93 กิโลเมตร 5 ชั่วโมง จากตัวเมืองแม่สะเรียง มุ่งหน้าสู่โรงเรียนเพียงหลวง 11 หมู่บ้านสล่าเจียงตอง ต.เสาธงหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ระยะทางและเวลาดูจะไม่สอดคล้องกัน...ตลอดเส้นทางนั้นมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย สองข้างทางทุรกันดาร ถนนเป็นดินภูเขาฝุ่นแดงๆ หินขรุขระ ต้นไม้เพิ่งล้มหักเกะกะเพราะดินภูเขาพังทลาย เส้นทางหลายช่วงรถต้องวิ่งข้ามลำห้วยลำธารมากกว่า 40 แห่ง หัวสั่นหัวคลอนบนรถโฟวิล ไม่มีรับรับจ้าง ไม่มีใครไปถูก ต้องให้ครูและชาวบ้านลงมารับ การประสานงานกว่าจะได้ไปนั้น ต้องใช้การภาวนาให้มีสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อการนัดหมายที่ชัดเจน ที่ดั้นด้นกันมาก็เพราะเสียงเล่าลือถึง "ครูนักพัฒนา" ซึ่งได้รับรางวัล "ครูยิ่งคุณ" จากการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และการต่อยอดขยายผลโครงการร่วมสร้างเสริมการเรียนรู้ เพื่อสุขภาวะโดยเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) "เป็นครูมากว่าครึ่งชีวิต อีก 4 ปีจะเกษียณแล้ว นึกแล้วเจ็บร้าวหัวใจ นึกเป็นห่วงเด็กๆ พวกเขาเป็นมากกว่านักเรียน พวกเขาคือลูกๆ หลานๆ ครูแก่ๆ คนนี้จึงอยากที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ทั้งหมดที่มีให้กับครูรุ่นใหม่ โดยเฉพาะครูที่มาบรรจุใหม่ในพื้นที่ทุรกันดาร ถึงแม้จะเป็นความจริงอยู่ว่าโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวกทุกฤดูกาล แต่ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหนของประเทศไทย ครูก็ต้องทำหน้าที่ด้วยความเข้าใจ ด้วยความรู้ ความสามารถอย่างเต็มภาคภูมิของความเป็นครู และลงลึกว่าปัญหาของเด็กแต่ละคนที่มาอยู่กับเราไม่เหมือนกัน อยากให้ครูรักเด็กเหมือนลูกเหมือนหลาน อย่าได้คิดว่าเป็นคนอื่น ขอให้เสียสละ อุทิศตัว และเวลาด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู เพราะครูคือคนสำคัญสำหรับเด็กในการให้วิชาความรู้" นี่คือความตั้งใจของ "สุพิทยา เตมียกะลิน" ผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงหลวง 11 ผอ.สุพิทยา มีพื้นเพเป็นคนลำปาง แต่มาอยู่ที่โรงเรียนเพียงหลวง ได้ 21 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2539) และคงจะเกษียณที่นี่ ตอนนี้โรงเรียนมีครู 13 คน เด็ก 138 คน เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ระดับอนุบาล-ม.3 และปีการศึกษา2559 นี้ มีเด็กที่จบชั้น ม.3 รุ่นแรก จำนวน 7 คนและน่ายินดีที่ทุกคนมีที่เรียนต่อกัน เป็นความภาคภูมิใจของครูทุกคน "สิ่งที่เป็นกังวลมากตอนนี้ คือสังคมเปลี่ยนแปลงไป สังคมที่หล่อหลอมตัวของครู โดยเฉพาะครูที่บรรจุใหม่ จะหาต้นแบบจากไหน เพื่อประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กๆ เพราะที่เด็กและครูอยู่ในโรงเรียนร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง เด็กจะมองภาพครูเป็นต้นแบบ และซึมซับในภาพที่ไม่ดีได้ง่าย และหากเด็กทำบ้างจะมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิด" ผอ.โรงเรียนเพียงหลวง 11 ยังถ่ายทอดอีกว่า "คำว่าครูค้ำคออยู่ต้องมีจิตสำนึก" ที่ไหนครูขาด เราควรไปอยู่ที่นั่น จะลำบากแค่ไหน หากชาวบ้านอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้ อย่าลืมว่าครูมีเงินเดือน สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่ เต็มความสามารถ เป็นพ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ ที่สังคมคาดหวังสูงมาก ไม่ว่าจะทำอะไรต้องคิดว่า ชาวบ้าน ชุมชน นักเรียน มองเราอยู่ ต้องตระหนักให้มากอย่างยิ่งด้วย ขอให้เสียสละเวลาเอาใจใส่ดูแลเกื้อหนุนจุนเจืออย่างเต็มที่ เช่น การขึ้นมาสอนเด็กวันจันทร์เช้าก็อยากให้เปลี่ยนขึ้นมาวันอาทิตย์ เพราะเราใช้ปฏิทินดอย คือสอนวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ใน 1 เดือน จะหยุดทุกวันที่ 26-3 ของทุกเดือน เพื่อให้ครูและเด็กได้มีเวลากลับไปอยู่กับครอบครัว การจะได้หยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการเหมือนโรงเรียนปกติคงไม่ได้ ด้วยการเดินทางที่ลำบากใช้เวลานาน ไม่สามารถกลับไปมีเวลาให้ครอบครัวได้ ...จุดสะท้อนและตระหนักในการที่ตนอยู่โรงเรียนแห่งนี้ได้อย่างยาวนาน เพราะความจริงใจของชุมชน เมื่ออยู่ที่ไหนสบายใจ ชุมชนดี ช่วยเหลือจริงใจ เราทำงานได้เต็มหน้าที่เต็มความภาคภูมิ เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ดังนั้น สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ การสอนให้ครูคิด ซึมซับ ให้เข้าถึงจิตวิญญาณ จิตสำนึกของความเป็นครู รู้หน้าที่รับผิดชอบ จะทำให้ครูอยากอยู่กับเด็กด้วยหัวใจ" ด้านครูรุ่นใหม่ไฟแรง "กิตติภัทร บารมีรัตนชัย" ครูวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ชั้น ป.1-ม.3 ซึ่งบรรจุสอนได้ 1 ปี 9 เดือนเล่าว่า "ผมไม่คิดเลยว่าประเทศไทย จะมีโรงเรียนที่มีเส้นทางการเดินทางที่ทุรกันดารแบบนี้ จากเด็กที่เติบโตและเรียนในเมืองมาโดยตลอด การเดินทางระยะไกลก็ว่าหนักแล้ว แต่ปัญหาที่หนักกว่าคือ เด็กพูดภาษากะเหรี่ยง สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง การปรับตัวกับเพื่อนร่วมงาน สภาพความเป็นอยู่ การกิน ไม่มีไฟฟ้า พอหมดแสงอาทิตย์ก็ต้องจุดเทียนหรือตะเกียง การสอนที่นี่เป็นมากกว่าครู ต้องเป็นพ่อและแม่ ทำหน้าที่ตั้งแต่เช้าจนส่งเด็กเข้านอน เมื่อเด็กเจ็บป่วย ครูก็ต้องดูแล" ครูกิตติภัทร บอกอีกว่า เด็กที่นี่ขาดโอกาสเข้าถึงสื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ จะคาดหวังให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีเหมือนเด็กในเมืองคงจะยาก โรงเรียนจึงทำโครงการร่วมสร้างเสริมการเรียนรู้ เพื่อสุขภาวะที่สามารถจะพัฒนาเด็กให้มีภาวะแห่งความสุขอันสมบูรณ์ใน 4 มิติ คือ กาย จิต สังคม และสติปัญญา จะเริ่มด้านไหนก่อนก็ได้ เช่น ร่างกาย ให้เด็กออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีคุณภาพ ด้านจิตใจอารมณ์ ทำให้เด็กมีความสุข หัวเราะได้ ด้านสังคม การสร้างความรัก สามัคคีความใกล้ชิดระหว่างเพื่อน คนที่เรียนเก่งแต่ขาดน้ำใจ ก็ต้องฝึกให้มีน้ำใจมาช่วยเพื่อน เด็กที่เรียนไม่ดีก็ฝึกเรื่องความขยันก็สามารถทำให้สังคมนั้นน่าอยู่ได้ ซึ่งทุกด้านจะมีส่วนส่งผลต่อการเรียนของเด็กให้ดีขึ้นได้ "เราไม่ได้มองเห็นจุดเด่นของเด็ก แต่เรามองเห็นจุดที่ควรพัฒนาและให้โอกาส ให้เด็กเขียนความฝัน 20 ข้อที่จะทำในปีนี้ เด็กเขียนมามากมาย อยากเรียนต่อ อยากมีเงิน ปลูกบ้านให้พ่อแม่ อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น สุดท้ายเด็กก็สรุปความฝันตนเองว่า...แต่ก็คงเป็นได้เพียงความฝัน เพราะไม่มีเงินและพ่อแม่อยากให้ช่วยงานที่บ้าน" แต่ในฐานะ "ครู" เราต้องแนะแนวเปิดทางให้เห็นว่าความฝันนั้นจะเป็นจริงได้อย่างไร "เราถูกเลี้ยงสุขสบายมาตั้งแต่เกิด ที่บ้านมีพร้อมทุกอย่าง แต่เด็กที่นี่ลูกอมเม็ดเดียว ขนม 1 ชิ้น แบ่งกันกินตั้งหลายคน หรือการที่ผมปลูกผัก 1 แปลงไม่รู้ว่าเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกลงไปนั้น จะเจริญเติบโตออกดอกออกผล หรือจะตาย เช่นเดียวกันเด็กเหล่านี้ไม่มีผลกระทบโดยตรง ไม่ใช่ลูกใช่หลาน ผมจะปล่อยปละละเลยก็ได้ แต่ด้วยคำว่า"ครู" และจากพระราชดำรัสของพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงฝากถึงครู ...ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ...ผมคือครูที่จะขอทำหน้าที่ในวิชาชีพที่ได้เลือกแล้ว" ครูกิตติภัทร กล่าว ขณะที่ครูอัตราจ้าง "สุรชัย ปิ่นตาคำ" และยังเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนเพียงหลวง 11 ผู้เติบโตและอยู่ในชุมชนสล่าเจียงตองมาตั้งแต่เกิด เล่าถึงความตั้งใจว่า "ตอนนั้นที่โรงเรียนยังไม่เปิดขยายโอกาส แต่ตัวผมและเพื่อนหลายๆ คนก็มีความฝันอยากเป็นครู เพราะชีวิตมีความผูกพันกับครูตลอดเวลา เห็นครูเป็นต้นแบบที่ชัดเจนที่สุดกว่าอาชีพอื่นๆ ดังนั้น การทำให้ครูมีจิตสำนึก เสียสละอุทิศเวลาให้กับการเรียนการสอน โดยการทำให้ครูอยู่กับโรงเรียนได้นานๆ นั้น เป็นความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในบริบทพื้นที่พิเศษ เพราะหากไม่ใช่คนในพื้นที่ก็อยู่ลำบาก เช่นการเดินทาง หากจะลงไปในเมืองก็อาศัยรถพ่อค้าแม่ค้าที่เอาของขึ้นมาขายทุกวันเสาร์ โดยเฉพาะครูผู้หญิงบางครั้งต้องอาศัยรถขนวัว ควาย ลงไปจะยากลำบากมากกว่าครูผู้ชายที่ยังสามารถขับรถมอเตอร์ไซต์ได้...." แต่ถึงยากลำบากเพียงใด โรงเรียนเพียงหลวง11 แห่งนี้ก็ยังมีจำนวนนักเรียนมากขึ้นทุกปี ๆ หากเปรียบเทียบกับบริบทโรงเรียนในลักษณะเดียวกัน อย่างเช่น "อาคม สาริธร" กำลังจะสำเร็จชั้น ม.3เป็นรุ่นแรก โดยวางแผนจะไปเรียนต่อระดับชั้น ม.4 สายวิทย์-คณิต ที่โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม อ.สันป่าตอง เนื่องจากมีความฝันและตั้งเป้าหมายอย่างมุ่งมั่นจะเป็นตำรวจ จะได้กลับมาช่วยเหลือประชาชน คนในหมู่บ้าน "ผมเกิดและเติบโตที่นี่ มีพี่น้อง 7 คน เป็นคนที่ 6 พี่น้อง 4 คนก็เรียนที่เพียงหลวง 11 นี้ จบไปแล้ว 2 คนและก็ลงไปเรียนต่อที่เชียงใหม่เช่นกัน ทุกคนเรียนที่นี่ด้วยความสุข ผู้อำนวยการฯ และครูใจดี ผมได้เรียนและเป็นนักเรียนกินนอน หากมีโอกาสจะกลับมาช่วยเหลือโรงเรียนอย่างแน่นอน ดังที่คุณครูทุกคนได้ให้โอกาสให้ความรู้ชี้แนะแนวทางให้กับเด็กที่มีโอกาสไม่มากนัก...ได้สร้างฝันของตนเองให้เป็นจริงได้" คำพูดจากใจเด็ก ม.3 รุ่น 1 เพียงหลวง 11 --------------------