“ช่างปั้นเมืองเพชร”เตรียมขึ้นรูปม้า 4 ตระกูล โคมงคล 8 ตระกูลคู่ควรพระมหากษัตริย์ ประดับสระอโนดาต ยึดตำราจิตรกรรมโบราณฉบับวัดสุทัศน์ ปั้นเพิ่มอีก 4 กลุ่ม กินรี หงษ์ นกทัณฑิมา นาค รวมสุดยอดสัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุมาศ ความคืบหน้างานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 60 นายสมชาย บุญประเสิรฐ ช่างปั้นจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ในการจัดสร้างลวดลายและหล่อส่วนประกอบประดับตกแต่งพระเมรุมาศ กลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร มอบหมายให้ตนและทีมงานจัดสร้างปั้นสัตว์หิมพานต์ สิงห์ ม้า และโค ประดับสระอโนดาต ซึ่งต้นแบบงานศิลปะปูนปั้นสิงห์ 4 ตระกูลเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะปั้นขึ้นรูปม้า 4 ตระกูล ประกอบด้วย 1.วลาหก กายสีขาว ศรีษะดำ ปากและเท้าสีแดง 2.อัสสาชาไนย สีเหลื่อมดั่งทอง 3.สินธพ มีหน้าเป็นม้า กายเป็นล่อ พ่อเป็นลา และ 4.อัศดร สีของม้าแต่ละตระกูลมีความจำเพาะเจาะจงตามตำราจิตรกรรมโบราณฉบับวัดสุทัศน์ ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดของตำราโบราณที่รวบรวมเรื่องสัตว์หิมพานต์ไว้ครบถ้วน จะปั้นม้ามากกว่า 20 ตัว ขนาดความสูง 40 เซนติเมตร ยืนประดับสระอโนดาต ในจำนวน 20 ตัว จะมี 8 ตัว ปั้นท่าม้าวิ่ง โดยจัดวางองค์ประกอบตามจังหวะของหินและน้ำที่สำนักช่างสิบหมู่ได้ออกแบบไว้ “การปั้นม้าประดับสระอโนดาตครั้งนี้ว่า มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ช่างจะลดทอนกล้ามเนื้อ แต่คงกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไว้ให้ดูเป็นสัตว์พิเศษ ใส่เครื่องทรงแสดงความเป็นไทยประเพณี ไม่ใช่ม้าแบบฝรั่ง เพื่อให้ดูอุดมคติมากขึ้น ลักษณะม้าคึกคะนอง หยอกล้อเล่นกันในหมู่อาชา ล่าสุดทดลองวางม้า 4 ตระกูลกับโมเดลแล้ว จากนี้จะเริ่มขึ้นรูปขนาดเท่าจริง” นายสมชาย กล่าวอีกว่า ในส่วนการจัดสร้างโคมงคล จะมีทั้งสิ้น 8 ตระกูล ประกอบด้วย 1.โคอุสุภราช มีสีกายดำนวล มีด่าง 7 แห่ง ได้แก่ หน้า หนอก หาง และเท้าทั้งสี่ 2.โคกระบิน กายสีแดง บางฉบับเรียก โคจงกลนี และโคนิล 3.โคหา กายสีขาว 4.โคหงษ์ กายสีเหลือง 5.โคสีเมฆ 6. โคสีทองแดง 7.โคมีลายดุจเกล็ดปลา และ 8.โคสีดังเสี้ยนโตนด มีสีน้ำตาลอมแดง ในตำราโบราณสีกายของวัวเป็นมงคลและคู่ควรกับพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ทีมช่างยังสืบค้นข้อมูลโคมงคลจากหอสมุดแห่งชาติอีกด้วย “การออกแบบจัดวางยึดลักษณะครอบครัว อยู่กันเป็นสังคมสัตว์ ไม่ใช่ต่อสู่กัน การปั้นโคจะต้องตรงตามตำราวัดสุทัศน์ฯ เน้นดูแล้วสง่างามเปรียบดังโคในพระราชพิธีจรดพระนางคัลแรกนาขวัญ ช่างจะปั้นโคมงคลทั้งหมด 20 ตัว โดยเตรียมปั้นขึ้นรูปขนาดเท่าจริงเช่นเดียวกับม้า คาดว่าสิ้นเดือนเมษายนนี้ม้าและโคจะแล้วเสร็จร้อยละ 50 ก่อนจะนัดหมายให้ทางสำนักช่างสิบหมูมาตรวจชิ้นงานอีกครั้งที่จ.เพชรบุรี” ช่างปั้นเมืองเพชร กล่าวด้วยว่า จากการประชุมล่าสุดกับกลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ ได้ทดลองจัดวางองค์ประกอบกับโมเดลสระอโนดาตและเขามอ พบว่าพื้นที่มีความกว้างมาก จึงได้หารือร่วมกัน จนได้ข้อสรุปว่านอกจาก ช้าง ม้า โค สิงห์ จะต้องปั้นสัตว์หิมพานตืเพิ่มอีก 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกินรี กินนร นรสิงห์ กลุ่มหงษ์ กลุ่มนกทัณฑิมา หัสดีลิงค์ วายุภักดิ์ การวิก และกลุ่มนาค นาคปักษิณ สุบรรณเหรา เหราพต ชุดนี้จะอยู่มุมคั่นกั้นระหว่างสัตว์มงคล “นอกจากนี้ จะเพิ่มจำพวกสัตว์เล็กสัตว์น้อยกระจายตามสระต่างๆ คือ ลิง สิงหพานร พานร มฤค มัจฉานุ สางแปลง นกยูง นรเหรา ปลานิล และปลาไทยในวรรณคดี อย่างไรก็ตาม ระหว่างดำเนินงานจะมีการประชุมร่วมกันตลอด ดังนั้น จำนวนสัตว์หิมพานต์จะเพิ่มหรือลดได้ตลอด เพื่อให้การจัดวางภูมิทัศน์รอบพระเมรุมาศมีความสมบูรณ์และสมพระเกียรติที่สุด” นายสมชาย ช่างปั้นเมืองเพชร กล่าว ภาพ...แบบจำลองภูมิทัศน์สระอโนดาต พระเมรุมาศ กลุ่มสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร