ในภาษาอังกฤษมีคำแปลกๆอยู่แยะเป็นเพราะภาษาอังกฤษมีรากเหง้ามาจากหลายภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาละตินหรือภาษาโรมันโบราณที่ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้วหรืออาจมีการใช้ในบางพื้นที่แต่พบได้ค่อนข้างยาก นอกจากนี้ยังมีรากภาษามาจากเยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน หรือแม้กระทั่งภาษาอาหรับ กระทั่งภาษาฮินดีและบาลีก็ยังมี ความที่มีคำแปลกอยู่มากจึงต้องมีวิธีการช่วยจำ คำว่าวิธีช่วยจำซึ่งในภาษาอังกฤษใช้ว่า Mnemonic อ่านว่า “เน็มออนอิก” อ่านเร็วๆคือ “เนมอนิก” คำนี้เป็นคำแปลกเช่นเดียวกัน เขียนก็ยากทั้งยังจำวิธีอ่านได้ค่อนข้างยากจึงต้องมีวิธีช่วยจำคำว่าวิธีช่วยจำเพิ่มเติมเข้าไปด้วย มีการเล่นคำในภาษาอังกฤษ โดยใช้ว่า There’s No EM when you say “Nem On Ic” แปลว่าไม่มีตัวเอ็มเมื่อพูดว่าเน็มออนอิก คือต้องมีวิธีช่วยจำคำว่าวิธีช่วยจำ ซึ่งวิธีช่วยจำที่ว่านี้มีการใช้อยู่ในทุกชาติทุกภาษา ในภาษาไทยเองก็มีอยู่มากอย่างเช่นการจำอักษรกลางในภาษาไทย ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ ใช้วิธีง่ายๆโดยให้จำว่า “ไก่จิกเต็กตายบนปากโอ่ง” จำแบบนี้ถือว่าเป็นวิธีช่วยจำเหมือนกัน ยังมีอีกหลายวิธีที่จะช่วยให้จดจำได้ ลองไปเล่นดู หากได้ฝึกฝนบ่อยๆจนกระทั่งสามารถจดจำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้แม่นยำ เรื่องที่ว่านั้นในทางวิชาการพบว่าสามารถจดจำได้นานถึงสี่เดือน ซึ่งนานไม่ใช่เล่น นักวิชาการด้านประสาทวิทยาอย่างเครก สตาร์ก (Craig Stark) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเออร์วิน (University of California, Irvine) ให้ข้อสรุปออกมาว่าสมองนั้นยืดหยุ่น หากหมั่นใช้มันย่อมเปลี่ยน การใช้สมองบ่อยๆ ฝึกให้มันจดจำสิ่งต่างๆ บ่อยครั้งเข้า สมองสามารถจดจำสิ่งต่างๆได้อย่างอัตโนมัต หากไม่ลองใช้สมองเลย สมองไม่ได้รับการฝึกฝนจะทำให้มันทำงานยาก จดจำอะไรไม่ค่อยได้ หลายคนที่ชอบบ่นว่าขี้หลงขี้ลืมหรือ สมองไม่ดี จดจำอะไรไม่ได้ บางคนเชื่อด้วยซ้ำว่าตนเองเป็นคนทึ่มหรือโง่ ลักษณะอย่างนี้เป็นเพราะไม่เคยฝึกฝน เหมือนการเล่นเครื่องดนตรีนั่นแหละ คิดจะเล่นกีตาร์หรือเปียโน หากไม่เคยฝึกฝนเลย ย่อมเล่นได้ยาก นิ้วมือติดขัดไปหมด แต่เมื่อลองได้ฝึกฝนบ่อยๆ นิ้วมือก็ย่อมพลิ้วไหวไปกับอุปกรณ์ดนตรีที่ว่านั้น สมองไม่ต่าจากนิ้วมือ ทำงานได้คล้ายกัน ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ฝึกสมอง ผมเองมีอยู่ช่วงหนึ่งประมาณสิบห้าปีมาแล้ว รู้สึกตนเองว่าขี้หลงขี้ลืม จดจำอะไรไม่ได้ คล้ายมีอาการเริ่มต้นของอัลไซเมอร์สยังไงยังงั้น วางกุญแจรถแล้วหาไม่เจอว่าไปวางไว้ที่ไหน สับสนจดจำไม่ได้แม้กระทั่งชื่อเพื่อนของตนเอง ผิดปกติบ่อยๆอย่างนั้นจึงไปพบแพทย์ทางด้านประสาทวิทยาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์ก็ดีใจหาย คุยเรื่องอาการกันสักพักท่านก็ให้หนังสือช่วยจำเล็กๆมาเล่มหนึ่ง ในเล่มมีวิธีช่วยจำหรือเนมอนิกอยู่หลายวิธี คุณหมอเขียนคำมาให้ห้าสิบคำแนะนำด้วยว่าให้ลองไปจดจำมา ทั้งห้าสิบคำไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย อย่างเช่น พัดลม ลูกโป่ง สามสิบสอง ต้นไม้ สองส่วนสี่ นัดหมออีกครั้งผมจำได้หมดทั้งห้าสิบคำ หากจะเพิ่มเป็นร้อยคำก็ไม่มีปัญหา สรุปเอาว่าสมองไม่ได้เป็นอะไร ความจำยังดีอยู่เพียงแต่ขาดการฝึกออกกำลังสมองเท่านั้น สมองไม่ต่างจากร่างกายคือต้องการพักและต้องการออกกำลังกาย เพียงแต่คนทั่วไปมักชินกับการออกกำลังกายกล้ามเนื้อโดยไม่รู้วิธีออกกำลังกายสมอง วิธีการฝึกออกกำลังสมองทำได้ไม่ยากเท่าไหร่ เมื่อรู้วิธีแล้วย่อมสามารถพัฒนาความจำขึ้นมาได้ชนิดที่ตัวเราเองยังแปลกใจ สมองแต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกัน เฉพาะส่วนของความจำ มีสมองเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลไกการจดจำนับพันจุด การทำงานของเซลล์สมองเกี่ยวข้องกับการสร้างจุดเชื่อมระหว่างเซลล์หนึ่งกับอีกเซลล์หนึ่งอาจเป็นเซลล์ที่อยู่ติดกันหรือห่างออกไปไกลก็ได้โดยสมองมีแขนขายื่นยาวออกไปแตะ บริเวณที่แขนขาของเซลล์หนึ่งยื่นไปแตะกับอีกเซลล์หนึ่งนั้นสร้างเป็นจุดเชื่อมที่เรียกกันว่าซินแนปส์ (Synapse) แค่แตะกันบางๆโดยบริเวณจุดแตะนั้นมีการสร้างสารเคมีที่เป็นกึ่งสารฮอร์โมนให้กระโดดข้ามจากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง การสร้างสารเคมีเหล่านี้เกิดได้รวดเร็วมาก หากฝึกฝนสมองบ่อย เซลล์ประสาททำงานได้อย่างกระฉับกระเฉง กลไกการสร้างจุดเชื่อมและสารเคมีสามารถเกิดขึ้นได้อย่างอัตโนมัตชนิดแทบไม่น่าเชื่อเลย นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเออร์วิง ทำการศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการจดจำของคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นคนอเมริกันที่เป็นแชมเปี้ยนหรือเกือบเป็นแชมเปื้อนการแข่งขันทดสอบความจำโลกคนกลุ่มนี้เลือกมาทั้งหมด 17 คน ส่วนกลุ่มที่สองเป็นคนปกติทั่วไปที่ไม่เคยฝึกฝนวิธีการจดจำมาก่อน คนกลุ่มหลังนี้มีจำนวน 51 คน จะบอกว่าคนกลุ่มแรกเป็นอัจฉริยะ ส่วนกลุ่มสองเป็นนายทึ่มก็คงไม่น่าเกลียดเพื่อที่จะได้เทียบกันได้ง่ายๆ งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Neuron วอลุ่มที่ 93 วันที่ 8 มีนาคม 2017 นักวิจัยนำโดย M Dresler หัวข้องานวิจัยคือการฝึกวิธีการจำช่วยปรับเครือข่ายสมองให้เกิดภาวะอัจฉริยะทางด้านความจำได้ (Mnemonic training reshapes brain networks to support superior memory) วิธีการทดลองไม่ได้มีอะไรยาก ทำโดยแบ่งกลุ่มนายทึ่มจำนวน 51 คนออกเป็นสามกลุ่ม โดยกลุ่มแรกทำการฝึกวิธีการช่วยจำโดยใช้เทคนิค Loci ซึ่งเป็นเทคนิคเก่าที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ วิธีการคือหาหนทางจดจำโดยการสร้างจินตนาการที่ผิดปกติกับคำที่ได้รับมานั้น กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ใช้วิธีการจำแบบท่องจนกว่าจะจดจำเข้าไปในสมองได้ ไม่มีวิธีการอะไรเป็นพิเศษ ส่วนกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่ไม่มีการฝึกอะไรเลยแม้แต่อย่างเดียวปล่อยให้เป็นนายทึ่มดังเดิม เริ่มต้นก่อนการทดลองทำการทดสอบความจำคำต่างๆรวมทั้งสิ้น 72 คำ ปรากฏว่ากลุ่มอัจฉริยะจดจำได้ 70.8 คำขณะที่กลุ่มนายทึ่มก่อนแยกกลุ่มจดจำได้แค่ 39.9 คำเท่านั้น ภายหลังทำการฝึกอยู่นาน 6 สัปดาห์ปรากฏว่าคนกลุ่มแรกที่ได้รับการฝึกแบบ Loci สามารถจดจำคำได้ใกล้เคียงกับกลุ่มอัจฉริยะ จะบอกว่าเปลี่ยนจากนายทึ่มเป็นอัจฉริยะก็คงไม่ผิด ส่วนกลุ่มที่สามยังคงแย่อยู่เช่นเดิม ในขณะที่กลุ่มที่สองแม้ความจำดีขึ้นแต่ไม่ดีเท่ากับกลุ่มแรก กล่าวโดยสรุปคือการจดจำนั้นสามารถฝึกฝนได้หากรู้วิธีการฝึก เมื่อสมองได้ออกกำลังกายอยู่บ่อยความจดจำย่อมพัฒนาขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ควรรับรู้ไว้คือการจดจำได้แม่นยำกับความฉลาดเฉลียว ไหวพริบปฏิภาณดี แก้ปัญหาเก่งนั้นเป็นคนละเรื่อง อย่าเข้าใจว่าจดจำดีแล้วหมายความว่าฉลาดขึ้นจนเป็นอัจฉริยะนั่นเป็นความเข้าใจผิด อยากเก่งอยากเป็นอัจฉริยะด้านการทำงานตัวจริงก็ต้องหมั่นหาประสบการณ์ในเรื่องงานจะใช้วิธี Loci อาจไม่ได้ผลสักเท่าไหร่ คอลัมน์ สนุกกับเทคโนโลยี|ดร.วินัย ดะห์ลัน (ภาพจาก http://goalnation.com/soccer-players-creating-soccer-race-tracks/)