รัฐสภา : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ที่ห้องประชุมชั้น 5 อาคารัฐสภา 3 นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกอบจ.สงขลา ในฐานะกรรมการบริหารสมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ เลขาธิการสมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย และนายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกอบจ.สุราษฏร์ธานี เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นการปฏิรูปท้องถิ่นในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมีนายวัลลภ พริ้งพงษ์ ประธานอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น รูปแบบทั่วไป สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ เป็นประธานการประชุม นายนิพนธ์ บุญญามณี กล่าวว่า สมาคมอบจ.แห่งประเทศไทยได้มีการเสนอให้มีการแก้ไขในประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของอบจ.ให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคไปให้ท้องถิ่นทำต้องมีความชัดเจน เมื่อเรื่องอำนาจหน้าที่ชัดเจนแล้ว ก็ต้องมาคุยกันเรื่องงบประมาณที่จะต้องสอดคล้องกับภารกิจที่มอบให้กับท้องถิ่น ไม่ใช่มอบแต่ภารกิจมากมายแต่ไม่มีการมอบงบประมาณมาให้ด้วย หรือแม้แต่เรื่องงบประมาณที่ส่งผ่านมายังท้องถิ่นก็ควรเป็นภารกิจของท้องถิ่นโดยตรง ส่วนที่เป็นนโยบายจากส่วนกลางหรือภารกิจที่เป็นของกระทรวง หรือกรมต่างๆ ก็ไม่ควรส่งผ่านท้องถิ่น และไม่ควรนับรวมเป็นงบประมาณของท้องถิ่น นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ต่อไปในอนาคตเรื่องรายได้ของท้องถิ่นต้องมีการระบุให้ชัดเจน เมื่อมีภาระกิจเพิ่มขึ้นก็ควรต้องมีงบประมาณเพิ่มขึ้น การจัดสรรส่วนแบ่งงบประมาณไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจากภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีอื่นๆที่เป็นรายได้ควรสอดคล้องกับความเป็นจริง การถ่ายโอนภารกิจของท้องถิ่น เรื่อง คน เงิน งาน ต้องคุยเป็นเรื่องเดียวกัน ความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ต้องมีเพื่อไม่ให้มีปัญหากับหน่วยตรวจสอบที่เขาจะมาตรวจสอบท้องถิ่นว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่หน้าที่ ซึ่งผลกระทบทั้งหมดก็จะตกไปถึงประชาชน เพราะเมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถไปบริการสาธารณะให้กับประชาชนในพื้นที่ได้จากการที่หน่วยตรวจสอบบอกว่า ไม่มีอำนาจ ไม่ใช่หน้า คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชน ไม่ใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสมาคมอบจ.ได้สะท้อนปัญหาเหล่านี้ให้ สปท. เพื่อจะเป็นแนวทางหนึ่งในการนำไปพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น “ส่วนเรื่องจะมีการการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใดนั้นเห็นว่าถ้าจะมีการเลือกตั้ง กฎหมายท้องถิ่นต้องพร้อมแล้ว เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560ประกาศใช้แล้ว จะมาเลือกตั้งตามกฎหมายเก่าไม่ได้ ดังนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นวันไหนก็จะต้องมาดูว่ากฎหมายท้องถิ่นเสร็จเมื่อไหร่ แล้วถึงจะสามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ถ้ากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น กฎหมายคุณสมบัติผู้บริหารท้องถิ่นยังไม่ผ่าน ยังไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เราจะเอากฎหมายเก่ามาใช้ในการเลือกตั้งไม่ได้” นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวคิดว่าการจะเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง ส.ส.นั้นขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายของใครเสร็จก่อนกัน ถ้ากฎหมายท้องถิ่นเสร็จก่อนก็เลือกตั้งท้องถิ่นก่อน แต่ถ้ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.เสร็จก่อนก็ต้องเลือกตั้งส.ส.ก่อน แต่เชื่อว่ากฎหมายของส.ส.ต้องเสร็จก่อน เพราะมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนออกมาแล้ว แต่ในส่วนของท้องถิ่นยังไม่มีรายละเอียดอะไรออกมาเลย +++++++++++++++++++