ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] บริหารงานแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาของชาติตามรอยพระยุคลบาท ตลอดระยะเวลา70ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยทรงรับทราบถึงปัญหา อุปสรรคของกฎระเบียบและเงื่อนไขการดำเนินงานในระบบราชการที่สามารถดำเนินการให้รวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการ พร้อมกับได้ทรงทำเป็นตัวอย่าง โดยผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ส่วนราชการและประชาชนที่สนใจได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติ ขอน้อมนำแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารงานแบบบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาของชาติให้คนไทยทุกคนมีโอกาสเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท อย่างพร้อมเพรียงกัน ด้วยระบบราชการเป็นกลไกที่รัฐใช้ในการบริหารจัดการ ควบคุม ดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือที่เรียกว่า ข้าราชการให้สามารถปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบราชการไทยที่ผ่านมายังคงยึดถือโครงสร้างการบริหารที่มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในระยะต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงได้ปรับโครงสร้างการปกครองแผ่นดินเป็นการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น โดยรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยมีกระทรวง กรม เป็นศูนย์สั่งการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นแบบอย่างในการบริหารงานโดยทรงวางแผนร่วมกันอย่างมีระบบ ดังจะเห็นได้ว่า หลักการทรงงานพระองค์ทรงดำเนินงานพัฒนาอย่างเรียบง่ายและเป็นขั้นตอนอย่างรัดกุม โดยทรงเน้นให้เห็นถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานที่เกิดจากการวางแผนอย่างรอบคอบและเป็นระบบ โดยทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างเพื่อเป็นการยืนยันว่าวิธีการเหล่านี้สามารถปฏิบัติและได้ผลอย่างแท้จริง โดยลำดับแรกนั้น จะทรงเตรียมทำการบ้านมาก่อน ทรงศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ที่จะเสด็จฯ ไปก่อนทุกครั้ง ทั้งจากเอกสารของหน่วยงานต่างๆ และจากแผนที่ที่มีอยู่เพื่อให้ทราบถึงสภาพท้องถิ่นนั้นๆ และเมื่อเสด็จฯ ไปถึงพื้นที่นั้น ก็จะทรงตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่อีกครั้ง ทรงมีข้อมูลพื้นฐานที่เขียนไว้เป็นลายพระหัตถ์ อยู่ในแผนที่ด้วยดินสอ พร้อมกล้องถ่ายรูปและวิทยุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ทรงให้ความสำคัญกับการระดมสติปัญญาให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการที่มีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียของชุมชน ตั้งแต่เริ่มโครงการ โดยทรงหลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้คนกลุ่มหนึ่ง โดยสร้างความสะดวกสบายและผลประโยชน์ให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีความเหมาะสมทางด้านเทคนิคและวิชาการ ตลอดจนก่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมประการใดก็ตาม ด้วยทรงเห็นว่า โครงการนั้นๆ ควรเป็นมติของชุมชนนั้น ซึ่งวิธีการนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ ประชาขนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นเป็นผู้กำหนดวิถีทางของตนเอง ทั้งนี้ หากวิเคราะห์การดำเนินงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว จะเห็นได้ว่า ทรงใช้หลักของการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นหลักที่ทรงใช้มานาน ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและเริ่มกระทำอย่างกว้างขวางในปัจจุบันนี้ โดยเมื่อทรงได้ข้อมูลจากวิธีการดังกล่าวแล้ว จะทรงวิเคราะห์ว่า เมื่อดำเนินการแล้ว จะได้ประโยชน์อย่างไร คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ อย่างไร แต่ทรงเน้นย้ำอยู่เสมอว่า พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น หากผู้รู้หรือนักวิชาการเห็นว่า ไม่เหมาะสมด้วยประการใด สามารถทักท้วงแก้ไขในการประชุมปรึกษาหารือได้ตลอดเวลา เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ทั้งนี้ หากโครงการใดได้ผลดีก็จะทรงนำหลักการไปทดลองใช้ในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีลักษณะปัญหาคล้ายคลึงกันต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือผลเสียตามมา เมื่อโครงการดำเนินผ่านไปได้ระยะหนึ่ง จะทรงให้มีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะๆ เพื่อรับทรงทราบถึงความก้าวหน้าหรือผลกระทบต่างๆ หากมีปัญหาเกิดขึ้น ก็จะได้ทรงแก้ไขปรับปรุงงานและหากมีโอกาสเสด็จฯ กลับไปพื้นที่นั้นหรือเมื่อเสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักในภูมิภาคต่างๆ จะทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงาน หากมีปัญหาหรืออุปสรรคเกิดขึ้น ก็จะทรงชี้แนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไป สำหรับโครงการใดที่ประสบผลดี ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายผลการดำเนินงานนั้นไปสู่ประชาชนได้ แต่หากมีข้อผิดพลาดหรือล้มเหลวไม่ทรงถือว่าเป็นเรื่องผิด แต่ทรงถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นบทเรียน เพื่อจะได้ไม่ทำซ้ำ และทรงมีสรุปผลการดำเนินงานทั้งหมดด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงรับทราบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากราษฎรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้เป็นแนวทางที่นำไปสู่การกำหนดแผนการดำเนินงานในขั้นต่อไป การบริหารจัดการแบบบูรณาการ กับปัญหาหลักของชนบทไทย คือ ปัญหาความยากจนของราษฎร ซึ่งมิอาจแก้ไขได้ด้วยการแก้ไขในปัจจัยเดียว เพราะปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นหลายปัจจัย การแก้ไขจึงจำเป็นต้องดำเนินการพร้อมกันในหลายๆ ด้าน โดยอาศัยวิชาการที่หลากหลายมาแก้ไขปัญหาร่วมกันแบบสหวิทยาการด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่องและตอบสนองความต้องการของราษฎรได้ตรงจุด แนวพระราชดำริดังกล่าว คือ การบูรณาการ หมายถึง การนำส่วนที่แยกๆ กันมารวมกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศชาติที่มีอยู่มากมายนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเบ็ดเสร็จในขั้นตอนเดียว การแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการบูรณาการจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา โดยอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อประสานความร่วมมือ นับตั้งแต่การร่วมค้นหาสาเหตุของปัญหา ร่วมกันกำหนดแผนงาน ร่วมกันปฏิบัติ และร่วมกันประเมินผลการทำงาน ซึ่งในเรื่องดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันทำ จะเป็นใครก็ได้ที่จะทำ เพียงแต่ขอให้ทำจริง เพื่อให้ผลของการดำเนินงานตกถึงประชาชนที่ยากไร้อย่างแท้จริง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างถึงวิธีการทำงานแบบบูรณาการ คือ การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศที่ถือเป็นตัวแทนของความแตกต่างทางภูมิประเทศและภูมิสังคม ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “...พื้นที่ของศูนย์ศึกษาทุกแห่งก็คือ การย่อส่วนภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน แล้วทำการศึกษาการพัฒนาด้านเกษตรกรรมสาขาต่างๆ...” ข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้กระบวนการบริหารในการจัดทำแผนอย่างบูรณาการและมีระบบ และเป็นการบริหารจัดการแบบบูรณาการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยทรงรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชน เป็นการดำเนินงานแบบประชาพิจารณ์อย่างแท้จริง โดยทรงหาวิธีการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคน เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่หน่วยราชการและประชาชน ทรงยอมรับในสิ่งที่ผิดพลาดนั้นๆ ไม่ทรงหยุดนิ่งในการค้นหาวิธีการที่จะพัฒนางานของพระองค์ ตลอดจนทรงแก้ไขปัญหาด้วยวิธีบูรณาการ ที่อาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง