จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเห็นชอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระหว่างวันที่ 3 เม.ย.-2 พ.ค.60 ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยคำสั่งกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีฯ เพิ่มเติมอีก 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดรัฐ 2.สถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐ 3.องค์การบริหารส่วนจังหวัด 4.เทศบาลนคร 5.เทศบาลเมือง 6.เทศบาลตำบล และ 7.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่อยู่ในสังกัดรัฐและอยู่ในกำกับรัฐ(ออกนอก ระบบ) ป.ป.ช. ได้กำหนดให้รองอธิการบดี ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยนั้น รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า ส่วนตัวตนเห็นด้วยกับมติของ ป.ป.ช.ที่จะให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาทั้งอธิการบดี และรองอธิการบดียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะอย่างน้อยตัวผู้บริหารมหาวิทยาลัยเองก็จะได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ และมีความสบายใจในการปฎิบัติหน้าที่ว่าสิ่งที่เราได้ทำไปนั้นเป็นไปตามหลัก ธรรมาภิบาล และมีความโปร่งใส ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกปกติของทางราชการอยู่แล้ว ที่สำคัญเมื่อเวลาที่พ้นจากตำแหน่งออกไปแล้วจะได้สบายใจได้ว่าเราได้ดำเนิน การตามกฏหมายอย่างตรงไปตรงมา จึงไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีผู้บริหารบางมหาวิทยาลัยลาออกยกชุดนั้น ตนคิดว่าท่านเหล่านั้นคงไม่ได้คิดที่จะเลี่ยงการตรวจสอบ แต่อาจจะมีมุมมองในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ รวมไปถึงความรู้สึกที่อยากเห็นกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่ม หรืออยากจะสะท้อนอะไรบางอย่างให้รัฐบาลเห็นข้อบกพร่องของกฏหมายที่ใช้บังคับ ในเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายชี้แจงทำความเข้าใจกันต่อไป แต่ในส่วนของ มทร.ธัญบุรี ตนได้พูดคุยเรื่องนี้ในการประชุมผู้บริหารของมหาวิทยาลัยไปแล้วว่าพวกเรา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฎิบัติตามกฏหมายให้ประชาชน และคนในสังคมได้เห็นถึงธรรมาภิบาลที่พวกเรามี ซึ่งทุกคนก็เข้าใจและพร้อมที่จะปฎิบัติตามมติของ ป.ป.ช.