ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา “จากฝั่งไทย..ข้ามฝั่งโขง พระมหากรุณาธิคุณแผ่ไพศาล” วารสารมูลนิธิชัยพัฒนา อาจมีหลายคนยังไม่เคยได้รับทราบว่า นอกเหนือจากบนผืนแผ่นดินประเทศไทยที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ราษฎรแล้ว ยังมีพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับประเทศไทยมาอย่างลึกซึ้งและยาวนานที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากการเสด็จพระราชดำเนินไปแล้วพระราชทานประโยชน์สุขให้อีกด้วย โครงการจัดตั้งแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน ณ มหาวิทยาลัยจำปาสัก เป็นโครงการหนึ่งในอีกหลายๆโครงการ ที่เกิดขึ้นจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชมโครงการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยจำปาสัก เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ในครั้งนั้นผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำปาสักได้กราบบังคมทูล เรื่องการบริหารงานและการดำเนินการต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนอาคารสถานที่ และอุปกรณ์ด้านการศึกษาต่างๆ รวมทั้งขาดแคลน Know – How ที่มีความจำเป็นต่อการศึกษาเรียนรู้ของนักศึกษา เมื่อทรงทราบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาประสานไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือ เพราะแม้ว่าการขาดแคลนสิ่งต่างๆ ดังกล่าวจะไม่ได้เกิดขึ้นในอาณาเขตบริเวณประเทศไทย แต่หากการขาดแคลนที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา นั้นย่อมจะหมายถึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศสปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย และมีความสำคัญต่ออธิปไตยในเขตอาเซียนด้วย โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา กับมหาวิทยาลัยจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนา Know – How ด้านการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นการพัฒนาในองค์รวมจึงถือกำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2549 เจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนาพร้อมผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านการพัฒนาที่ดิน พัฒนาด้านพืช พัฒนาระบบน้ำ พัฒนาด้านการประมงและปศุสัตว์ ได้เดินทางเข้าไปร่วมประชุมกับมหาวิทยาลัยจำปาสัก และสำรวจพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลมาศึกษาพร้อมกับวางแผนการดำเนินงานจัดทำ “โครงการจัดตั้งแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน” ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยจำปาสัก เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจำปาสักได้เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในจำปาสักและชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ทำให้ทราบว่ามหาวิทยาลัยจำปาสักได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่มากที่สุดในแขวง โดยมีพื้นที่กว่าหมื่นไร่ เมื่อถึงบริเวณพื้นที่คณะผู้เชี่ยวชาญได้เข้าสำรวจพื้นที่โดยรอบ เพื่อกำหนดพื้นที่ดำเนินโครงการจัดตั้งแปลงสาธิตเกษตรผสมผสานที่เหมาะสม และตกลงใช้พื้นที่ประมาณ 32.744 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 202.75 ไร่ โดยวางกรอบแผนการดำเนินงานไว้ 5 แผนงาน คือ แผนการดำเนินงานด้านชลประทาน แผนการดำเนินงานด้านพัฒนาที่ดิน แผนการดำเนินงานด้านวิชาการเกษตร แผนการดำเนินงานด้านปศุสัตว์ และ แผนการดำเนินงานด้านประมง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นแปลงสาธิตให้นักศึกษามหาวิทยาลัยจำปาสักได้ใช้ในการศึกษาพัฒนาด้านต่างๆและเป็นแบบอย่างให้ประชาชนผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม และนำคววามรู้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และการดำเนินชีวิต ในระยะแรกของการดำเนินโครงการ ตามแนวพระราชดำรินอกจากต้องเดินทางเข้าสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆแล้ว ยังมีการจัดการประชุมหารือร่วมกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำปาสักขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลและเป็นพื้นที่ป่า รวมทั้งยังไม่มีน้ำและไฟฟ้า แผนการดำเนินงานจึงเริ่มขึ้น ด้วยการจัดทำระบบสาธารณูประโภคพื้นบ้าน อาทิ การก่อฝานเก็บกักน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ จัดทำระบบท่อ และขุดสระเก็บน้ำ เพื่อนำน้ำมาใช้ในการทำเกษตรกรรม จากนั้นเป็นการปรับปรุงสภาพดิน โดยใช้ปุ๋ยพืชสด พร้อมจัดทำโครงการสาธิตการทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกขึ้นในพื้นที่โครงการ ส่วนด้านการปลูกพืช เน้นพันธุ์พืชท้องถิ่นและพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตเร็ว ไม่ยากต่อการดูแลรักษา เน้นการปลูกข้าวพันธุ์ดี ปลูกพืชไร่ ปลูกไม้ผลดั่งเดิมของพื้นที่และเน้นการปลูกถั่วเขียวและข้าวโพดพันธุ์ที่เหมาะสมโดยพิจารณาจากสภาพดิน ในส่วนงานด้านปศุสัตว์และประมงนั้น เป็นการจัดสร้างคอกสุกร คอกไก่และคอกเป็ด พร้อมกับทดลองปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ สร้างบ่อเพาะพันธุ์ปลาและบ่อเลี้ยงปลา โดยเน้นการจัดหาพันธุ์ปลาที่เลี้ยงดูไม่ยากและขยายพันธุ์รวดเร็ว เพื่อใช้ในการสาธิตการเลี้ยงและเพาะพันธุ์เพื่อปล่อยลงสู่แม่น้ำ พร้อมทั้งติดตั้งระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆในพื้นที่ เมื่อแผนการดำเนินงานต่างๆของโครงการได้รับความเห็นชอบจากทั้งฝ่ายคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำปาสักและฝ่ายผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย ว่ามีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและประชาชนผู้สนใจแล้วมูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยจำปาสักจึงได้ลงนาม “บันทึกข้อตกลงโครงการจัดตั้งแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน” เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2550 โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชันพัฒนา เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และ ดร. สีคำตาน มีตะไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยจำปาสัก เป็นผู้ลงนามฝ่ายลาว ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่จากสถานกงสุลไทย ณ สะหวันนะเขด และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญของมูลนิธิชัยพัฒนาเจ้าหน้าที่จากหน่วยราชการต่างๆ เข้าร่วมในพิธีการและร่วมในการประสานงานต่างๆ เพื่อให้โครงการดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างการดำเนินการจัดสร้างและจัดตั้งแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน คณะทำงานได้จัดให้มีการจัดอบรมสัมมนา โดยนำคณะอาจารย์และนักศึกษาที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลแปลงสาธิตเดินทางมาเยี่ยมชมโครงการพัฒนาที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนาในเขตพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้คณะอาจารย์และนักศึกษา ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆในการดูแลแปลงสาธิต และเมื่อแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน มหาวิทยาลัยจำปาสักแล้วเสร็จ คณะอาจารย์และนักศึกษาเหล่านั้น จะได้มีความพร้อมที่จะเป็นหลักในการดูแลและรับผิดชอบแปลงต่อไป ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมาในการดำเนินโครงการจัดตั้งแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน ณ มหาวิทยาลัยจำปาสัก คณะทำงานได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างดี ทำให้การดำเนินงานของคณะทำงานเป็นไปได้โดยราบรื่น แม้ว่าเป็นการทำงานในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและมีข้อจำกัดที่แตกต่างจากประเทศไทยมากมาย ทำให้คณะทำงานยิ่งสำนึกในพระบารมีที่แผ่ไพศาลไปในพื้นที่ต่างๆ ด้วยพระเมตตาและพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และเมื่อยิ่งได้เห็นประชาชนชาวลาวที่มารอรับเสด็จ ในวันที่เปิดโครงการฯ ยิ่งทำให้เห็นว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นที่รักมิใช่แค่คนไทยเท่านั้นประชาชนชาวลาวก็รักและเทิดทูลพระองค์ไม่แพ้กัน การเสด็จฯยังประเทศสาธารณรับประชาธิปไตยประชาชนลาวในทุกครั้ง ล้วนมีความหมายไม่น้อยไปกว่าการเสด็จฯยังพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือในผืนแผ่นดินไทยเลย จากวันที่เริ่มโครงการได้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน ณ มหาวิทยาลัยจำปาสักได้ถูกกำหนดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยจำปาสัก รวมทั้งประชาชนทั่วไปและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม มหาวิทยาลัยจำปาสักยังสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีและถ่ายทอดไปยังนักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้ รวมทั้งสามารถดูแลบริหารจัดการแปลงสาธิตและนำผลผลิตไปสร้างรายได้ เพื่อนำกลับมาดูแลและขยายงานในแปลงดังกล่าวได้ด้วยตนเองแล้ว แต่หน้าที่ของคณะทำงานของมูลนิธิชัยพัฒนาในฐานะที่ปรึกษายังคงมีอยู่ และยังคงต้องเดินหน้าดำเนินงานโครงการอื่นๆ เพื่อให้ได้ชัยชนะในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ต่อไป สิ่งต่างๆ ในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและกาลเวลา การเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองให้ได้อย่างยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ย่อมสร้างความมั่นคงทั้งทางกายและทางใจของผู้ที่สามารถปฏิบัติเช่นนั้นได้ และเมื่อถึงวาระหนึ่งย่อมสามารถถ่ายทอดความรู้และทักษะนั้น ไปยังผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้เช่นกัน