“หัวหน้ากลุ่มประณีตศิลป์ช่างสิบหมู่”เผยบูรณะพระที่นั่งราเชนทรยานลงรักจีน-ไทยรักษาเนื้อไม้ บูรณะราขรถราชยานหลายส่วนใกล้แล้วเสร็จ ปลื้มจิตอาสาช่วยงานเย็บผ้าลายทองแผ่ลวดธงสามชายงานไม้ราชรถ ความคืบหน้าการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นางวิจิตร์ ไชยวิชิต หัวหน้ากลุ่มประณีตศิลป์ และนักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวถึงความคืบหน้าการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า สำนักช่างสิบหมู่ได้ดำเนินการบูรณะราชรถราชยานคืบหน้าไปมาก โดยในส่วนของการบูรณะพระมหาพิชัยราชรถได้ทำการปิดทองประดับกระจกได้ค่อนข้างมากแล้ว ส่วนราชรถน้อย หมายเลข ร.9784 ได้ทำการเสริมความมั่นคงแข็งแรงของลวดลายไม้แต่ละชิ้น บางชิ้นไม้มีลวดลายที่ชำรุดทรุดโทรม ได้ทำการเพลาะเสริมไม้เข้าไปใหม่และแกะสลักลวดลายให้มีความคมชัดสวยงามดังเดิม ส่วนไม้ชิ้นใดที่ชำรุดเสื่อมสภาพและเปื่อยยุ่ย จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ โดยได้ทำการประกอบเทียบลวดลายของเดิมและนำมาเขียนแบบ จากนั้นจะทำการแกะสลักไม้ขึ้นใหม่ทั้งชิ้น ซึ่งการบูรณะซ่อมแซมทุกชิ้นต้องทำให้ด้วยความประณีต เพื่อให้งานออกมาสวยงามเหมือนเดิมทุกประการ นางวิจิตร์ กล่าวอีกว่า สำหรับการบูรณะพระที่นั่งราเชนทรยาน สำหรับอัญเชิญพระบรมอัฐิ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จากลานพระราชพิธีท้องสนามหลวงสู่พระบรมมหาราชวังนั้น ทีมช่างสิบหมู่ได้บูรณะซ่อมแซมไปค่อนข้างมากแล้ว โดยทำการล้างลอกสีให้เห็นลวดลายที่คมชัด และกำลังเตรียมพื้นสำหรับการลงรักปิดทองให้มีความวิจิตรงดงามที่สุด ส่วนงานจัดสร้างพระราเชนทรยานน้อยขึ้นใหม่ สำหรับอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร ได้ดำเนินการจัดทำในส่วนโครงสร้างไม้ไปพอสมควรแล้ว ทั้งในส่วนของการแกะสลักลวดลายไม้ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการแกะโกลนหุ่น ก่อนนำไปแกะสลักเป็นลวดลายกาบพรหมศร และลายกระจังปฏิญาณ สำหรับประดับรอบแผงพนัก นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการจัดทำผ้าม่าน และส่วนประกอบของพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งดำเนินการถึงขั้นต่อกระดาษลวดลาย และดำเนินการปิดทองประดับกระจก ขณะเดียวกันยังมีงานเย็บผ้าลายทองแผ่ลวดธงสามชายประกอบเป็นธงงอนประจำราชรถ ซึ่งหลายส่วนดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ “การบูรณะพระที่นั่งราเชนทรยานนั้น ทางทีมช่างสิบหมู่ได้ทำการลอกผิวที่มีลายตื้นเขินทั้งองค์ เพื่อให้เห็นลวดลายที่คมชัด ซึ่งแล้วเสร็จไปเกือบร้อยละ 90 แล้ว โดยได้นำส่วนประกอบที่เป็นลวดลายทั้งหมดที่สามารถถอดได้แยกออกมาแต่ละชิ้น และนำมาทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ ก่อนที่จะลงรักจีน -ไทย ผสมกันประมาณ 3 ครั้ง เพื่อรักษาเนื้อไม้ จากนั้นก็จะทำการปิดทองทั้งองค์แล้วจึงนำชิ้นส่วนต่างๆ ที่ถอดออกมาไปประกอบให้เรียบร้อยสวยงามดังเดิม” นางวิจิตร์ กล่าว หัวหน้ากลุ่มประณีตศิลป์ กล่าวอีกว่า ในการดำเนินงานส่วนนี้มีจิตอาสาเข้ามาช่วยปฏิบัติงานและช่วยเหลืองานได้ค่อนข้างมากภายใต้การแนะนำและดูแลโดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของสำนักช่างสิบหมู่ เนื่องจากการดำเนินงานในแต่ละส่วนต้องใช้ความระมัดระวังค่อนข้างมาก โดยกำขับให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนพยายามโดนเนื้อไม้ให้น้อยที่สุด เพราะไม้แต่ละชิ้นมีอายุเป็นร้อยปี ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุด