ปรับกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เน้นทักษะจากหลักสูตรพัฒนาคุณภาพ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมองค์กรหลักของ ศธ. ที่มีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้พิจารณาผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ประจำปีการศึกษา 2559 ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) นำผลคะแนนมาวิเคราะห์เป็นรายจังหวัดจำนวน 15 จังหวัด พบว่าผลคะแนน O-NET สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคมได้อย่างชัดเจน คนรวยจะทำคะแนนได้สูง คนจนจะทำคะแนนได้ต่ำ โดยจังหวัดที่มีคะแนน O-NET สูงจะเป็นจังหวัดใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต เป็นต้น ส่วนจังหวัดที่มีคะแนน O-NET รั้งท้าย จะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ เช่น กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สามารถสรุปได้ 4ประเด็น คือ 1.ภาพรวมของคะแนน O-NET เป็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำมากกว่าปัญหาเชิงคุณภาพ 2.คะแนนคล้ายกันในทุกวิช ของทุกจังหวัด คือจังหวัดไหน O-NET ต่ำก็จะต่ำทุกวิชา จังหวัดไหน O-NET สูงก็จะสูงทุกวิชา 3.เป็นคะแนนแบบเกาะกลุ่ม และ 4.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะได้คะแนนต่ำกว่า แต่ถ้าดูคะแนนทุกวิชา ก็จะพบว่าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้นโยบายว่า การแก้ปัญหาจะต้องเจาะเป็นรายจังหวัด และทบทวนกิจกรรม “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” จากที่เน้นเรื่องหลักสูตรเสริมมากกว่าหลักสูตรปกติ ก็ต้องปรับใหม่โดยนำหลักสูตรปกติมาพัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้น