ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] สืบสาน คลังปลาน้ำจืดลุ่มน้ำปิง-เจ้าพระยาสนองพระมหากรุณาธิคุณ (จบ) ปลานิลในแหล่งน้ำธรรมชาติในช่วงเวลาหนึ่งมีปัญหาการกลายพันธุ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ได้พระราชทานพ่อแม่พันธุ์ปลานิลจากบ่อสวนจิตรลดาให้กรมประมงเพื่อใช้เป็นหลักในการควบคุมพันธุกรรมอีกด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยกรมประมงได้ดำเนินการสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างต่อเนื่อง มิใช่เพียงพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชต่อพสกนิกร สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ได้สนองแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโดยพระราชทานพระราชเสาวนีย์ด้านการอนุรักษ์ส่งเสริมพันธุ์ปลาไทย ดังพระราชดำรัสว่า “ปลาไทยหายไปไหนหมด” โดยเฉพาะพันธุ์ปลาที่กำลังจะสูญพันธุ์อันเกิดจากสภาพแวดล้อมนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมลภาวะ ประชาชนเกิดมีจำนวนมากขึ้น การจับปลาหรือสัตว์น้ำเพื่อธุรกิจเกินไปด้วยสำนึกแห่งความโลภ ทำให้พันธุ์ปลาอีกหลายชนิดทำท่าจะสูญพันธุ์ดังกล่าว ที่กรมประมงถือเป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งนำมาเป็นหลักดำเนินการสนองพระมหากรุณาธิคุณในล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสองพระองค์มาอย่างต่อเนื่องคือการขยายพันธุ์ปลาไทยลงสู่แหล่งน้ำดำเนินการมาเป็นเวลายาวนานเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล กรมประมงเคยนำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบนแล้วก็ภาคกลางคือจังหวัด กำแพงเพชร นครสวรรค์ และชัยนาท สัมผัสกับแหล่งกำเนิดทรัพยากรสัตว์น้ำสำคัญมากมายในลุ่มน้ำปิงแล้วก็ลุ่มน้ำเจ้าพระยารับรู้ความสำเร็จของหน่วยงานในสังกัดที่สามารถศึกษาวิจัย เพาะขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทย ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม อันถือว่าได้สนองพระมหากรุณาธิคุณเพื่อนำประโยชน์สู่ประชาชนสืบสานพระราชปณิธานให้บรรลุดังพระราชประสงค์ พันธุ์ปลาที่ใกล้สูญพันธุ์โดยกรมประมงพัฒนาตามแนวพระราชเสาวนีย์ได้ อาทิ ปลาตะพาก ในลำน้ำปิง จ.กำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ รวมถึง .กำแพงเพชร อีกทั้ง ยังได้บริหารจัดการแหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญของไทย และเป็นแหล่งอาศัยของปลาเสือตอทั้งตระกูลลายใหญ่และตระกูลพ่นน้ำแล้วก็จระเข้น้ำจืดเมื่อครั้งอดีตที่“บึงบอระเพ็ด” จ.นครสวรรค์ สถานที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านที่น่าสนใจ แม้ว่าวันนี้สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไปในทางที่น่าห่วงอย่างมากแต่ก็ยังคงได้รับการดูแลเอาใจใส่ตามกำลัง ที่จังหวัดชัยนาทกรมประมงทำการเพาะเลี้ยงและอนุบาลปลากดแก้ว ปลาน้ำเงิน ปลาแดงวิถีแห่งปลายสวายหน้าเขื่อนเจ้าพระยา มีชาวบ้านเกษตรกรที่สนใจอาชีพเลี้ยงปลาจนประสบความสำเร็จยึดเป็นอาชีพที่มั่นคงเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จการเลี้ยงปลากดคังในกระชังซึ่งค่อนข้างจะเลี้ยงยากและต้นทุนสูง ใช้เวลานาน ถือเป็นการนำร่องว่าจะสามารถส่งเสริมให้เป็นปลาเศรษฐกิจได้นอกเหนือไปจากการขยายพันธุ์ลงสู่ลำน้ำธรรมชาติ วันนี้กรมประมงยังคงดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำริสนองพระราชหฤทัยห่วงใยในการอนุรักษ์สืบสานด้านสายพันธุ์ปลาไทยที่กำลังสูญหายไปอย่างมากของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 เพื่อลดผลกระทบการดำรงวิถีชีวิตของคนไทยลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องภารกิจสนองพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวดร.จิราวรรณ แย้มประยูร ครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมประมง ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่ผ่านมานั้นมีชนิดพันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ประมาณ 400 ชนิด แต่เริ่มหายไปทำให้ชนิดพันธุ์ปลาลดลง ปลาในแม่น้ำเจ้าพระยามีจำนวนน้อยลง บางกลุ่มกำลังจะวิกฤติ สาเหตุมาจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งคือการทำประมงที่มากเกินไป สภาพแม่น้ำที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ทุกวันนี้พันธุ์ปลาสูญหายไปจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วอย่างน้อยก็4 ชนิด คือ ปลาเสือตอลายใหญ่ ปลาหวีเกศ ปลาหางไหม้ รวมทั้งปลาเทพา แต่กรมประมงได้มีโครงการเพาะพันธุ์เพื่อปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาปีละหลายหมื่นตัวอย่างเช่นปลาเทพาเพาะพันธุ์ได้แล้ว ปัจจุบันจึงสามารถพบปลาเทพาในแม่น้ำเจ้าพระยาได้อีกครั้ง และยังมีปลาที่ใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด (ประมาณ 64 ชนิด) เช่น ปลากระโห้ ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ ซึ่งกรมประมงได้เพาะขยายพันธุ์ปลาหายากเหล่านี้ และได้นำไปปล่อยคืนแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น โครงการปลาไทยคืนถิ่นลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ศีลปาชีพ บางไทร จ.อยุธยา ดำเนินการในช่วงเดือนพฤษภาคม ทำมาตั้งแต่ปี 2553 ในปีนั้น ปล่อยพันธุ์ปลาไทย 9 ชนิด จำนวนมากกว่า 9 ล้านตัว คืนสู่แม่น้ำเจ้าพระยา “ กรมประมงในฐานะหน่วยงานภาครัฐ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพันธกิจสำคัญประการหนึ่ง คือ การเพิ่มผลผลิตในแหล่งเพาะเลี้ยงและแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีทางการประมง และเพื่อเยียวยาเติมเต็มสิ่งที่กำลังขาดหายไปในลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยเฉพาะทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลโดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องถือเป็นภารกิจ ทางกรมประมงจึงได้ มีโครงการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั่วประเทศ ปล่อยปลาปีละ 1,300 ล้านตัว และโครงการฟื้นฟูปลาไทย โดยปล่อยปลาไทย มากกว่า 40 ชนิด ปีละ 46 ล้านตัว ทำให้ลดความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำลงได้ พร้อมกับคงความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยจะเห็นได้จาก สถิติการจับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่สามารถคงปริมาณการจับอยู่ได้ปีละประมาณ 2 แสน ถึง 2 แสน 3 หมื่นตันต่อปี มาตั้งแต่ปี 2537 พร้อมกับส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดทำการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้อยลง และที่หายากในทุกวันนี้ให้ได้หวนกลับคืนมามีปริมาณมากเช่นดังเดิม โดยการนำพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามาเพาะขยายพันธุ์เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป” ดร.จิราวรรณ กล่าไว้อีกว่า เพื่อให้สังคมโดยทั่วไปรับรู้อย่างกว้างขวางและตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลอนุรักษ์สัตว์น้ำที่ปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติให้มีโอกาสเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไปนั้นเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใย กรมประมงจึงวางโครงการ “ฟื้นฟูคลังปลาลุ่มเจ้าพระยาเพื่อชุมชน” เพื่อให้เกิดการดำเนินงาน ศึกษางานวิจัยต่างๆของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง เป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณสืบสานพระราชหฤทัยห่วงใยประชาชนโดยการสืบสานแนวทางที่พระราชทานหลักการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำเฉพาะอย่างยิ่งน้ำจืดเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารแหล่งอาชีพแหล่งเศรษฐกิจกระทั่งเป็นแหล่งสืบสานพันธุ์ปลาไทยให้คงความสมดุลย์ด้านทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้สูญไปอันล้วนแต่นำไปสู่ประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั้งสิ้น ................................................................