ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] ปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลแห่งความอยู่เย็นเป็นสุขตามพระบรมราโชวาท ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9ทรงให้ความสำคัญกับการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ที่ทรงมุ่งเน้นงานด้านการพัฒนาเพื่อผลแห่งความอยู่เย็นเป็นสุขของพสกนิกรชาวไทยเป็นสำคัญที่สุด สมดังพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และดังจะเห็นได้ชัดจากแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานผ่านพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลกลุ่มต่างๆ เสมอมา ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานไว้ เพื่อการประพฤติ ปฏิบัติงานที่สมบูรณ์เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม นำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุขของสังคมไทย พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ความตอนหนึ่งว่า “...ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริงทำจริงจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม...” พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ความตอนหนึ่งว่า “...การงานทุกอย่างทุกอาชีพ ย่อมจะมีจรรยาบรรณของตนเอง จรรยาบรรณนั้นจะบัญญัติ เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความดีงาม ที่คนในอาชีพนั้น พึงประพฤติ ปฏิบัติ หากผู้ใดล่วงละเมิดก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่บุคคล หมู่คณะ และส่วนรวมได้ เหตุนี้ ผู้ปฏิบัติงานในทุกสาขาอาชีพ นอกจากจะต้องมีความรู้ในสาขาของตนอย่างลึกซึ้ง จัดเจนและศึกษาให้ก้าวหน้าอยู่เสมอแล้ว ยังจะต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณในวิชาชีพของตน ทั้งข้อที่ควรปฏิบัติและไม่พึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย จึงจะสามารถประพฤติตน ปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ ได้รับความเชื่อถือยกย่องในเกียรติ ในศักดิ์ศรีและในความสามารถด้วยประการทั้งปวง...” พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๓ ความตอนหนึ่งว่า “...การทำงานให้สำเร็จผลอันพึงประสงค์ได้ด้วยดีนั้น เบื้องต้น แต่ละคนจะต้องมีปณิธาน ที่เที่ยงตรงในอันที่จะทำงานทำหน้าที่ด้วยความอุตสาหะ พยายาม และความหนักแน่นอดทนให้บรรลุ ผลสำเร็จ เมื่อจะเริ่มงานสิ่งใด ก็ให้พยายามคิดพิจารณาให้จนเห็นจุดหมาย เห็นสาระและประโยชน์ที่แท้ของงานนั้นอย่างแจ่มแจ้งแล้วจึงลงมือกระทำด้วยความตั้งใจ มั่นใจ และด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ให้งาน ดำเนินลุล่วงตลอดไปอย่างต่อเนื่อง โดยมิให้บกพร่องเสียหาย ข้อสำคัญตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ต้องพยายามควบคุมกายใจและความคิด ให้สงบตั้งมั่นและหนักแน่นอย่าให้คลายจากความเพียรและอย่าให้หวั่นไหวฟุ้งซ่านไปกับความพอใจไม่พอใจ หรืออุปสรรคและปัญหาต่างๆ นอกจากนั้น ยังจะต้องมีความสุจริตใจและจริงใจต่อผู้เกี่ยวข้องร่วมงานทุกฝ่ายทุกคน พร้อมทั้งประพฤติปฏิบัติต่อกันและกันอย่างเหมาะสมด้วยความเมตตาอารีและความไม่มีอคติ เพื่อให้สามารถร่วมงานประสานประโยชน์กันได้อย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ...” พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร แม่โจ้ เชียงใหม่ ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ ความตอนหนึ่งว่า “...การที่จะให้งานประสานกันนั้นมีหลักสำคัญอยู่ว่า ทุกฝ่ายจะต้องไม่แบ่งแยกกัน ไม่แย่งประโยชน์ ไม่แย่งความชอบกัน แต่ละฝ่ายแต่ละคนต้องทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลสำเร็จในการงานเป็นใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น ความบริสุทธิ์ใจและความมุ่งหมายอันเที่ยงตรงเป็นอย่างเดียวกันนั้น จะทำให้เข้าใจกันได้ ผู้ใดมีหน้าที่ และความสามารถอย่างไรก็ทำตามหน้าที่และความสามารถอย่างนั้น ให้สอดคล้องกันได้โดยอัตโนมัติ ความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จก็จะบังเกิดตามมา...” พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๙๗ ความตอนหนึ่งว่า “...ข้าพเจ้าขอฝากคติไว้เป็นเครื่องกำกับใจ มีคุณธรรมข้อหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งท่านต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ คือ ความสัตย์สุจริต ประเทศบ้านเมืองจะวัฒนาถาวรอยู่ได้ ก็ย่อมอาศัย ความสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐาน ท่านทั้งหลายจะออกไปรับราชการก็ดี หรือประกอบกิจการงานส่วนตัวก็ดี ขอให้มั่นอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๓ ประการ คือ สุจริตต่อบ้านเมือง สุจริตต่อประชาชน และสุจริตต่อหน้าที่ ท่านจึงจะเป็นผู้ที่ควรแก่การสรรเสริญของมวลชนทั่วไป...” แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การทำงานให้ประสบความสำเร็จพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งนั้น คือ การเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งความรู้ รัก สามัคคีให้เกิดขึ้นในจิตใจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสในเรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นคำสามคำที่มีค่าและมีความหมายลึกซึ้ง พร้อมทั้งสามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย รู้ การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหาและรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหา รัก คือความรัก เมื่อเรารู้ครบถ้วนกระบวนความแล้ว จะต้องมีความรักการพิจารณาที่จะเข้าไป ลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้น สามัคคี การที่จะลงมือปฏิบัตินั้นควรคำนึงเสมอว่า เราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กรเป็นหมู่คณะจึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี เชิญชวนทุกคนทั้งประเทศสนองพระมหากรุณาธิคุณสืบสานพระราชปณิธานร่วมคิดดี พูดดี ทำดี รู้ รัก สามัคคีและน้อมนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสมาเป็นแนวทางนำสู่การร่วมกันสร้างสังคมไทยให้เป็นบึกแผ่น มั่นคง เพื่อผลแห่งความสุขความสงบยั่งยืนตลอดกาลตราบนานเท่านาน