“ปธ.องค์การแรงงาน”ต้านคำสั่ง คสช.ที่ 21 กระทบสิทธิ์แรงงานทั้งระบบ เปิดช่องให้ “นายจ้าง” เลิกจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ เตรียมยื่น“นายกฯ”ถอนคำสั่ง 10 เม.ย.นี้ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.60 นายบรรจง บุญรัตน์ ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ จำนวน 18 ข้อ ว่า ในใจความข้อ 8 กรณีแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้นายจ้างประกาศข้อบังคับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้ข้อบังคับที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น คำสั่งดังกล่าวกระทบสิทธิ์ของลูกจ้างแรงงานทั้งระบบ และก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ เนื่องจากการประกาศของนายจ้างต่อไปนี้จะไม่ต้องผ่านอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับนายจ้าง ที่จะกำหนดข้อบังคับใดขึ้นมาก็ได้ เช่น การเลิกจ้าง หรือไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้ นายบรรจงกล่าวอีกว่า ในส่วนข้อที่ 11 ที่กำหนดว่าในกรณีสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของครม.มีอำนาจขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาตามมาตรา39หรือมาตรา47 ในพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ.2533ได้ ทั้งที่ปกติแล้วต้องเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ที่ต้องเสนอยื่นครม.เอง ซึ่งมองว่าเป็นการให้อำนาจกับคนคนเดียว ที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าคนคนนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม นายบรรจง ระบุด้วยว่า ได้พูดคุยกับนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้ว ได้ให้เหตุผลว่า คำสั่งดังกล่าวว่าเป็นไปเพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่งตนมองว่าเป็นการส่งเสริมเฉพาะในส่วนของนายจ้างมากกว่า โดยไม่ได้ฟังความเห็นลูกจ้างแรงงาน ดังนั้นตนและคณะจะเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. และกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว หรือขอให้เพิ่มเติมข้อความแบบเดิม ในวันที่ 10 เม.ย. เวลา 12.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานกพ. โดยหากไม่มีการดำเนินการใดๆ จะยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ