กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ 3 อ 2 ส ในระดับดี เพียงร้อยละ 1.6 เร่งขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพสู่ประชาชน วันนี้ 31 มี.ค.60 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ (Promotion and Prevention Excellence Strategic Plan Forum) ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร ว่า จากการทบทวนสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพของประเทศไทย พบว่าความรอบรู้ด้านสุขภาพมีน้อยมากและยังไม่ครอบคลุมทุกมิติ โดยผลการสำรวจจากกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ 3 อ 2 ส (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุรา) ปี 2557 พบว่า ประชาชนในช่วงอายุ 15 – 55 ปี มีความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ในระดับพอใช้ ร้อยละ 59.4 และระดับดีเพียงร้อยละ 1.6 ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงจำเป็นต้องพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน โดยการยกร่างแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็นระดับประเทศและระดับภาค บูรณาการทั้งในระดับบน (Top down) และระดับพื้นที่ (Bottom up) นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพทั้ง 12 เขต และกรุงเทพมหานคร ตลอดจนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปความรอบรู้ด้านสุขภาพและการสื่อสารสุขภาพตามข้อเสนอแนะของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี ทางด้าน นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชาชนจะอายุยืนยาวพร้อมสุขภาพยอดเยี่ยม ต้องมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สามารถจัดการสุขภาพได้ด้วยตนเอง (Self Management) และอยู่ในสังคมรอบรู้ (Literate Society) เพื่อเตรียมคนคนไทยให้แข็งแรงสุขภาพดีพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ด้วยยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ (Promotion and Prevention Excellence Strategic Plan Forum) โดยจัดทําแผนให้มีทิศทางเดียวกัน มีการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ การนําแผนสู่การปฏิบัติ และมีระบบปฏิบัติการ เปลี่ยนจากการทํางานตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละสํานัก กองต่างๆ เป็นการทํางานร่วมกันแบบหุ้นส่วน เป็นกลุ่ม (clusters) พึ่งพาอาศัยกัน มีความผูกพันและเห็นความสําคัญซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถทํางานข้ามวัฒนธรรมการทํางานแบบเดิม (Cross-functions) เข้าใจงานทุกระบบทํางานได้หลากหลาย มีความคิดสร้างสรรค์มีความสามารถด้านเทคโนโลยีและผลิตนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการ พร้อมรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ของคนและสังคมไทย “การผลักดันให้คนไทยทุกกลุ่มวัยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และมีอายุยืนยาวพร้อมสุขภาพยอดเยี่ยมจำเป็นต้องรวมพลังภาคีทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์กระทรวงสาธารณสุข “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” และตอบโจทย์ผลลัพธ์ของชาติตามวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2560-2579“มั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด