ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] สืบสาน คลังปลาน้ำจืดลุ่มน้ำปิง-เจ้าพระยาสนองพระมหากรุณาธิคุณ (1) "...ควรดำเนินการพัฒนาการประมงให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ โดยการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง ให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาและส่งเสริมให้ราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนั้นได้ ทั้งการประมงและการปลูกพืชผัก บริเวณรอบ ๆ หนองน้ำด้วย เพราะการขุดบ่อใหม่มักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำหรือน้ำท่วม ปลาก็จะหนีไปหมด..." พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9พระราชทานแก่เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้านการประมง นับเป็นการวางรากฐานสำคัญในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยเพื่อการดำรงรักษาสืบสานความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำต่างๆทั้งเพื่อการเป็นอาหาร เพื่อเป็นอาชีพที่สุดแล้วก็เพื่อความสมดุลย์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และอำนวยประโยชน์ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เริ่มเมื่อกรมประมงแห่งเมืองปีนังได้ส่งปลาหมอเทศให้กรมประมงไทยทดลองเพาะเลี้ยงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ปรากฎว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนต่อโรคและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศจำนวนหนึ่งมาทดลองเลี้ยงในพระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจากทั่วประเทศเข้ารับพระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศที่เพาะพันธุ์ได้เพื่อนำไปเลี้ยงแพร่ขยายพันธุ์ในตำบล และหมู่บ้านของตนต่อไป   พระราชกรณียกิจในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญยิ่ง และนับว่าอำนวยประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยทั่วทุกภูมิภาคคือ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลานิล ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลาทิโลเปีย นิโลติกา (Tilapia Nilatica) จำนวน ๕๐ ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อบริเวณสวนจิตรลดาพระราชวังดุสิตและต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อเลี้ยงปลานิลเพิ่มขึ้นอีก ๖ บ่อ และได้ทรงย้ายปลานิลจากบ่อเดิมไปเลี้ยงในบ่อใหม่ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ต่อมาได้พระราชทานชื่อปลานี้ว่า "ปลานิล" และได้พระราชทานลูกปลานิล ๑๐,๐๐๐ ตัว ให้กรมประมง เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขน กรุงเทพมหานคร และที่สถานีประมงต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อในบริเวณสวนจิตรลดา เพิ่มขึ้นอีก ๓ บ่อ รวมเป็น ๙ บ่อ  กรมประมงได้สนองพระมหากรุณาธิคุณดำเนินการขยายพันธุ์ปลานิลเป็นจำนวนมาก และได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงตามพระราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ปีละเป็นจำนวนหลายล้านตัว ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำพันธุ์ปลานิลที่เพาะเลี้ยงไว้ในบ่อบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตสมทบแจกจ่ายให้แก่ราษฎรตามความต้องการของราษฎรอีกเป็นประจำ สถานีประมงและเอกชนสามารถผลิตพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้เป็นจำนวนมาก จนวันนี้ได้มีการเพาะเลี้ยงกันอย่างกว้างขวางในทุกภูมิภาค นอกจากนี้การที่ได้มีการปล่อยปลานิลลงแหล่งน้ำต่าง ๆ ทำให้ปลานิลกลายเป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยชนิดหนึ่ง เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้แก่ราษฎรทั่วไปในทุกภูมิภาคและเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพสำหรับราษฎรในท้องถิ่นและคนทั้งประเทศ ประชาชนคนไทยที่ดำเนินชีวิตอยู่ในความขยันหมั่นเพียร อดทน รู้จักอดออม ไม่โลภไม่ฟุ้งเฟ้อ รู้รักสามัคคีในครอบครัวและในชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริสามารถที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพดีขึ้น โดยอาชีพหลักคือการทำนาทำไร่ทำการเกษตร เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินันาถในรัชกาลที่9 ทรงส่งเสริมให้เกิดจำนวนสัตว์น้ำคือปลาให้มีปริมาณมากขึ้น ประชาชนจึงสามารถที่จะแสวงหาปลาดังกล่าวเป็นอาหารโดยไม่ต้องลงทุนมาก ในเวลาเดียวกันก็สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย ทำให้คนขยัน อดทน ไม่โลภมากสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนได้ ปลานิลเป็นอาหารที่มีโปรตีนและต้นทุนต่ำนอกจากประหยัดกว่าดั้งเดิมแล้วยังทำค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตต่ำลงมีโอกาสได้เก็บออมเพิ่มขึ้นจากอาชีพเสริมใหม่ๆอันเกิดจากการจับปลาเป็นอาชีพเสริม ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่สนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างกรมประมงที่ถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการขยายพันธุ์ปลาไปสู่พื้นที่แหล่งน้ำให้ครบถ้วนทั้งประเทศ ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างสำนึกในการจับปลา เช่นไม่จับปลาช่วงฤดูวางไข่ ไม่ใช้เครื่องมือจับปลาที่เป็นอันตรายอย่างเครื่องช็อต โดยเน้นให้ชาวบ้านร่วมกันสร้างสำนึกรักหวงแหนในฐานะที่เป็นมรดกของทุกคนในแต่ละชุมชน การร่วมกันสร้างสำนึกจนถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีในการปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรถือว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศลอย่างยอดเยี่ยมที่สุด