข้อมูลการสำรวจระดับความอยู่ดีมีสุขของชุมชนในพื้นที่พิเศษ รวมถึงผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน “ในการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบูรณาการข้อมูล ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของภาครัฐ ถือเป็นมิติใหม่ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศได้ริเริ่มดำเนินการมาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการพยายามตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของรัฐบาลและ คสช. ที่มุ่งหวังให้ภาครัฐของไทย เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับเพื่อปรับตัวให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่แท้จริง ที่มีการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและบริการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อเป็นกลไกในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ ประเทศไทย 4.0” พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค กล่าว ทั้งนี้เมื่อทุกหน่วยงานนำข้อมูลมาบูรณาการร่วมกัน และมีการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่แล้ว ประโยชน์ที่ได้ก็จะตกอยู่กับประชาชน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคบริการขนาดใหญ่ มีภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากและหลากหลาย และมีการแข่งขันสูง จึงจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลสารสนเทศจำนวนมากที่มีมาตรฐาน ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง เพื่อที่ผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวได้รอบด้านและทันการณ์ รวมถึงสามารถกำหนดนโยบายเพื่อตัดสินใจในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และระบบการบริการด้านการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเหมาะสมกับงบประมาณ โดย นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวต่อว่า การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจร่วมกัน หรือเอ็มโอยู ด้านความร่วมมือ เพื่อการบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อนำเข้าสู่ระบบ Tourism Intelligence Center หรือ ระบบ TIC เป็นการร่วมกับ 9 หน่วยงานภาคี ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาล นโยบาย Thailand 4.0 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวไทย โดยการพัฒนาระบบ Tourism Intelligence Center (TIC) ขึ้น โดยดำเนินงานภายใต้ความรับผิดชอบของ กองเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและกีฬา (กทก.) สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการท่องเที่ยวของประเทศ หรือ ระบบ TIC เน้นบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวไทยจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการใช้ข้อมูลจากระบบดังกล่าวในการบริหารจัดการข้อมูล การวางแผน และการจัดทำนโยบายพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น