ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] หลักธรรมในการบริหารประเทศตามแนวพระราชดำริ ตลอดระยะเวลากว่า 7๐ ปี ที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ทรงครองแผ่นดินนี้โดยธรรม ตามหลักทศพิธราชธรรมเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรเสมอมา และได้พระราชทานพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติตนของผู้ปกครอง ตลอดจนศีลธรรมที่จำเป็นเพื่อสร้างสันติสุขและความมั่นคงในสังคมไทยแก่พสกนิกรตลอดจนคณะผู้บริหารเสมอมา ทศพิธราชธรรม คือ จริยวัตร ๑๐ ประการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9ทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจําพระองค์หรือเป็นคุณธรรมประจําตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรม และยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนและประเทศชาติ ทศพิธราชธรรม ประกอบด้วย ๑๐ ข้อ ได้แก่ ข้อ ๑ ทาน หมายถึง การให้การเสียสละ นอกจากเสียสละทรัพย์สิ่งของแล้ว ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่ผู้อื่นด้วย ข้อ ๒ ศีล หมายถึง ความประพฤติที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา และใจ ให้ปราศจากโทษทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมายและนิติราชประเพณีและในทางศาสนา ข้อ ๓ ปริจจาคะ หมายถึง การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม ข้อ ๔ อาชชวะ หมายถึง ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดํารงอยู่ในสัตย์สุจริต ข้อ ๕ มัททวะ หมายถึง การมีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผล ที่ควรมีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโส และอ่อนโยน ต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า ข้อ ๖ ตปะ หมายถึง มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดย ปราศจากความเกียจคร้าน ข้อ ๗ อักโกธะ หมายถึง การระงับความโกรธ ไม่มุ่งร้ายผู้อื่น แม้จะลงโทษผู้ทําผิด ก็ทําตามเหตุผล ข้อ ๘ อวิหิงสา หมายถึง การไม่เบียดเบียนหรือบีบคั้น ไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น ข้อ ๙ ขันติ หมายถึง การมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาอาการ กาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย ข้อ ๑๐ อวิโรธนะ หมายถึง ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคําพูด อารมณ์หรือลาภสักการะใด ๆ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยอย่างหาที่เปรียบมิได้ขอเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศร่วมเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทตามหลักทศพิธราชธรรมและจากพระราชดำรัส จากพระบรมราทเกี่ยวกับการบริหารประเทศและการปฏิบัติตนของผู้ปกครอง พระราชดำรัสพระราชทานในการเสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๒ ความตอนหนึ่งว่า "...ขอให้ทุกฝ่ายจงสมัครสมาน กลมเกลียวกันบำเพ็ญ กรณียกิจเพื่อความเจริญ รุ่งเรืองวัฒนาถาวรของ ประเทศชาติและเพื่อ ความสมบูรณ์พูนสุข ได้บังเกิดแก่อาณาประชา ราษฎร์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป..." พ ระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๑๒ ความตอนหนึ่งว่า "...ท่านผู้ใหญ่ไปตรวจราชการที่ไหนถ้าไปถึงไม่มีใครเลี้ยงก็โกรธ แต่ถ้าไปถึงแล้วเลี้ยงก็พอใจแต่ ว่าเงินที่เลี้ยง... เอามาจากไหน เมื่อไม่ มีเงินรับรอง ของส่วนภูมิภาคก็ต้องไปเรี่ยไร กัน ไปเรี่ยไรจากข้าราชการชั้น ผู้น้อย หรือ ไม่อย่างนั้นก็ไปขูดรีดจาก พ่อค้า แล้วพ่อค้าก็ต้องถือว่า เป็นการลงทุน มันก็กลายเป็นคอรัปชั่นไป..." พระบรมราโชวาท พระราชทานในพิธีเปิดงานชุมชุมลูกเสือแห่งชาติ จังหวัดชลบุรี ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ ความตอนหนึ่งว่า "...ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คน ทุกคนเป็นดีได้ทั้งหมด การทำให้ บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ ทุกคนเป็นคนดี หาก แต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้ มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้..." พระบรมราโชวาท พระราชทานในโอกาสพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๓ ความตอนหนึ่งว่า “...ถ้าประชาชนไม่มีที่พึ่ง ไม่มีผู้ใดเอาใจใส่ พอ พึ่งทางราชการ ไม่ได้ ก็ต้องหันไปพึ่งผู้กว้างขวางผู้มีอิทธิพล จึงเป็นหน้าที่ของทาง ราชการที่จะปฏิบัติงาน เพื่อให้การบริการของ ราชการได้เข้าถึงประชาชน โดยทั่วถึงและทำด้วยความสุจริต..." พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ ณ พระตำหนักภูพิงค์ ราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ความตอนหนึ่งว่า "...รัฐบาล เป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติงานสำคัญ สำหรับความ อยู่เย็นเป็นสุขของชาติบ้านเมือง จึงต้องบริหารให้ดี ให้สอดคล้องกัน ถ้าผู้ที่ บริหารประเทศปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์ด้วย ความอดทนก็นำส่วนรวม ไปสู่ทางที่ดีได้..." พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ความตอนหนึ่งว่า "...ประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ในทางที่ดีนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ ด้วยการลงมือทำ หมายความว่าจะต้อง นำความรู้ความสามารถที่มีอยู่นั้น มาใช้งาน ลงมือใช้เมื่อไหร่ เพียงใดประโยชน์ ก็เกิด เมื่อนั้น เพียงนั้น เมื่อ ยังไม่ลงมือ ทำประโยชน์ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะมีความรู้ ความสามารถมากมายเพียงใด ถ้าไม่นำใช้ก็ ปราศจากประโยชน์..." พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะรัฐมนตรีที่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๙ ความตอนหนึ่งว่า "...รัฐบาลนั้น เป็นสถาบันหนึ่งในสถาบันสำคัญของประเทศ จึง ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยถือว่าชาติ บ้านเมืองเป็นหมายสำคัญ และความ อยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นสิ่งที่ปรารถนา ด้วย การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ ตั้งใจจริง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และขยันหมั่นเพียร..." พระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๓๘ ความตอนหนึ่งว่า "...ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใดอยู่ ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงด้วยความรู้ความสามารถด้วยความจริงใจ พร้อมใจ และความเมตตา ปรารถนาดีต่อกัน ผลการปฏิบัติของแต่ละคน แต่ละฝ่าย จักได้ ประกอบ และส่งเสริมกัน เป็นความมั่นคงวัฒนา ของ ประเทศชาติ..."   70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เสียสละ ด้วยทรงตั้งพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าเพื่อสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศเพื่อความอยู่ดีมีสุข โดยมิทรงคำนึงถึงการทรงตรากตรำเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย สมดังที่นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ไว้ เมื่อองค์การสหประชาชาติทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ความตอนหนึ่งว่า “...พระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์เอื้อไปยังบรรดาผู้ที่ยากจนที่สุด และเปราะบางที่สุดในสังคมไทย ทรงรับฟังปัญหาของพวกเขาเหล่านั้น และให้ความช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นให้สามารถยืนหยัดดำรงชีวิตของตนเองต่อไปได้ด้วยกำลังของตัวเอง... โครงการเพื่อการพัฒนาชนบทต่างๆ ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังประโยชน์ให้กับประชาชนนับเป็นล้านๆ ทั่วทั้งสังคมไทย...”