ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง “ภาษาเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของแต่ละกลุ่มชน”ประโยคหนึ่งของศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ประธานกรรมการในนามคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาภาษา เขียนคำนำไว้ในหนังสือ ‘ภาษา : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ’ จัดทำโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (ตีพิมพ์ มี.ค.59) รวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาดั้งเดิม 7 สาขา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 – 2558 รวมแล้ว 318 รายการ และภาษาท้องถิ่นเป็น 1 ในสาขานี้ที่ได้ขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี 2555 มาถึงปีปัจจุบัน รวมแล้ว 27 ภาษา ได้แก่ภาษากะซอง ภาษาก๋อง ภาษากูย/กวย ภาษาเขมรถิ่นไทย ภาษาชอง ภาษา ภาษาชอุง ภาษาซัมเร ภาษาโซ่ (ทะวึง) ภาษาญ้อ ภาษาญัฮกุร ภาษาตากใบ (เจ๊ะเห) ภาษาไทยโคราช/ไทยเบิ้ง ภาษาบีชู ภาษาผู้ไทย ภาษาพวนภาษาพิเทน ภาษามลาบรี ภาษามอแกน ภาษามานิ (ซาไก) ภาษาเลอเวือะ ภาษาสะกอม ภาษาแสก ภาษาอึมปี้ ภาษาอูรักลาโวยจ อักษรไทยน้อย อักษรธรรมล้านนา และอักษรธรรมอีสาน ในบทคำนำของอาจารย์สุวิไล กล่าวภาษา นอกจากจะใช้ในการสื่อสารทั่วไปแล้ว ภาษายังเป็นแหล่งรวมของภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตของแต่ละกลุ่มชนที่ต่อเนื่องกันนานนับพันปี อย่างไรก็ตามในยุคของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ภาษาของกลุ่มชนต่างๆ อยู่ในภาวะถดถอยและจำนวนมากอยู่ในภาวะวิกฤติใกล้สูญ อันเนื่องมาจากยุคโลกาภิวัตน์ การสื่อสารที่ทรงพลัง สามารถเข้าถึงครัวเรือนแม้ในที่ห่างไกล รวมทั้งอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ก็ล้วนทำให้ภาษาของกลุ่มชนทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ที่ไม่มีพลังทางการเมืองและสังคมต่างอยู่ในภาวะถดถอย ปรากฏการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา จึงมีการคาดคะเนจากนักภาษาศาสตร์ว่า หากไม่มีการดำเนินการอย่างไร ภายในศตวรรษนี้ 60% - 90% ของภาษาโลกจะเสื่อมสลายไป ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการสูญเสียวัฒนธรรมและความรู้ท้องถิ่นของชนกลุ่มต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันจึงได้มีความพยายามที่จะปกป้องรักษาภาษาในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ จนถึงระดับนานาชาติ องค์กรสหประชาชาติ เช่น UNSCO ได้ยกย่องให้ภาษาเป็นมรดกของมนุษยชาติ และมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการดูแลรักษาภาษาไว้ให้ชนรุ่นหลัง เช่น การเน้นให้มีการนำภาษาไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในโลก อันเป็นจุดมุ่งหมายของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millenium Development Goals) ในปี 2015 ดังเช่น การพัฒนาด้านการศึกษา, สิ่งแวดล้อม, ความยากจน เป็นต้น อีกทั้งการประกาศให้ปี 2008 เป็นปีแห่งภาษาสากล (International Year of Languages) และกำหนดให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองวันภาษาแม่สากล (Mother Language Day) เป็นต้น ศ.เกียรติคุณ สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ประธานฯ สาขาภาษา กล่าวสำหรับประเทศไทย ชุมชนเจ้าของภาษาชาติพันธุ์หลายกลุ่มได้มีความพยายามและร่วมมือกับนักวิชาการเพื่อศึกษา อนุรักษ์ พัฒนา และฟื้นฟูภาษาท้องถิ่น ซึ่งเป็นภาษาแม่ของตน ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน หรือภาษามือ ดังตัวอย่างการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเซีย มหาวิทยาลัยมหิดล หรือมูลนิธิเพื่อการศึกษาฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น แต่ออย่างไรก็ตาม ชุมชนภาษาต่างๆ ต้องการกำลังใจและการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถดำเนินการเพื่อรักษาภาษาและองค์ความรู้ท้องถิ่นของตนไว้ได้ “การส่งเสริม สนับสนุน และการขึ้นทะเบียนภาษาในฐานะที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จึงเป็นบทบาทของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่มีคุณค่าทางจิตใจแก่ชุมชนภาษาต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง”