ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง เบิ่งโขงเดินตลาด ถนนคนเดินเขมราฐ เป็นคนหนึ่งฆ่าเวลาด้วยการเดินเล่นถนนคนเดินต่างจังหวัด เวลาไปถิ่นไหนมักจะใช้เวลาว่างยามเย็นหรือล่วงค่ำไปแล้ว ปลีกตัวไปเดินชมบรรยากาศถนนคนเดินบ้านเมืองถิ่นนั้น เพราะอยากรู้อยากเห็นว่าพ่อค้าแม่ขายเขาทำมาหาค้าขายอะไรกัน ถนนคนเดิน อย่างที่รู้กันทั่วไปขายของบนทางถนน ที่ทางราชการท้องถิ่นกำหนดเส้นถนนให้ขายกันวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงตอนเย็นล่วงไปจนถึง 4 ทุ่มโดยประมาณ หรือบางถิ่นที่เป็นเมืองท่องเที่ยวจะขายของกันถึงเที่ยงคืน เสน่ห์ของถนนคนเดินต่างจังหวัด อยู่ที่ตัวสินค้าที่บรรดาพ่อค้าแม่ขายนำมาวางขายกันหลากหลาย ทั้งข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้า ยิ่งเป็นสินค้าพื้นเมืองด้วยแล้วดูจะได้รับความสนใจไม่น้อย และยิ่งถนนคนเดินจัดขึ้นในภูมิสถานของความเป็นอาคาร บ้านไม้เก่าอายุกว่า 100 ปี บ่งบอกถึงความเก่าย่านนั้น แทรกด้วยการแสดงพื้นบ้านลงไปแต่ละจุด ชวนให้บรรยากาศถนนมีกลิ่นอายทางวัฒนธรรมท้องถิ่นทีเดียว อย่างสัปดาห์นี้พาไปเดินเล่นถนนคนเดินที่ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นถนนอีกเส้นหนึ่งที่ใช้ภูมิสถานของอาคารบ้านไม้เก่า สร้างบรรยากาศถนนคนเดินในยามเย็นทุกวันเสาร์ คึกคักไปด้วยผู้คนถิ่นและต่างหัวเมืองในร่างนักท่องเที่ยวมาเดินชมเลือกซื้อหาสินค้าตามที่ใจตัวเองชอบ เสน่ห์ของถนนคนเดินเขมราฐ นอกจากภูมิสถานของบ้านไม้แซมด้วยตึกแล้ว อีกหนึ่งเสน่ห์ของชุมชนตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ชวนให้เพลิดเพลินไปกับภูมิทัศน์ของแม่น้ำโขงแล้ว ยังทอดสายตาไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำยังคงมีสภาพพงป่า บ้านเรือนประปราย กล่าวถึงประวัติเมืองเขมราฐสักเล็กน้อย จากข้อมูลชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเขมราฐ นาแวงเจียด เมืองนี้ได้ตั้งขึ้นมา 200 กว่าปี เมื่อปี พ.ศ. 2357 ในคราวนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2) ได้โปรดเกล้าให้สร้างบ้าน “โคกจงพะเนียง” ขึ้นเป็นเมือง “เขมราษฎร์ธานี” มีฐานะเป็นเมืองชั้นเอกขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งให้ “อุปฮาดก่ำ” มาเป็นเจ้าเมืองคนแรก (มาจากอุบลฯ) ที่ตำแหน่ง “พระเทพวงศา” ปกครองเมืองเขมราษฎร์ธานี จนกระทั่งประมาณปี 2436 (รศ.112) ประเทศลาวได้มาอยู่ในการปกครองของประเทศฝรั่งเศส เมืองเขมราษฎร์ธานีซึ่งเป็นเมืองชายแดน ได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าแลกเปลี่ยนระหว่างพรมแดน โดยมีสถานะเป็นเมืองท่าสำคัญ ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันทั้งลาวกับสยาม นั่นเป็นข้อมูลสังเขป ซึ่งทว่าไปแล้วทั้งสองฝั่งเป็นเครือญาติกัน นั่งเรือข้ามโขงไปมาหาสู่ ซื้อข้าวของเครื่องใช้ ร่วมงานบุญประเพณีซึ่งกันและกัน อย่างที่กล่าว “สายสัมพันธ์ร่วมกอ สายน้ำร่วมเผ่าพันธุ์” มีเพียงแค่แม่น้ำโขงกั้นพรมแดนประเทศเท่านั้น วกกลับมาที่ถนนคนเดิน ท้องถิ่นจัดขึ้นทุกวันเสาร์ (แต่เดิมจัดเสาร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน ภายหลังได้รับความนิยมจัดขึ้นทุกเสาร์) เป็นความร่วมไม้ร่วมมือของคนท้องถิ่น มีเทศบาลตำบลเขมราฐให้การสนับสนุน นอกเหนือจากนี้ ยังเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไปในตัว มีสถานที่ให้ได้เยี่ยมชมทั้งแหล่งเรียนรู้ผ้ามัดหมี่ทอมือ ด้านทางธรรมชาติ ลานหินประวัติศาสตร์ ผาหินซิ่ว หาดทรายสูงกลางแม่น้ำโขง ล่องเรือลัดเลาะริมโขง หรือต้องการพักค้างคืนสไตล์โฮมสเตย์ โรงแรมไม้เก่าแก่ เอกลักษณ์ด้านการอนุรักษ์คงความย้อนยุคสมัยอยู่คู่กับชุมชนก็ยังได้ นับเป็นชุมชนที่นำต้นทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นมาพัฒนา ทำถนนคนเดิน มีภูมิสถานเป็นจุดขาย พัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ ทำให้คนในชุมชนมีการประกอบอาชีพ นำไปสู่การสร้างรายได้ตามมา เขมราฐ เมืองเล็กๆ ริมโขง ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบสานกันมารุ่นต่อรุ่น และความอบอุ่นรอยยิ้มของผู้คนท้องถิ่นที่รอคุณไปเบิ่งโขงดินตลาดถนนคนเดินเขมราฐ