ทุกปีประเทศไทยมีงานซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดของชุมชนมุสลิมในประเทศไทยนั่นคือ “งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย” จัดโดยสำนักจุฬาราชมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ว่าใหญ่ที่สุดเนื่องจากผู้เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานคือพระเจ้าแผ่นดิน ในขณะที่ประธานปิดงานคือนายกรัฐมนตรี เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันอย่างนี้มานานแล้ว คำว่า “เมาลิด” เป็นภาษาอาหรับแปลว่าวันเกิด งานเมาลิดกลางจึงหมายถึงงานเฉลิมฉลองวันเกิดของศาสดาในศาสนาอิสลามคือนบีมูฮำมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มุสลิมในประเทศต่างๆทั้งที่เป็นประเทศมุสลิมและมิใช่ประเทศมุสลิมพากันจัดงานในวันเกิดเพื่อรำลึกถึงท่านกลายเป็นประเพณีที่จัดกันทั่วโลก จัดกันมาเช่นนี้นานนับพันปี บางประเทศแม้ไม่มีการจัดงานเพราะถือว่าการจัดงานวันเกิดมิใช่ค่านิยมในศาสนาอิสลามแต่ยังยึดถือเอาวันที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัลหรือเดือนสามตามปฏิทินอาหรับซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิดของท่านศาสดาเป็นวันสำคัญจึงอาจมีการรำลึกถึงกันบ้าง ปฏิทินอาหรับกับปฏิทินสากลมีความยาวไม่เท่ากัน ปฏิทินสากลนับเวลาหนึ่งปีตามสุริยคติมีจำนวนวัน 365-366 วัน ขณะที่ปฏิทินอาหรับนับเวลาหนึ่งปีตามจันทรคติมีจำนวนวัน 354-356 วันน้อยกว่าปฏิทินสุริยคติ 11-12 วัน ส่งผลให้เดือนอาหรับเลื่อนเร็วขึ้นปีละ 11-12 วัน แต่จะเลื่อนเร็วอย่างไร มุสลิมที่เฉลิมฉลองวันเกิดให้ศาสดาก็พากันเลื่อนวันตาม ยกเว้นแต่งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่กำหนดจัดงานโดยขึ้นกับกำหนดการเสด็จของพระเจ้าแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานเมาลิดมาตั้งแต่ พ.ศ.2504 จนถึง พ.ศ.2521 จึงทรงมอบหมายให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานแทนพระองค์มิได้ขาดจนกระทั่งปีนี้จึงทรงเสด็จในฐานะพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกำหนดการเสด็จคือวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2560 ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนคลองเก้า แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยปีนี้เป็นฮิจเราะฮฺศักราชที่ 1438 การจัดงานในเดือนเมษายนนับเป็นการจัดในเดือนที่หกซึ่งมีชื่อว่าญามิอุลอาเคร ในขณะที่วันคล้ายวันเกิดคือเดือนที่สามซึ่งตรงกับเดือนมกราคมดังนั้นจึงไปดังที่บอกคืองานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยมิได้กำหนดจัดกันในเดือนเกิดแต่ขึ้นกับการกำหนดของสำนักพระราชวัง งานเมาลิดกลางในประเทศไทยจึงกำหนดเป็นงานสดุดีเกียรติคุณท่านศาสดาโดยพระเจ้าแผ่นดินในฐานะองค์ศาสนูปถัมภกทรงเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน งานปีนี้นับว่ายิ่งใหญ่เนื่องจากองค์ประธานคือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธีมของงานปีนี้คือ “นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) จากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานสู่วิถีฮาลาล” เน้นเนื้อหาในสองเรื่องคือคัมภีร์อัลกุรอานและฮาลาล โดยในส่วนของอัลกุรอานนั้นทางคณะกรรมการจัดงานนำเอาคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่ที่มีการสะสมกันไว้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โรงเรียนสมานมิตรวิทยา อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส บางเล่มอายุมากถึง 1,100 ปีซึ่งนักวิชาการด้านอัลกุรอานจากหลายประเทศเคยกล่าวว่าไม่น่าเชื่อที่ประเทศไทยซึ่งไม่ใช่ประเทศมุสลิมกลับมีคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่สะสมอยู่จำนวนมากซึ่งมากกว่าและเก่าแก่กว่าประเทศมุสลิมหลายประเทศเสียด้วยซ้ำ ในส่วนของฮาลาลซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่มุสลิมใช้ประโยชน์หรือบริโภคได้ซึ่งขณะนี้สร้างมูลค่าเศรษฐกิจฮาลาล (Halal economy) สูงถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีคิดเฉพาะอาหารมูลค่าสูงถึง 1,29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปแล้ว โดยสร้างมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรให้แก่ประเทศไทยสูงถึง 6,100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีหรือ 213,500 ล้านบาทต่อปี จุดเด่นของประเทศไทยทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลคือการใช้วิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์ฮาลาล” (Halal Science) ในการสนับสนุนงานการรับรองเชิงศาสนาตามแนวทาง “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยปีนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนกิจการฮาลาลของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการที่เรียกว่า “ฮาลาล 4.0” เน้นการใช้นวัตกรรมและไอทีในงานฮาลาล เริ่มด้วยระบบแอ็พพลิเคชันบนมือถือที่มีทั้ง Halalroute ซึ่งเป็นแอ็พบนมือถือไว้ใช้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการเสาะหาร้านอาหารมุสลิม หรือมัสยิดหรือชุมชนมุสลิมในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทย มีบริการทั้งระบบ IOS และ Android สามารถหาร้านอาหารฮาลาลได้โดยกำหนดตำแหน่งบน GPS รู้ด้วยว่ามีอาหารอะไรบ้าง ในร้านมีบริการที่ประกอบศาสนกิจหรือไม่ มีห้องน้ำบริการไหม นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการไอทีทางด้านฮาลาล เช่น ระบบ SPHERE ซึ่งเชื่อมโยงสำนักงานคณะกรรมการอิสลามทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศด้วย ระบบ e-Market โดยแอ็พพลิเคชัน halallock.com ซึ่งให้บริการด้านการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมต่อผู้ซื้อผู้ขายตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่างๆรวมทั้งให้บริการด้านการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายด้วย ประเทศไทยปัจจุบันมีผู้ขอการรับรองฮาลาลประมาณ 3,500 รายมีผลิตภัณฑ์ขอการรับรองฮาลาลประมาณแสนผลิตภัณฑ์เห็นตัวเลขอาจจะตกใจว่าทำไมจึงมากมายนัก ก่อนอื่นต้องบอกว่ามีผู้ประกอบการแค่ร้อยละ 10 เท่านั้นที่เข้ามาขอการรับรองฮาลาลจากที่มีอยู่ประมาณสี่หมื่นราย ส่วนจำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีมากมายนั้นจำนวนมากเป็นผลิตภัณฑ์เฟลเวอร์หรือกลิ่นและรสที่ใช้ในอุตสาหกรรม หนึ่งบริษัทขอการรับรองผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นจำนวนหลักพัน อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดฮาลาลในโลกค่อนข้างน่าสนใจเนื่องจากเติบโตปีละ 10-15% ทั้งมิได้จำกัดเฉพาะผู้บริโภคมุสลิมเท่านั้นแต่ขยายตัวไปสู่ตลาดที่มิใช่มุสลิมด้วย ใครจะไปเชื่อว่าญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวันสั่งผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทยโดยเลือกเฉพาะที่มีการรับรองฮาลาล ประเทศอาร์เจนตินานำเข้าเนื้อวัวจากประเทศอังกฤษขอเฉพาะที่มีการรับรองฮาลาล ทั้งอาร์เจนตินาและอังกฤษต่างไม่ใช่ประเทศมุสลิมเสียด้วยซ้ำ คอลัมน์ สนุกกับเทคโนโลยี ดร.วินัย ดะห์ลัน