ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม คลังปลาลุ่มน้ำแม่ปิง กำแพงเพชร สนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าฯ “... ขอวอนทางรัฐบาลและขอวอนทางทุกท่านหมดเลย ว่าขอให้ช่วยกันรักษาแม่น้ำต่าง ๆ ไว้ด้วย โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาก็ขอให้คนทางกรุงเทพฯ ช่วยกันรักษา เพราะว่าแต่ก่อนแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นเรียกว่าแหล่งอาหารที่ยอดของคนทั้งหลาย และขอให้ช่วยกันประหยัดแหล่งน้ำจืดก็คือแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นแหล่งน้ำจืด ให้ใช้น้ำจืดอย่างรู้คุณค่าตอนข้าพเจ้าเด็ก ๆ นี่ ยังเห็นชาวบ้านที่เขาอยู่ในเรือขายข้าว เขาตักน้ำเจ้าพระยามาและเขาก็รับประทาน ก็รับประทานไปอย่างนั้นเลย เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนั้นสะอาด แต่เดี๋ยวนี้คงแย่แล้ว ที่แย่ที่สุดคือพันธุ์ปลา ตายไปแยะแล้วสูญสิ้นซึ่งพันธุ์ปลา ขอวอนให้ท่านช่วยกันหันกลับมารักษาสิ่งแวดล้อม เช่นปลา เช่นแม่น้ำลำธารต่าง ๆ...” พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคลในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัยสวนจิตรลดา วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม 2550 “ปิง วัง ยม น่าน ร่วมประสานเป็นธารใหญ่โตเรียกว่าปากน้ำโพ เชื่อมโยงเป็นโซ่ผูกพัน จากเหนือน้ำไหลเจือน้ำใจด้วยกัน จารึกไว้มั่น แม่น้ำสายนั้นคือเจ้าพระยา” ท่อนหนึ่งของเพลงลูกทุ่งที่ถูกบรรจงเรียงร้อยถ้อยคำสำนวนภาษาไทยอันงดงาม ผสานทำนองทำให้เกิดความไพเราะเพราะพริ้งสื่อความหมายถ่ายทอดอารมณ์เพลงได้ใจจริงๆจากน้ำมือครูเพลงท่านหนึ่ง ที่แม้จะเป็นคอลูกทุ่งผมก็ไม่คุ้นชื่อ “ปราศรัย กีรกะจินดา” ถ่ายทอดอารมณ์เพลงโดยอดีตนักร้องลูกทุ่งชื่อดังในห้วงเวลานั้นนอกจากเสียงดีแล้วยังเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นนักร้องลูกทุ่งคนเดียวที่หล่อที่สุด นั่นคือไพรวัลย์ ลูกเพชร ได้เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ผู้แต่งตั้งชื่อเพลงลูกทุ่งได้ไพเราะเช่นกันชื่อเพลงว่า “คะนึงนอนนครสวรรค์” ชื่อครูผู้แต่งเพลงนี้ได้รับอนุเคราะห์จาก “ครูแดน บุรีรัมย์” อดีตตลกหน้าเวทีวงลูกทุ่งแล้วก็อดีตตลกดังของเมืองไทยคนหนึ่งนั่นเองปัจจุบันเป็นนักจัดรายการเพลงลูกทุ่งที่ให้ความรู้ทั้งชื่อคนแต่งแล้วก็ชื่อเพลงด้วยต้องขอขอบคุณครับ ชื่อแม่น้ำที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเพลงที่น่าสังเกตคือ แม่น้ำทั้งสี่สายล้วนเป็นลุ่มน้ำที่อยู่ในภาคเหนือทั้งหมด ไหลทอดยาวเหยียดนับหลายร้อยกิโลเมตรหรืออาจเป็นพันกิโลเมตรจากเหนือสุด ถ้านับเอาตั้งแต่ต้นน้ำจะนับหนึ่งตรงไหนผมก็ไม่ทราบชัด เหนือของแต่ละพื้นที่จังหวัดจนไหลมารวมบรรจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์แล้วไหลทอดยาวลงใต้อีกหลายร้อยกิโลเมตรผ่านเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครแล้วลงสู่ทะเล พื้นที่นับล้านไร่ ชีวิตผู้คนหลายสิบล้านคนได้อาศัยพึ่งพิงประโยชน์จากลำน้ำดังกล่าวจากรุ่นแล้วรุ่นเล่าในอดีตถึงปัจจุบันและยังได้อาศัยต่อไปตราบชั่วลูกหลานในอนาคตอีกยาวไกล ทรัพยากรที่อาศัยสายน้ำทุกสายเจริญงอกงามขยายเผ่าพันธุ์ที่สร้างความสมดุลทางธรรมชาติ เป็นประโยชน์โดยรวมพึ่งพาอาศัยกัน เป็นมรดกทางทรัพยากรธรรมชาติที่ดีงามของไทยและของโลกและของสังคมประเทศชาติอันเป็นสิ่งมีชีวิตที่นอกเหนือไปจากคนเช่นพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ รวมไปถึงสัตว์น้ำจืดมีปลาหลากหลายชนิดสายพันธุ์เป็นต้น สรรพชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นในเบื้องต้น เจริญงอกงามในท่ามกลาง ดับสลายไปในที่สุดตามกฎกติกาแห่งสังขารวัฏด้วยอาศัยสายน้ำดังกล่าวมิใช่เพียงความสมดุลย์ทางธรรมชาติหากแต่ยังเกื้อกูลให้ดำเนินชีวิตก้าวย่างต่อไปอย่างต่อเนื่องด้วย อย่างน้อยที่สุดคือการเกื้อกูลกันในฐานะเป็นแหล่งอาหารกันและกันอันมี “ปลา”เป็นต้น กรมประมงมีโครงการ “ฟื้นฟูคลังปลาลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อชุมชน”ที่ เห็นจะปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า เมื่อแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดจากการไหลบรรจบกันของแม่น้ำสี่สาย หรือบ้างก็เรียกว่าสี่แคว ทรัพยากรปลาหลายหลากชนิดที่มีอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาย่อมเป็นผลพวงมาจากแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยมและแม่น้ำน่านอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แม่น้ำปิงไหลผ่านจังหวัดกำแพงเพชรก่อนจะไหลสู่จังหวัดนครสวรรค์ ในอดีตอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์มากมายเฉพาะอย่างยิ่งปลาประจำถิ่นหรือประจำสายน้ำ และพบมากในช่วงสายน้ำช่วงที่ผ่านจังหวัดนั้นๆอย่างจังหวัดกำแพงเพชรย่อมต้องพบเจอในแม่น้ำช่วงจังหวัดนครสวรรค์แน่นอน แต่ถึงช่วงสมัยหนึ่งปลาสายพันธุ์ดังกล่าวสูญหายไปจากช่วงลำน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เกิดผลพวงของการไม่ปรากฏเงาของปลาดังกล่าวในลำน้ำตลอดสายตั้งแต่เหนือลงมาทางด้านใต้ด้วย ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยจึงได้พระราชทานพระราชดำริให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์ปลาไทยขึ้น ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดกำแพงเพชร นายวรัญญู ขุนเจริญ มีข้อมูลว่า ระหว่างพุทธศักราช 2533- 2534 สมเด็จพระนาง เจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดไชยวัฒนารามและโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทรงสนพระราชหฤทัยพระนิพนธ์บทเห่เรือชมปลาของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ (เจ้าฟ้ากุ้ง) มาก ในระหว่างที่ทรงเยี่ยมราษฎรและทรงปล่อยปลาในแหล่งน้ำต่างๆทรงสดับรายงานจากกรมประมงเกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาชีพของกรมประมงหลายโครงการ ซึ่งใช้พันธุ์ปลาต่างประเทศเป็นหลัก เช่น ปลาจีน ปลายี่สกเทศ ปลาหมอเทศ ปลากระโห้เทศ ปลานวลจันทร์เทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาจากประเทศอินเดีย ทรงสงสัยและมีพระราชปรารภเป็นคำถามว่า “ ปลาไทยหายไปไหนหมด” จึงมีพระราชดำริ “ ให้กรมประมงฟื้นฟูปลาไทยกลับมามีจำนวนมากขึ้นและอนุรักษ์ปลาหายากไว้” กรมประมงรับสนองพระราชดำริถือเป็นโครงการหลัก และยึดถือว่าถ้าปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องเป็นปลาไทยเท่านั้น ถ้าเป็นปลาต่างประเทศต้องมีการเจริญเติบโตเร็ว เลี้ยงง่าย ออกลูกหลานได้เอง ซึ่งเหมาะสำหรับคนยากจนในการนำมารับประทานและขายได้ให้ปล่อยในแหล่งน้ำ เช่น บึง บ่อน้ำที่สร้างขึ้นมา รวมถึงแม่น้ำลำคลอง กรมประมงก็ได้สนองพระราชดำริจัดโครงการฟื้นฟูปลาไทยเป็นโครงอย่างต่อเนื่อง แล้วดำเนินการสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาไทยได้เกือบทุกชนิด โดยเฉพาะปลาไทยตามกาพย์เห่เรือชมปลาของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ ทั้ง 17 ชนิด ได้แก่ ปลานวลจันทร์ ปลาคางเบือน ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาแก้มช้ำ ปลาน้ำเงิน ปลากราย ปลาหางไก่ ปลาสร้อย ปลาเนื้ออ่อน ปลาเสือ ปลาแมลงภู่ ปลาชะแวง ปลาชะวาด และปลาแปบ “ยกเว้นปลาหวีเกศซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจาก มีแห่งเดียวในโลกคือในลุ่มน้ำเจ้าพระยาลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศไทยในอดีตเคยเป็นแหล่งที่มีพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ เช่น ปลายี่สก ปลากา ปลาบ้า และปลาสวาย ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงไม่เอื้ออำนวยต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของปลา และสัตว์น้ำจืดตามธรรมชาติ ประกอบกับการทำการประมงเกินกำลังผลิตของแหล่งน้ำตลอดจนภัยธรรมชาติ ส่งผลกระทบเสียหายอย่างรุนแรงต่อชนิดและปริมาณสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติ กล่าวคือ พันธุ์ปลาน้ำจืดของไทยบางชนิดได้สูญพันธุ์ไป นอกจากนี้พันธุ์ปลาน้ำจืดของไทยอีกหลายชนิดมีปริมาณลดลงจนกระทั่งอยู่ในสภาวะน่าวิตกต่อการสูญพันธุ์ โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทย เป็นโครงการพระราชดำริโครงการหนึ่งซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำจืดของไทยที่หายากหรือมีโอกาสสูญพันธุ์ แล้วนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อทดแทนปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกทำลาย ซึ่งการเพิ่มผลผลิตของปลาในแหล่งน้ำยังเป็นการเพิ่มรายได้และเพิ่มปริมาณอาหารโปรตีนแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในชนบท นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการเพาะเลี้ยงในเชิงการค้าสามารถเพิ่มรายได้ ตลอดจนสามารถคืนความหลากหลายของชนิดปลาซึ่งจะรักษาสภาพความสมดุล ตามธรรมชาติของแหล่งน้ำ อันจะนำมาซึ่งการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนตลอดไป”ข้อมูลว่าไว้ การปฏิบัติภารกิจสนองพระมหากรุณาธิคุณของเจ้าหน้าที่ราชการพร้อมผู้เกี่ยวข้องที่มีความตั้งใจจะเกื้อหนุนประชาชนให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามวิถีแห่งความพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริอันถือว่าได้ทำเพื่อชาติบ้านเมืองไปในตัวอย่าง “สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดกำแพงเพชร” จึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่กล่าวได้ว่าทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณเพื่อสืบสานพระราชหฤทัยห่วงใยนำประโยชน์สุขสู่ประชาชน ดำเนินงานตามนโยบายภายใต้แผนงานและ โครงการของกรมประมงและสอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดกำแพงเพชร รวมทั้งการบูรณาการกับหน่วยงานราชการและองค์กรในจังหวัดศึกษาวิจัยด้านการประมงน้ำจืดเพื่อพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรผลิตพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่มีคุณภาพและปล่อยในแหล่งน้ำที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการประมง สนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำจืดแก่เกษตรกรในโครงการต่างๆที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดแก่เกษตรกรเยาวชนและผู้สนใจอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ตลอดไป หลายชนิดพันธุ์ปลาอันจัดว่าเป็นปลาพื้นถิ่นช่วงลำน้ำปิงจังหวัดกำแพงเพชรที่หายากและกำลังสูญพันธุ์ หนึ่งในหลายชนิดนั้นคือ “ปลาตะพาก” ที่เป็นชื่อในภาคไทย ส่วนชื่อสามัญอังกฤษว่า Golden Belly Barbแล้วก็ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Hypsibabus wetmorei Smith, 1931 ปลาตะพากมีลักษณะเหมือนปลาตะเพียน ว่ากันว่า จัดอยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) แต่ตาคนทั่วไปน่าจะแยกไม่ออกหรอกว่าตัวไหนตะเพียนตัวไหนตะพาก แล้วปลาตะพากชาวบ้านทางกำแพงเพชรเรียกหลาย ชื่อ เช่น ปลาปิก ปลาปากดำ ลักษณะของปลาตะพากมีรูปร่างคล้ายปลาตะเพียนขาว แต่มีขนาดใหญ่กว่าและใหญ่กว่าปลาในตระกูลเดียวกัน บริเวณส่วนท้องมีสีเหลืองทอง บริเวณส่วนหลังมีสีเข้มน้ำเงินอมเขียว ครีบหลังและครีบหางสีส้มแกมเขียว ครีบท้องสีส้มหรือสีเหลืองอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงเป็นปลาที่ว่ายน้ำได้เร็วและว่ายน้ำเคลื่อนไหวตลอดเวลา พบได้ในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำโขง ขนาดปลาทั่วไปมีความยาว 20-30 เซนติเมตร ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 60 ซ.ม. เคยพบใหญ่ที่สุดยาว 66 ซ.ม. น้ำหนัก 8 ก.ก. กินอาหารได้หลากหลาย เช่น พืชน้ำ แมลงน้ำ รวมถึงสัตว์น้ำขนาดเล็ก มีพฤติกรรมการผสมพันธุ์เป็นหมู่ ฤดูวางไข่อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน และตุลาคม - ธันวาคม ไข่เป็นแบบครึ่งจมครึ่งลอย โดยปลาเพศเมียขนาดความยาวเฉลี่ย 36 ซม. น้ำหนัก เฉลี่ย 763 กรัม มีจำนวนไข่เฉลี่ย 87,533 ฟอง นั่นตำราว่าไว้ กรมประมงได้ดำเนินการเพาะพันธุ์เพื่อขยายสู่แหล่งน้ำและเกษตรกรสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9อันรวมอยู่ในกลุ่มปลาอีกหลายชนิดที่ต้องขยายพันธุ์ นอกจากนี้ สถานีฯ ยังได้เพาะขยายพันธุ์ปลานิลแดงสายพันธุ์กำแพงเพชรประสบความสำเร็จ เป็นปลาลูกผสม ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 โดยใช้พ่อพันธุ์ปลานิลแดงจากสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดเลย แม่พันธุ์ปลานิลแดงใช้สายพันธุ์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น การผลิตปลานิลแดงในช่วงแรกยังมีผลผลิตไม่มากนักจนกระทั่งในปี 2551 จึงได้เริ่มพัฒนาด้านการจัดการพ่อแม่พันธุ์ การปรับปรุงระบบเพาะฟัก และการอนุบาลที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการควบคุมคุณภาพผลผลิต กระทั่งสามารถผลิตปลานิลแดงได้เพิ่มมากขึ้นและพัฒนาเป็นปลาเศรษฐกิจในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยเพื่อเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ อีก เช่น ปลาเสือพ่นน้ำ เขียดแลว เป็นต้น ว่ากันว่าปลาตะพากเป็นปลาพื้นเมืองที่สำคัญของจังหวัดกำแพงเพชรถึงขนาดเป็นปลาเศรษฐกิจพบได้ในแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่านตัวเมืองกำแพงเพชร มีการยืนยันว่าประชาชนนิยมบริโภค มีจำหน่ายที่ตลาดสดของจังหวัดกำแพงเพชร อาหารที่นิยมทำด้วยปลาตะพาก หนึ่งคือปลาส้ม เหมือนที่ภาคอีสานนิยมปลาส้มปลาตะเพียนอร่อยมาก สองคือปลาตะพากต้มเค็ม(แบบเดียวกับตะเพียนต้มเค็มนั่นแหละ) นอกจากบริโภคแล้วยังนิยมนำเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงามด้วยนะ ในช่วงที่ผ่านมาปลาตะพากน่าจะมีจำนวนน้อยลงทั้งนี้เพราะสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ความแห้งแล้งนำไปสู่การตื้นเขินของแม่น้ำ และการจับปลาที่เต็มไปด้วยความโลภไม่คำนึงถึงฤดูวางไข่ ใช้เครื่องมืออันตรายเช่นเครื่องช็อตทำให้ปลาตะพากมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก ด้วยพระเมตตาอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยของสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 ประมงน้ำจืดจังหวัดกำแพงเพชร จึงได้สนองพระราชหฤทัยห่วงใยนั้นเนื่องจากได้เล็งเห็นถึงคุณค่าความสำคัญของปลาชนิดนี้ ประกอบกับยังไม่มีการเพาะพันธุ์เพื่อนำปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจึงได้ทำการศึกษาและเพาะพันธุ์เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติให้มากขึ้นและเป็นการอนุรักษ์ปลาพื้นเมืองที่สำคัญต่อไป วันนี้ปลาที่กำลังจะสูญหายสายพันธุ์ไปจากแม่น้ำปิงและมีผลถึงแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งที่มีอยู่ในลุ่มน้ำอื่นๆ ด้วยหลายพันธุ์ มีปลาตะพากเป็นต้นอยู่ในจำนวนนั้นได้รับการเพาะขยายพันธุ์นำปล่อยในลำน้ำ หนองคลองบึงสนองแนวพระราชดำริอย่างจริงจังแล้ว ในเวลาเดียวกันกรมประมงยังส่งเสริมสนับสนุนในเชิงเศรษฐกิจแก่ประชาชนไปด้วย อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยมีอาหารมีคุณค่าเพิ่มขึ้นและนำไปสร้างอาชีพเสริมได้ด้วย ทั้งนี้ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้อย่างแท้จริง แต่วันนี้ก็น่าห่วงว่าจะไม่มีปลาดังกล่าวให้หลงเหลือพันธุ์เช่นกันเนื่องจากธรรมชาติคือความแห้งแล้ง น้ำในแม่น้ำขาดหายแห้งขอดไม่มีแหล่งน้ำให้ปลาได้แพร่หลายขยายพันธุ์ ก็ต้องช่วยกันรักษาสืบสานทั้งพันธุ์ปลา ทั้งการดูแลรักษาแหล่งน้ำใช้อย่างรู้คุณค่าอย่างประหยัดด้วย เพื่อว่ากรมประมงจะได้สนองพระมหากรุณาธิคุณมีน้ำในลุ่มน้ำฟื้นฟูคลังปลา ให้คงพันธุ์ ปลาพื้นถิ่นไทยเหลืออยู่ในลุ่มน้ำปิงไหลล่องเรื่อยลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อชุมชนไทยได้พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามวิถีแห่งเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ตราบนานเท่านานสืบไป .............................