ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ สร้างสุขชุมชนผ่านศูนย์เรียนรู้การผลิตเห็ดอินทรีย์ (จบ) หนึ่งในนั้นมีชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต รวมถึงหน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินงาน พัฒนาหมู่บ้านตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนสามารถได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็น “หมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เป็นหมู่บ้านชุมชนที่ขยายผลตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งพ้นจากความอดอยากขาดแคลน มีความมั่นคงแข็งแรงทั้งด้านเศรษฐกิจฐานราก ในการดำรงชีวิต เข้มแข็งในการอนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่นและของไทยอย่างเหนียวแน่นเป็นแบบอย่างของชนรุ่นหลังได้อย่างน่าชื่นใจที่ได้การยอมรับเป็นอย่างดี ภายในระยะเวลา 3 ปี จนกระทั่งยกระดับจากหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายสู่ลูกข่ายไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ต่อไป ส่วนที่สนับสนุนความเข้มแข็งด้านอาชีพ อาหารและความร่วมแรงร่วมใจสามัคคีดำรงวิถีความพออยู่พอกินคือการรวมพลังตั้งศูนย์เรียนรู้อาชีพผลิตเห็ดอินทรีย์ตามแนวพระราชดำริ นายคณุตน์ ศิโรทศ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่8 ประธานศูนย์ศูนย์เรียนรู้การผลิตเห็ดอินทรีย์ บ้านลิพอนหัวหารบ่อแร่(หมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เล่าให้ฟังอย่างสั้นๆว่าดำเนินการสร้างฐานรากการผลิตเห็ดอินทรีย์เพื่อเป็นอาชีพเสริมให้กับชุมชน โดยพัฒนามาตั้งแต่การรับถุงเห็ดมาที่อื่นจนกระทั่งเริ่มตั้งแต่การเป็นต้นน้ำ คือการผลิตหัวเชื้อเอง ผลิตก้อนเชื้อเห็ดเองจากการได้ศึกษาเรียนรู้ ถ่ายทอดสู่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเป็นสมาชิก เพราะสามารถควบคุมคุณภาพได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ลดการติดเชื้อโรค ควบคุมคุณภาพเห็ดเองและสามารถให้สมาชิกเอาไปหัวเชื้อไปทำก้อนได้เองทำให้ประหยัด มีรายได้เพิ่มขึ้น ผลิตได้ตามปริมาณที่กำหนดได้ ประธานกลุ่มบอกว่าในส่วนของก้อนเห็ดที่สมาชิกทำเองขายให้ชุมชนในราคาเพียงก้อนละ 7 บาท แต่ถ้าเป็นคนนอกชุมชนขายในราคาก้อนละ 10 บาท ไปซื้อที่อื่นก็ในราคา 10 บาทเช่นกัน “วันนี้ศูนย์เรียนรู้มีสมาชิก 29 คนอยู่ในหมู่บ้านทั้งหมด เมื่อจะทำก้อนเห็ดทางศูนย์เรียนรู้ฯจะเป็นพี่เลี้ยงและทางศูนย์ก็จะส่งเสริมให้ทำก้อน เพื่อมีเห็ดป้อนตลาด เฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดภูเก็ตต้องการใช้เห็ดนางฟ้า 4-5 ตันต่อวัน แต่เราผลิตได้ไม่เกิน 2 ตันราคาตก 100 บาทต่อกิโลกรัม ต้องนำเข้าจากที่อื่นแม้ราคาจะถูกกว่าแต่อาจเสียหายได้เพราะจำกัดเรื่องเวลาการเดินทางต้องไม่เกิน 4 ชั่วโมงไม่เช่นนั้นเห็ดจะเสียหรือคุณภาพต่ำมาก” คณุตน์บอกตรงนี้เน้นให้ชาวบ้านชาวชุมชนมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้เสริมแล้วก็มีอาหารบริโภคในชุมชนทั้งราคาถูกและปลอดสารพิษ เพราะผลิตกันได้เอง เราพยายามสร้างชุมชนนี้ให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร ให้ชาวบ้านมารวมกันทำงานด้วยกันสามัคคีกันแล้วก็ศึกษาเรียนรู้เอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมต่อภูมิปัญญาของเราเพื่อคุณภาพ เพิ่มปริมาณและลดต้นทุน “ผมเป็นศิษย์เก่ามรภ.ภูเก็ต กล่าวได้เต็มปากว่ามรภ.เป็นที่พึ่งของชุมชนในฐานะสถาบันการศึกษาที่เกื้อกูลเยาวชนลูกหลานครอบครัวในชุมชนในชนบท โดยศูนย์เรียนรู้ฯนี้ได้ทำเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานของนักศึกษา ในแต่ละปีมีนศ.มรภ.ภูเก็ตมาเรียนรู้ดูงานปีละหลายร้อยคน” คณุตน์ในฐานะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 อีกตำแหน่งหนึ่งบอกอีกว่านอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอย่างสสส.เป็นงบขยายถุงเห็ดและโรงเรือนเพื่อทำให้กับโรงเรียนในพื้นที่ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ช่องทางแห่งอาชีพด้านการเลี้ยงเห็ด เป็นทางเลือกหนึ่งในอนาคต และเป็นช่องทางหนึ่งที่จะใช้เวลาว่างทำเห็ดไว้มีเห็ดรับประทาน เก็บเห็ดขายมีรายได้เพื่อเป็นทุนการศึกษา “กระบวนการดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงวันนี้ยึดมั่นในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นเครื่องมือดำเนินชีวิต รวมถึงขยายผลไปยังนักเรียนในโรงเรียนที่ไปสร้างโรงเรือนทำเห็ดด้วย”นายคณุตน์ ศิโรทศ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่8 ประธานศูนย์ศูนย์เรียนรู้การผลิตเห็ดอินทรีย์ ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญของชุมชนหมู่บ้านที่เอาใจใส่ดูแลสนับสนุนทุกวิถีทางเพื่อความผาสุกของชาวบ้านคือผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 นายธวัชชัย ปิ่นชัยศิริ บอกว่าเดิมทีชุมชนนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 ทั้งด้านพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ ผ้าบาติก ด้านการออมแล้วก็กลุ่มเห็ดเมื่อปี2554 ได้เงินมา 5 แสนบาทก็นำมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งชาวชุมชนเป็นไทยพุทธ 97%ทำให้เป็นชุมชนเข้มแข็งมีความสุขด้วยวิถีตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯตราบวันนี้และยั่งยืนไปจนลูกหลานสืบไป เป็นความเข้มแข็งในวิถีชีวิตที่ดีงามอันได้แก่เศรษฐกิจแบบพออยู่พอกิน สังคมมีความสุขสงบด้วยวิถีแห่งความเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ให้อภัย มีความสงบเพราะไม่ตั้งอยู่ในความโลภ หากแต่มีความขยันหมั่นเพียร ประหยัดอดออม มีความรักสามัคคีเมตตากรุณาต่อกัน เดินตามพระราชดำรัส “…คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่า ทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง…” ความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2541 ......................................................................